ร.6 ไม่ได้ทรงห่างพบปะสมาคมเพราะ “เกลียดญาติ” แต่ทรงรำคาญ “ทูลฟ้อง-สอพลอ”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์กวีและวรรณกรรมไว้มากมาย นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องพระราชนิยมแล้ว จากบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล อาจทำให้เห็นว่าที่พระองค์ทรง “แต่งหนังสือ” ไว้มากมายนั้น เหตุผลส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการหาความเพลิดเพลินหลีกหนีจากบรรยากาศการทูลฟ้องร้องซึ่งทำให้ทรงขุ่นเคืองรำคาญ

บทนิพนธ์ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เรื่อง “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” นอกจากจะบันทึกเหตุการณ์ และพระราชกรณียกิจที่ทำให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์มหาศาลแล้ว เนื้อหาในบทนิพนธ์ยังกล่าวถึงเบื้องลึกเบื้องหลังในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ด้วย ข้อมูลในส่วนนี้รวมถึงเหตุผลเบื้องหลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่างไปจากการสมาคม แม้กระทั่งพระญาติวงษ์ใกล้ชิดด้วย อันเป็นผลให้มีผู้เข้าใจว่า พระองค์ทรงวางพระองค์ห่างจากพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างจากสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อพ.ศ. 2484 หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษตีพิมพ์เรื่องในราชสำนักรัชกาลที่ 6 ว่าด้วยเรื่องทรงห่างเหินจากพระราชวงษ์ มีใจความส่วนหนึ่งว่า

“ราชสำนักรัชชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 6 ได้ทรงวางพระองค์ให้ห่างพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งผิดกับรัชกาลที่ 5 และพระมหากษัตริย์โดยมาก นอกจากทรงห่างเหินพระญาติพระวงศ์แล้ว ยังทรงไว้พระองค์เป็นพระเจ้าเหนือหัวของเจ้านายอีกด้วย”

ในกรณีนี้ ม.จ. พูนพิศมัย ทรงให้ข้อมูลอีกมุมหนึ่งจากประสบการณ์ที่เคยได้เข้าเฝ้าในหลวงมา ไม่เคยได้ยินว่าทรงติเตียนเจ้านายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทนิพนธ์ของม.จ. พูนพิศมัย เล่าถึงช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงห่างไปจากวงการสมาคม แม้พระญาติที่ใกล้ชิดก็ได้เฝ้าแต่ในเวลามีการพระราชพิธีหรือเสด็จออกตามธรรมดา

ม.จ. พูนพิศมัย แสดงความคิดเห็นว่า เป็นด้วยการงานต่างๆ ที่ได้ทรงอุทิศพระชนม์ชีพให้บ้านเมืองมิได้เกิดผลตามพระราชปรารถนาไปทุกเรื่อง ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่พระองค์จะทรงขุ่นเคืองหรือท้อถอยบ้าง

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ม.จ.พูนพิศมัย บันทึกในบทนิพนธ์คือ การกราบบังคมทูลต่างๆ ซึ่งมีเรื่อง “ไม่จริงและเป็นผลดีแก่ผู้ใดเลย”

“…การกราบทูลนั้น ไม่มีจำกัดเรื่องเดียวหรือฝ่ายเดียว, ทุกคนมีพวกพ้องที่เป็นหูเป็นตา, แล้วคาบไปคาบมากันทุกแห่งหนตำบลบ้าน. การทูลฟ้องร้องอย่างน้อยก็ต้องทำให้ทรงรำคาญพระราชหฤทัย, ซึ่งลงท้ายก็ทรงหมกมุ่นอยู่แต่กับการแต่งหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ทรงเพลิดเพลินพอเป็น Diversion ได้.”

ท่านผู้อ่านบางคนคงอยากจะถามว่า ทำไมจะต้องทรงเชื่อคนที่กราบทูลด้วยเล่า? ถ้าท่านจะอนุญาตให้ข้าพเจ้ายิ้มสักหน่อยก็จะยิ้มแล้วตอบท่านว่า-‘คำถามนั้นบอกแล้วว่าท่านยังไม่เคยเป็นคนมีบุญ! จึงยังไม่รู้รสชาติของการสอพลอ, โดยฉะเพาะในเมืองไทย!!…'”

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนต่อมาเล่าว่า เมื่อมีพระวรกัญญาปทานขึ้นแล้ว (พ.ศ. 2463 ทรงประกาศหมั้นกับหม่อมเจ้าหญิงวิมลวรรณ วรวรรณ ทรงตั้งขึ้นเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี) ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2463 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพบปะพระราชวงศ์มากขึ้น หลังทรงประกาศหมั้นแล้วหนึ่งเดือน ก็มีงานเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีนี้ก็มีงานเลี้ยงแต่งแฟนซีในพระราชฐานขึ้นใหม่ มีเจ้านายที่ได้รับเชิญจำนวนมาก แน่นอนว่ามีตระกูล “วรวรรณ” เป็นอันมากตามธรรมดา (อ่านเพิ่มเติม “พระคู่หมั้นพระองค์แรก” ของร.6 กับความขัดข้องพระราชหฤทัยใน “พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี”)

ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเบิกบานสำราญพระราชหฤทัยที่ได้ทรงพบปะคุยเล่นกับคนที่ทรงคุ้นเคย พร้อมยืนยันว่า “ในหลวงไม่ได้เกลียดญาติวงษ์อย่างที่คนเข้าใจกันโดยมาก”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2562