“พระคู่หมั้นพระองค์แรก” ของร.6 กับความขัดข้องพระราชหฤทัยใน “พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี”

พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (ภาพจากหนังสือ "ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในพระราชสำนัก", 2550)

เป็นที่รู้กันว่าพระคู่หมั้นพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคือพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี แต่ก็มีเหตุให้เกิดการถอนหมั้น ซึ่งไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่บ่งชี้สาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่เมื่อพิจารณาจากพระราชหัตเลขา และพระราชนิพนธ์ที่ทรงมีต่อพระน้องนางเธอในพระวรกัญญาปทานก็อาจพอทำให้พอเข้าใจถึงสาเหตุได้บ้าง

พระนามเดิมของพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี คือหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล ในหมู่เจ้าพี่เจ้าน้องเรียกกันในชื่อ “ท่านหญิงขาว” ทรงเป็นพระธิดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ผู้เขียนหนังสือ “ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในพระราชสำนัก” เล่าว่า จากที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงเป็นพระบรมราชวงศ์ที่มีความรู้ มีพระปรีชาสามารถทั้งงานราชการแผ่นดินและธุรกิจส่วนพระองค์ ทั้งกิจการป่าไม้ บริษัทรถราง กิจการรถไฟ และงานด้านการละคร ทรงตั้งละครคณะปรีดาลัย และคิดแบบละครใหม่ที่เรียกว่าละครร้อง มีเนื้อร้อง บทร้องทำนองที่ทันสมัยในยุคนั้น ทำให้เป็นที่นิยมอย่างมาก การอบรมเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดาจึงทรงเลี้ยงตามแบบสมัยใหม่ ให้ศึกษาวิชาการ ไม่เข้มงวดการประพฤติตามแบบกุลสตรีสมัยโบราณ

ด้วยเหตุนี้ จึงพอกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล ทรงเป็นสตรีที่มีวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ในยุคนั้น มีความคิดเห็นแบบสตรีนิยม ทรงมีพระประสงค์ให้บุรุษเข้าใจและเคารพในสถานภาพของสตรี แม้จะไม่ได้เรียกร้องความเสมอภาค แต่ก็สนับสนุนให้สตรีรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ทรงตีแผ่ไว้ในบทความของพระองค์ว่าด้วยเรื่องพลังความสามารถของสตรีและบทบาทของสตรีในความสัมพันธ์ระหว่างบุรุษ

ขณะที่วัตรปฏิบัติของพระองค์มีความแจ่มใส่และแสดงออกอย่างสนุกสนานระหว่างกิจกรรมที่ท่านอยู่ในวงสังคมชั้นสูงมากกว่าเก็บองค์แบบกรอบประเพณีโบราณ

พบกันครั้งแรก

ท่านทรงพบรักกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ 27 พรรษา ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 40 พรรษา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าถึงการพบกันครั้งแรกในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ว่าช่วงเวลาที่พบกันครั้งแรกคือการเสด็จฯไปเล่นไพ่บริดจ์ ในห้องหนึ่งภายในงานประกวดภาพเขียน ณ พระราชวังพญาไท ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงเจ้าพี่เจ้าน้องของหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลทรงส่งภาพเขียนเข้าประกวด ทำให้บรรดาท่านหญิงในราชสกุลจึงเสด็จมางานด้วย

ทั้งสองพระองค์ทรงมีรสนิยมต้องกัน ชมชอบในศิลปะ วรรณกรรม การแสดง มีปฏิภาณไหวพริบ คารมคมคาย หลังจากนั้นไม่กี่วัน มีข่าวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล โปรดพระราชทานนามใหม่ว่า วัลลภาเทวี และโปรดสถาปานาเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ให้สมพระเกียรติยศในการกระทำพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในภายหน้า การหมั้นครั้งนี้เป็นที่ยินดีในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย

ในช่วงเวลาที่ทรงหมั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เขียนเล่าว่า พระวรกัญญาปทานเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักสวนจิตรลดาและโทรศัพท์กันเสมอ สังเกตว่าพระองค์ทรงโปรดมาก

ช่วงเวลาดำเนินไปโดยปกติ แต่ช่วงหนึ่งกลับมีข่าวประกาศถอนหมั้น และลดพระยศจากพระวรกัญญาปทานเหลือนามพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และยังถูกเชิญพระองค์ให้เสด็จประทับในพระบรมมหาราชวัง เสมือนเป็นการจำกัดพื้นที่เสด็จก็ว่าได้

เหตุผลของการถอนหมั้น

การถอนหมั้นครั้งนี้ไม่มีผู้รู้สาเหตุที่ปรากฏอย่างชัดเจน เพราะเป็นความในพระทัย ศันสนีย์ เขียนว่า ทรงสะสมความขัดเคืองจนกลายเป็นที่ทรงบอกพระองค์เองว่า ทรงมีพระดำริที่ผิดพลาด

หลักฐานที่พอบ่งชี้ได้คือความนัยในพระราชนิพนธ์ที่ทรงมีถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระน้องนางเธอในพระวรกัญญาปทาน ซึ่งทรงสนิทสนมกันและมักทรงระบายความในพระทัยให้ฟังเสมอ รวมไปถึงพระราชหัตถเลขาที่ทรงถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณว่า

“สวนดุสิต
วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2463

ถึงแม่ติ๋ว

พระยาประสิทธิ์เขาว่าเขาจะไปเยี่ยมเธอ ฉันจึงฝากจดหมายนี้มาเพื่อบอกให้ทราบตามความจริงว่า ฉันคิดถึงแม่ติ๋วจริงๆ เพราะภายใน 3-4 เดือนที่ล่วงมานี่แล้ว ได้เคยพบปะกันอยู่บ่อยๆ ได้คุยกันเล่นเป็นที่เพลิดเพลินเสมอๆ เมื่อกลับมาไม่ได้พบปะกันก็รู้สึกว่าขาดเพื่อนคุยไป และยังแลไม่เห็นด้วยว่าเมื่อไรจะได้พบกันอีก จึงทำให้เหี่ยวและคิดถึงจริงๆ

ส่วนเรื่องอะไรๆ ที่ได้มีมาบางเรื่อง ทำให้ฉันกลุ้มใจ แต่จะเล่ามาในจดหมายก็ไม่เหมาะ เพราะฉะนั้นขอให้ถามพระยาประสิทธิ์ดูดีกว่า เขาคงเล่าให้ฟังได้”

และยังมีพระราชนิพนธ์ถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณว่า

“รักสมรย้อนคนึงแสนซึ้งจิต
ที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่
แม้มิมัวหลงเลยเชยอื่นไป
ก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน”

นอกจากนี้ ยังมีเสียงเล่าขานถึงเรื่องที่ไม่ต้องพระทัยในอุปนิสัยของพระวรกัญญาปทานในแง่การปฏิบัติพระองค์ต่อข้าราชบริพานชายซึ่งเคยรับใช้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดก่อนจะทรงหมั้น ผู้เขียนเล่าว่า

“ครั้งหนึ่ง เมื่อพระวรกัญญาปทานเสด็จมาถึงพระราชวังพญาไท มหาดเล็กข้าหลวงเดิมคนหนึ่งเข้าไปจะรับพระหัตถ์ตามประเพณีฝรั่ง แต่พระวรกัญญาฯ ไม่ทรงยินยอม เมื่อเรื่องเข้าถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกลายเป็นว่า ทรงสะบัดมือ และแสดงพระกิริยาดูถูกมหาดเล็กผู้นั้น เล่ากันว่าครั้งนั้นทรงกริ้วไม่พอพระทัยในพระอัธยาศัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง”

พระราชนิพนธ์บทหนึ่งในหนังสือดุสิตสมิต ความว่า

“อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ
สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
อย่าทะนงอวดองค์ว่าวิไล
อันสุรางค์นางในยังมากมี

อย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์
จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที
เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา

อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน
อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา
อันชายใดฤาจะกล้าง้องอน”

พระราชนิพนธ์บทนี้มีแนวโน้มแสดงถึงความขัดข้องพระทัยในพระอัธยาศัยและความทะนงตัวของพระวรกัญญาปทาน ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการประกาศถอนหมั้น

ขณะที่บทนิพนธ์ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6)” ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกความไว้ตอนหนึ่งว่า

“วันหนึ่งเสด็จไปเสวยค่ำกับพระเจ้าอยู่หัวที่สนามจันทร์…พระองค์ลักษมีวัณเกิดอยากเล่นบิลเลียดขึ้นมาบ้าง, แต่-แทงไม่เป็น, ต้องเรียกหาคนช่วยสอน! จนลงท้ายก็เป็นในหลวงทรงสอน…ด้วยเหตุนี้-พระองค์วัลภาฯ ก็ทูลกลับ. ในหลวงทรงตามออกมาส่งดังเช่นเคย ครั้นจะขึ้นรถพระองค์วัลภาฯ ก็เมินหน้าไม่ยอม Good Night ตอบพระเจ้าอยู่หัวต่อหน้าคน! …”

ชีวิตรัก 8 เดือนของทั้งสองพระองค์ถึงจุดอวสาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ประทับในวังหลวงระยะหนึ่ง และทรงประทับที่วังพระกรุณานิวาสน์ ถนนพิชัย หลังสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2494 พระชันษาได้ 58 ปี

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ละครชีวิต “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ในร.6 ที่ทรงขอแยกทาง-บั้นปลายพระชนม์สุดสลด



อ้างอิง: 

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในพระราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561