ละครชีวิต “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ในร.6 ที่ทรงขอแยกทาง-บั้นปลายพระชนม์สุดสลด

พระนางเธอลักษมีลาวัณ กับ รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระนางเธอลักษมีลาวัณ (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์)

ละครชีวิต “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ใน รัชกาลที่ 6 ที่ทรงขอแยกทาง บั้นปลายพระชนม์สุดสลด

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงครองพระองค์เป็นโสดมานาน ก็ทรงมีพระราชดําริที่จะอภิเษกสมรสเพื่อให้มีรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ แต่เมื่อทรงคบหาใกล้ชิดกับสตรีผู้สูงศักดิ์นางใดแล้วก็ยังไม่ทรงพอพระราชหฤทัย บางครั้งทรงหมั้นหมายประกาศให้ประชาชนรับรู้แล้วก็ทรงถอนหมั้นเสียโดยทรงให้เหตุผลว่า “ไม่สบพระอัธยาศัยบางประการ”

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัย ในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และหม่อมหลวงตาด ประสูติเมื่อปีกุน วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 และถือว่าเป็นพระนัดดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีเชื้อสายขัตติยราชโดยตรงทั้งสายพระบิดา และพระมารดา โดยเฉพาะท่านย่าคือ เจ้าจอมมารดาเขียนนั้นเป็นศิลปินด้านนาฏศิลป์ที่มีชื่อท่านหนึ่ง

สาเหตุที่ทรงเกิดความสนพระทัยในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล เพราะพระบิดาในหม่อมเจ้าหญิงเป็นเจ้าของละครคณะ “ปรีดาลัย” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านละครร้องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหม่อมเจ้าหญิงเองก็เป็นตัวละครของพระบิดา จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสชักชวนให้ไปแสดงละครในวังร่วมกับพระองค์ นับว่าเป็นสตรีท่านแรกที่ได้รับบทนางเอกในละครพูด ละครสังคีตบทพระราชนิพนธ์ เช่น เรื่องกุศโลบาย วิวาหพระสมุทร ซึ่งต้องพระอุปนิสัยในรัชกาลที่ 6 อย่างยิ่ง เพราะโปรดการละครเหมือนกัน

นอกจากนั้นหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังทรงศึกษาวิชาอักษรศาสตร์จากวรรณคดีไทย และงานนิพนธ์ ของพระบิดาอย่างแตกฉาน จนสามารถพระนิพนธ์โคลงกลอนได้เฉียบขาดเจริญรอยตามพระบิดา ตรงกับพระอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดงานกวีนิพนธ์เช่นเดียวกัน

นับว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมกันที่สุด ตรงกับคํากล่าวที่ว่า “คุยกันรู้เรื่อง”

ไม่เพียงเท่านั้น หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังมีรูปโฉมงดงามสมกับที่รับบทนางเอกละครในราชสํานัก เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ชมทั่วไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมทั้งลายพระราชหัตถเลขาว่า “ให้แม่ติ๋วพร้อมด้วยดวงจิต และขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย”

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลได้พระนิพนธ์บทกลอนทูลสนองตอบดังนี้

อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้
หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต
อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด
ขอถวายไม่คิดขัดจํานง
อะไรเป็นความสราญวานรับสั่ง
จะถวายได้ดังพระประสงค์
ขอเพียงแต่ทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง
อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย

การถวายบทกลอนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นนี้ ทําให้ทรงเพิ่มความรักต่อหม่อมเจ้าหญิงเป็น อย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสตรีเจ้าบทเจ้ากลอนซึ่งหามิได้ง่ายนัก

พระราชทานนามใหม่ และสถาปนาอิสริยยศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลให้ใหม่เป็น หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ ต่อมาได้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ และครั้งสุดท้าย สถาปนาอิสริยยศเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนคู่คล้องพระกรในฐานะมเหสี พร้อมทั้งทรงจารึกใต้ภาพว่า “ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโตด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2463”

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศว่าขอมีชายาแต่เพียงผู้เดียวตามแบบอย่างวิถีชีวิตของชาวตะวันตก

พระนางเธอลักษมีลาวัณ หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ
พระนางเธอลักษมีลาวัณ (พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)

บทกลอนพระราชทานประทับใจ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนที่แสดงถึงความรักอันสุดซึ้งเป็นจํานวนมาก พระราชทานแด่มเหสีดังเช่น

นั่งคํานึงถึงน้องผู้ต้องจิต
แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี
ความรักรุกทุกทิวาและราตรี
บได้มีสร่างรักสักเวลา
ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง
เห็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา
ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา
ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์
อันตัวหล่อนกล่าวกลอนฝากชีวาตม์
ฉันรับฝากใจสวาทไว้แม่นมั่น
ขอถนอมดวงจิตสนิทกัน
ด้วยชีวันยอมสละแลกหทัย
ถึงตัวไปใจอยู่เป็นคู่ชม
ร่วมภิรมย์รักชิดพิสมัย
ถึงร่างกายวายวับดับชีพไป

ขอฝากใจจอดจู่อยู่แทนเอย

สิ้นสุดวันหวานอันแสนสั้น

ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงครองรักกับพระนางเธอลักษมีลาวัณ ครบรอบปี แล้ว แต่พระนางเธอฯ ก็หาได้ทรงครรภ์ให้กําเนิดรัชทายาทไม่ ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศต่างเฝ้ารอชม พระโอรสองค์น้อยอย่างใจจดใจจ่อ

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดํารัสขอแยกทางดําเนินชีวิตกับพระนาง เธอฯ โดยจะทรงอภิเษกสมรสกับสตรีคนใหม่ เพื่อทรงหวังให้กําเนิดรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตําหนัก เครื่องเพชร เงินบํานาญ เพื่อให้พระนางเธอฯ ดํารงพระชนมชีพอย่างมิต้องเดือดร้อน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสตรีท่านต่อมา และจัดงานอภิเษกสมรสตามแบบอย่างของชาวตะวันตกอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าถึง 3 ครั้ง เพราะสตรีที่ทรงอภิเษกสมรสด้วยหาได้มีประสูติ กาลองค์รัชทายาทไม่ นับตั้งแต่พระสุจริตสุดา สนมเอก มิได้ทรงครรภ์เลย ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายานั้นทรงครรภ์แต่ก็ตกเสีย คงมีเพียงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มเหสีองค์สุดท้ายทรงครรภ์ใกล้มีประสูติกาล แต่ก็เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกําลังประชวรหนัก และพระมเหสีได้มีประสูติกาลเป็นพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว

นับเป็นการสิ้นสุดรัชทายาทเชื้อสายในพระองค์แต่เพียงนั้น

หนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตเพียงลําพังต่อมา โดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและนิพนธ์นวนิยายไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องยั่วรัก ชีวิตหวาม เสื่อมเสียงสาป รักที่ถูกรังแก โชคเชื่อมชีวิต เรือนใจที่ไร้ค่า ภัยรักของฉันจลา โดยใช้นามปากกาว่า “ปัทมะ” ส่วนบทละครที่นิพนธ์ไว้เช่นเรื่อง เบอร์หก หาเหตุหึง ปรีดาลัย ออนพาเหรด ใช้นามปากกาว่า “วรรณพิมล”

พระนางเธอฯ ทรงตระหนักแน่แท้แล้วว่าหนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ ดังคําโคลงที่ทรงนิพนธ์ว่า

เขียนกลอนพออ่านได้      ดับเข็ญ
อันปากกาย่อมเป็น         เพื่อนแท้
แทนฉายส่ายสอดเห็น     กระจ่าง
สุขทุกข์ปลุกปลอบแก้     กล่าวค้านเตือนกัน

ตั้งคณะละคร สืบสานศิลปะการแสดง

ด้วยพระทัยรักในศิลปะการแสดงมาก่อนเก่า จึงทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยสืบสานจากพระบิดา โดยจัดเป็นละครร้องมีทํานองทั้งเพลงไทยและเพลงสากล มีระบําเบิกโรงก่อนแสดงละครเรื่อง วงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่บรรเลง เป็นเพลงแบบโอเปร่าตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงที่ ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมนคร โรงมหรสพนาครเขษม

นอกจากนั้นยังจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรือ งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทรงยุบเลิกคณะละคร เพราะพระชนมายุเริ่มเข้าสู่วัยชรา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉาย ร่วมกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และ พระนางเธอลักษมีลาวัณ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และพระนางเธอลักษมีลาวัณ

ชีวิตที่เงียบเหงาไร้ญาติขาดมิตร

เนื่องจากพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงเป็นศิลปินทั้งงานนิพนธ์และการละคร ประกอบกับชีวิตที่ผกผันหลายด้านอาจเป็นสาเหตุให้ทรงเครียด พระอารมณ์หงุดหงิดง่าย เมื่อมาดํารงพระชนมชีพที่วังลักษมีวิลาศ ถนนพญาไท ในวัย 62 ชันษา จึงไม่มีพระประยูรญาติมาอยู่ด้วย เพราะเข้าใกล้พระองค์ไม่ค่อยติด ดังเช่นพระนัดดาชายท่านหนึ่งเคยพาภรรยามาอยู่ด้วยเพื่อเป็นเพื่อน แต่พระนางเธอฯ ก็ไม่โปรดหลานสะใภ้ จึงต้องย้ายกันออกไปทั้งสามีภรรยา ส่วนพระนัดดาคนอื่น ๆ จะมาเยี่ยมเยียนบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงทราบว่ามีคนตําหนิพระองค์เรื่องอารมณ์ร้าย จึงนิพนธ์คํากลอนบันทึกไว้ว่า

ฉันไม่บ้าแม้ใครบ้ามาว่าฉัน
ก็คนนั้นนั่นแหละบ้าจึงว่าเขา
เราไม่บ้าแม้ใครบ้ามาว่าเรา
มันก็เข้าคนที่ว่าเป็นบ้าเอง

นอกจากนั้นยังทรงบรรยายความขมขื่นในชีวิตดังนี้

เคยโด่งเด่นคนเห็นเป็นพลุดัง
สวยสะพรั่งแพรวพราวขาวเวหา
แล้วตกต่ำดิ่งดําคร่ำลงมา
อยู่กับพื้นคนพามองหน้าดู

….

เบื่อชีวิตไม่คิดจะอย่างนี้
เบื่อเต็มทีระทมขมขื่นหลาย
เบื่อลําบากยากไร้ไม่สบาย
เบื่ออยากตายทุกข์ทนอยู่คนเดียว

ยามชราหูตาต่างมัวมืด
จิตชาดหนังย่นรุ่นความสวย
ม้ใกล้ฝั่งนั่งคอยเวลาม้วย
เพราะเหตุด้วยดูโลกโศกเศร้านาน

อนาถหนอโลกนี้ชีวิตมนุษย์
ยามสาวสุดสูงเด่นเป็นดวงแข
ยามชราเอือมระอาคนรังแก
ช่างไม่แน่เหมือนหวังดังคาดเดา

อนิจจาโอ้ว่าตัวเรา
ตรมเศร้าโศกสลดหมดสุข
ขมขื่นกลืนแต่ความทุกข์
ทรยุคยากไร้ไข้ครอง

ลําบากยากแค้นแสนสาหัส
อัตคัดผู้คนปรนสนอง
มีแต่ศัตรูจู่ปอง
ครอบครองย่ำยีบีฑา

เจ็บจนทนทุกข์ถึงที่
ไม่มีญาติมิตรมาหา
บ่นไปก็ไร้ราคา
นิ่งเสียดีกว่าบ้าไป

พระนางเธอลักษมีลาวัณ
พระนางเธอลักษมีลาวัณ (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์)

หาคนรับใช้ช่วยงานสวน

พระนางเธอฯ ทรงใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้แก้เหงา และโปรดพันธุ์ไม้ที่มีความหมาย เช่น ฟอร์เก็ตมีน็อต พุทธรักษา บานไม่รู้โรย ทรงทํางานในตําหนักด้วยพระองค์เองอย่างโดดเดี่ยวปราศจากคนรับใช้ พระประยูรญาติเคยเตือนพระสติว่าอยู่คนเดียวน่าจะไม่ปลอดภัย แต่พระนางเธอฯ ทรงรักชีวิตสันโดษ และทรงมั่นพระทัยว่าตําหนักอยู่ใกล้โรงพักพญาไท นอกจากนั้นยังทรงมีพระแสงปืนพกติดพระวรกายไว้ตลอดเวลา

เมื่อต้นไม้ในบริเวณวังเจริญขึ้น จึงทรงหาคนรับใช้ซึ่งเป็นคนงานมาจากต่างจังหวัด โดยให้พักในเรือนไม้ใกล้ตําหนัก เพื่อช่วยทําความสะอาดและตกแต่งต้นไม้ คนรับใช้ส่วนมากจะมาอยู่กันทั้งสามีภรรยา แต่มัก จะอยู่ได้ไม่นาน ด้วยพระนางเธอฯ ทรงมีระเบียบเข้มงวดมาก และมักจะกริ้วอยู่เสมอเมื่อคนรับใช้ทํางานไม่สบพระทัย

พระนางเธอฯ ทรงบันทึกความเบื่อหน่ายเกี่ยวกับคนรับใช้ไว้ดังนี้

ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปลี่ยวเปล่า
ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว
ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย
ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรําคาญ
บ้างเข้ามาทําท่าเป็นบ้างั่ง
เรียกจะสั่งทําใดไม่ขอขาน
สั่งอย่างโง้นทําอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน
ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน
พอไล่ไปมาใหม่อยู่ไม่ช้า
แรกทําท่าดีเด่นเป็นขยัน
พอใช้เพลินไม่เกินสิบห้าวัน
คนขยันโกงยับเห็นกับตา
เบื่อเต็มทนเบื่อคนสุดทนสู้
เลยยอมอยู่ผู้เดียวเลิกเที่ยวหา
มีคนใช้ประสาทเสียเพลียอุรา
เรารู้ว่าข่มเหงเพลงทารุณ

คนรับใช้ชุดสุดท้ายก่อนปิดฉากชีวิต

ครั้งสุดท้ายทรงรับคนสวนชื่อ นายวิรัช กาญจนภัย กับนายแสง หอมจันทร์ เข้ามาทํางาน โดยคนเหล่านี้รู้เพียงว่าพระนางเธอฯ เป็นเจ้าองค์หนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าพระองค์เคยดํารงตําแหน่งมเหสีในพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระราชอํานาจสูงสุด 

เนื่องจากพระนางเธอฯ มักจะกริ้วคนสวนเหล่านี้ที่ทํางานไม่ถูกพระทัย จึงทําให้มันไม่เคารพรักในพระองค์ ประกอบกับเห็นว่าพระนางเธอฯ ประทับเพียงลําพัง และคงจะมีทรัพย์สมบัติอยู่บนตําหนักมิใช่น้อย จึงวางแผนกันว่าเมื่อมีโอกาสจะต้องโจรกรรมของมีค่าให้ได้

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 พระนางเธอฯ เสด็จลงมาปลูกต้นไม้ และทรงบ่นคนสวนว่าไม่ดูแลถอนหญ้า ขณะที่พระองค์กําลังประทับนั่งพรวนดินอยู่นั้น นายวิรัชได้ถือชะแลงเหล็กย่องเข้ามาด้านหลังแล้วฟาดไปบนพระเศียรเต็มแรง จนพระวรกายฟุบลงกับพื้นดินสิ้นพระชนม์ทันที ส่วนนายแสงเพื่อนคู่หูก็รีบเข้ามาช่วยลากพระศพที่ชุ่มไปด้วยพระโลหิตเข้าไปซุกไว้ในโรงรถ แล้วรีบขึ้นไปบนตําหนักค้นหาของมีค่าได้เครื่องเพชรจํานวนมากก่อนที่จะพากันหลบหนีออกจากวังไป

แม้ภายหลังตํารวจจะติดตามจับตัวฆาตกรได้ แต่ศาลก็พิพากษาเพียงจําคุกตลอดชีวิต เพราะคําสารภาพของจําเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี

ชีวิตที่สูงสุดและต่ำสุดยิ่งกว่าละคร

แม้พระนางเธอลักษมีลาวัณจะทรงจากโลกนี้ไปนานปีแล้ว แต่ชีวิตของพระองค์ควรค่าแก่การรําลึกถึง เพราะเป็นชีวิตที่เคยสูงส่งด้วยชาติตระกูลในขัตติยวงศ์ สูงด้วยทรงเป็นมเหสีของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชอํานาจเหนือคนทั้งประเทศ สูงด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติของศิลปินด้านการละครและอักษรศาสตร์ที่ยากยิ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

แต่บั้นปลายชีวิตของพระองค์กลับตกต่ำสุดด้วยการสิ้นพระชนม์จากน้ำมือของคนรับใช้ผู้ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ต่ำทั้งอาวุธชะแลงเหล็กเก่า ๆ ที่ใช้ประหาร ต่ำทั้งพื้นพสุธาที่ฟุบพระพักตร์ลงไปสิ้นพระทัย และต่ำสุดเมื่อพระศพถูกลากไปซุกอยู่ในโรงรถซึ่งคับแคบและมืดมิด

จากอดีตพระนางเธอลักษมีลาวัณเคยโปรดการนิพนธ์นวนิยายที่มีตัวละครหลากหลายชีวิต แต่พระนางเธอฯ หาทรงทราบไม่ว่าละครชีวิตของพระองค์นั้นจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจยิ่งกว่านวนิยายหลายเท่านัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ลักษมีนุสรณ์. โรงพิมพ์แม่บ้านการเรือน, 2504.

ชัยมงคล อุดมทรัพย์. พระประวัติพระนางเธอลักษมีลาวัณ. คลังวิทยา, 2509. 

สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 1. เอดิสันเพรส โปรดักส์ จํากัด, 2540.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2562