ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ “วัดภูมินทร์” จังหวัดน่าน เลื่องชื่อเรื่องความงดงามมาเป็นเวลานาน ภาพเขียนดังกล่าวสามารถสื่อเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เป็นจินตนาการอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นจริงที่แฝงอยู่ ซึ่งนอกจากภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” อันเลื่องชื่อแล้ว ก็ยังมีภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกไม่น้อย
ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนเรื่องราวพุทธประวัติและชาดก รวมถึงภาพเขียนวิถีชีวิตชาวบ้าน ทั้งบ้านเรือนของใช้พื้นบ้านและการแต่งกาย สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็นภาพเขียนหญิงสาวชาวบ้านพร้อมเครื่องแต่งกายสวยงาม สาวเมืองน่านบางคนพาดอกด้วยผ้าแถบ หรือบางนางก็ห่มสไบ เกล้าผมมวยปักปิ่น ที่ติ่งหูเจาะรูแล้วม้วนแผ่นทองสอดเป็นรูปกระบอกเล็กๆ เป็นต่างหู
ยังมีภาพหนุ่มสาวต่อบุหรี่หรือเกี้ยวพาราสี ชม้อยชม้ายสายตาเอียงอาย เหลือบแลชายหนุ่มที่กรุ้มกริ่มกระแซะเข้ามาใกล้ การวางท่าทางของหญิงสาวสี่ห้าคนอย่างไม่ซ้ำ บ้างหันหน้าหันหลัง นุ่งผ้าถุงลายน้ำไหลกรอมเท้าสวยพลิ้ว หน้าตาหวานคม แพรเนื้อบางสีสวยเป็นสไบพาดอกทิ้งชายระบัดเชิง
อีกภาพเป็นชายหนุ่มกอดโอบไหล่หญิงสาว โดยทิ้งมือลงมาตามเนินอก หญิงสาวห่มสไบแบบพาดทิ้งชายสไบไปข้างหลัง ปล่อยให้ผ้าย้วยลงปิดเนินอกแต่พองาม มือหนึ่งกางจ้องสีคราม ชายหนุ่มกำลังหันถามไถ่เพื่อนพร้อมการแสดงกิริยาว่าหญิงสาวคือคู่รัก
ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ วัดภูมินทร์ แสดงบรรยากาศของของหนุ่มสาวชาวเหนือเมืองน่านด้วยท่าทีละเมียดละไมและเครื่องนุ่งห่ม ผ้าถุงลายน้ำ ผู้หญิงกับผ้าถุงเป็นของคู่กันมานานซึ่งสมัยนี้มองหาหญิงสาวใส่ผ้าถุงได้ยากแล้ว
จิตรกรรมเป็นภาพวาดที่สื่อถึงอารมณ์ได้เป็นอย่างดี หากว่าจิตรกรรมเป็นภาพเขียนที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตต่างๆ ที่มีทั้งจริงและไม่จริงปะปนกันไป ดังคำกล่าวที่ว่า ถ้ามนุษย์หมดสิ้นซึ่งจินตนาการ โลกคงแห้งแล้งเป็นดินแตกระแหงโรยรา
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นตัวตน หนานบัวผัน ศิลปินที่เชื่อว่าวาด “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ภาพ “กระซิบรัก” วัดภูมินทร์
- ไขจิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ภาพเขียนวัดในกลาง จ.เพชรบุรี
- กามเทพน้อย “คิวปิด” จิตรกรรมผสมผสานใน “วิหาร” วัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี
- ไขจิตรกรรม “The Swing” ด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ภาพที่มีนัยเชิงกามารมณ์แฝงอยู่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เสน่ห์น้องนวลน่าน” เขียนโดย นิวัติ กองเพียร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2539
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2562