ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ท้าวหิรัญพนาสูร” คือนามพระราชทานแก่ดวงจิตอสูรตนหนึ่ง ที่มาถวายตนรับใช้รัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปหล่ออสูรตนนี้ขึ้น เพื่อประดิษฐาน ณ พระราชวังพญาไท โดยมี “ขุนหิรัญปราสาท” อดีตมหาดเล็กเป็นต้นแบบ
ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) นามเดิมคือ “ตาบ” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2428 เป็นบุตรนายทัดกับนางพริ้ม มีทวดคือหลวงรามณรงค์ (พร) ปู่คือหลวงฤทธิสงคราม (เสือ)
นายตาบเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่และมีกำลังวังชาแข็งแรงมาก เมื่ออายุได้ 18 ปี พระพี่เลี้ยงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (รัชกาลที่ 6) จึงพาเข้าเฝ้าเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
แต่ก่อนจะว่ากันถึงการเป็น “ต้นแบบ” ใบหน้าท้าวหิรัญพนาสูรของนายตาบ ขอเล่าถึงประวัติอสูรที่กลายมาเป็นอสูรทรงเลี้ยง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ผีทรงเลี้ยง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างท้าวหิรัญพนาสูรกันสักนิด
ท้าวหิรัญพนาสูรถวายตน
เรื่องราวจุดเริ่มต้นของท้าวหิรัญพนาสูร (เอกสารเก่าและพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 6 เขียน ‘หิรันยพนาสูร’) มีเล่าไว้หลายฉบับ สรุปความโดยย่อได้ว่า อสูรตนนี้อยู่ในพงไพรทางภาคเหนือ รัชกาลที่ 6 ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงพระสุบินนิมิตถึง ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. 2448-2449 โดยทรงเห็น (ในฝัน) เป็นชายรูปร่างสูงใหญ่ และนามว่า “หิรันย์”
ในพระสุบิน หิรันย์เข้ามากราบบังคมทูลว่า จะขอถวายความจงรักภักดี อาสาเป็นมหาดเล็ก เพื่อคุ้มครองไม่ให้มีภยันตรายใด ๆ เกิดแก่พระองค์ ให้ได้รับความปลอดภัยตลอดการประพาสคราวนั้น
เมื่อรัชกาลที่ 6 ตื่นจากพระบรรทม ทรงเล่าพระสุบินแก่ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (ขณะนั้นยังเป็น ‘หลวงบุรีนวราษฐ์’) พระยาอนุศาสน์จิตรกรจึงร่างภาพตามที่ตรัส และนำแบบร่างนั้นมาหล่อเป็นองค์ท้าวหิรัญพนาสูรขนาดเล็ก
ปรากฏว่าทั้งรัชกาลที่ 6 และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จครั้งนั้นไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบเหตุอันตรายใด ๆ เลย จึงเป็นที่เลื่องลือว่า ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีอสูรเป็นเทพบริวารคอยรับใช้เห็นจะจริงดังนิมิต
เป็นที่มาของพิธีการ “แบ่งเครื่องเสวยออกเซ่นสรวง” ที่มหาดเล็กใกล้ชิดและข้าราชการพบเป็นเป็นประจำ โดยมีรูปสำริดอสูรที่พระยาอนุศาสตร์จิตรกรหล่อขึ้นสมมติเป็น “ท้าวหิรัญพนาสูร” ประกอบอยู่ในพิธีเซ่นสรวงนั้นด้วย
ตาบ พรพยัคฆ์ ต้นแบบท้าวหิรัญพนาสูร
แม้จะผ่านไปหลายปี แต่เรื่องราวและความเชื่อเกี่ยวกับท้าวหิรัญพนาสูรไม่เคยเสื่อมคลายไปจากพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวรูปท้าวหิรัญพนาสูรขนาดใหญ่ ตั้งไว้ที่พระราชวังพญาไท ประหนึ่งเป็นศาลพระภูมิประจำบ้าน โดยให้พระยาอุทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) เจ้ากรมบัญชาการ กรมศิลปากร เป็นผู้กองจัดสร้าง ได้เสวกตรี พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) เป็นผู้ปั้นต้นแบบ นายมาริโอ แกลเลตตี (Mr. Mario Galetti) วิศวกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้คุมการหล่อแบบ
และได้ “นายตาบ พรพยัคฆ์” เป็นหุ่นและรูปหน้าต้นแบบของท้าวหิรัญพนาสูร
งบประมาณการสร้างในครั้งนั้นเป็นเงินทั้งสิ้น 2,216 บาท 25 สตางค์ โดยมีการสร้างศาลสำหรับประดิษฐานประติมากรรม ณ พระราชวังพญาไท บริเวณริมคลองสามเสน รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมรูปท้าวหิรัญพนาสูรด้วยพระองค์เอง ในวันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2466
ส่วนนายตาบ พรพยัคฆ์ หลังจากเป็นต้นแบบการสร้างท้าวหิรัญพนาสูร ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนหิรัญปราสาท” เพื่อให้มีราชทินนามสัมพันธ์กับ “ผีทรงเลี้ยง” ของพระเจ้าแผ่นดิน
ครั้งหนึ่ง ขุนหิรัญปราสาทยังขอพระราชทาน “นามสกุล” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ธรรมเนียมนิยมของเหล่าขุนนางข้าราชการยุคนั้น รัชกาลที่ 6 จึงทรงรับสั่งถามถึงโคตรเหง้าเหล่ากอของท่าน ว่าเป็นใคร มาจากไหน ทำให้ทรงทราบว่าท่านเป็นหลานของพระฤทธิสงคราม (เสือ) แม่ทัพหน้าในสงครามปราบ “กบฏเงี้ยว” (พ.ศ. 2445-2447) ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 6 รับสั่งว่า “ไอ้ตาบมันเป็นลูกหลานของแม่ทัพหน้าซึ่งเป็นเสือเก่า ตัวมันเองก็มีรูปร่างสูงใหญ่ น้ำใจก็กล้าหาญอดทน ต้องตั้งนามสกุลของมันให้สมกับที่ปู่ย่า ตาทวดเป็นเสือที่ประเสริฐมาแต่เดิม”
เป็นที่มานามสกุลพระราชทานว่า “พรพยัคฆ์” ของขุนหิรัญปราสาทนั่นเอง
นอกจากนี้ แม้รัชกาลที่ 6 จะไม่โปรดการไว้หนวด ทรงให้มหาดเล็กทุกคนโกนหนวดให้เกลี้ยงเกลา แต่ขุนหิรัญปราสาทกลับเป็นคนเดียวที่ได้รับการยกเว้น ดังที่ทรงรับสั่งว่า “หนวดของไอ้ตาบมันสวยดี” ท่านจึงภูมิใจในหนวดของตนมากและไว้หนวดตลอดอายุขัย
ขุนหิรัญปราสาท ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 ในวัย 79 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อรัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสเล่าประสบการณ์ “เจอผี”
- ผ่าเบื้องหลัง ท้าวหิรัญพนาสูร อีกหนึ่งการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรัชกาลที่ 6 สะท้อนอะไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ภูชัย กวมทรัพย์. ปฐมเหตุและปัจฉิมบท: ท้าวหิรันยพนาสูร. ในนิตยสาร ศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. ปีที่ 67 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567.
สุธีรา อินทรน้อย. (2508). ประวัติขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ใน พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567