ไขจิตรกรรม “The Swing” ด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ภาพที่มีนัยเชิงกามารมณ์แฝงอยู่

จิตรกรรม Les hasards heureux de l'escarpolette
ภาพ "ความบังเอิญอันน่าชื่นมื่นจากชิงช้าอันนั้น" (Les hasards heureux de l'escarpolette)

ภาพโป๊หรือภาพเปลือย (Nude) เป็นงาน จิตรกรรม ที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ภาพโป๊ในแต่ละยุคก็มีการตีความและมีคุณค่าที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย แต่มีภาพหนึ่ง ที่ศิลปินวาดภาพนี้โดยไม่มี “เปลือย” อยู่ในภาพ แต่กลับแฝง “โป๊” ไว้ทั่วทั้งภาพ นั่นคือภาพ “Les hasards heureux de l’escarpolette” หรือภาษาอังกฤษมีชื่อว่า “The Happy Accidents of the Swing” (เรียกสั้น ๆ ว่า The Swing) ผลงานของศิลปินโรโกโกผู้โด่งดัง นามว่า ฌอง-ออนอเร ฟราโกนาร์ (Jean-Honoré Fragonard)

ฟราโกนาร์เป็นศิลปินผู้โด่งดังในศตวรรษที่ 18 ซึ่งในยุคนี้ศิลปะแบบคลาสสิกยังมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย ฟราโกนาร์เติบโตมาในศิลปะแบบคลาสสิกกระแสหลัก คือ งาน จิตรกรรม เขียนภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เขาเรียนที่สำนักหลวงแห่งนักเรียนในพระราชูปถัมภ์ อันเป็นสำนักของราชสำนักเพื่อฝึกศิลปินรุ่นใหม่ให้สืบทอดศิลปะแบบขนบจารีต

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เขายังสนใจเรียนวิชาประวัติศาสตร์ วรรณคดี และภูมิศาสตร์ อีกด้วย ต่อมา เมื่อเขาไปศึกษาต่อ ณ กรุงโรม เขามีโอกาสได้เรียนกับปรมาจารย์ชาวอิตาเลียนนานกว่า 5 ปี ทำให้หลังจากนั้น ฟราโกนาร์คลายความสนใจต่อศิลปะกระแสหลัก หันมาเอาดีอีกด้านหนึ่ง

นั่นคือ จิตรกรรม แนวรัก ๆ ใคร่ ๆ หรือจิตรกรรมแนวอีโรติก ซึ่งในช่วงเวลานั้น ศิลปินในยุโรปพยายามแหวกขนบออกจากศิลปะแบบคลาสสิก เพราะมีกฎเกณฑ์ที่จำกัดการสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปะแบบโรโกโกก็กำลังก่อตัวขึ้น

ภาพ “Les hasards heureux de l’escarpolette” หรือ “ความบังเอิญอันน่าชื่นมื่นจากชิงช้าอันนั้น” เป็นศิลปะแบบโรโกโก วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 81×65 เซนติเมตร วาดเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1767 โดย มองซิเยอ เดอ แซง-ฌูเลียง (Monsieur de Saint-Julien) เป็นผู้ว่าจ้างให้ฟราโกนาร์ วาดภาพเหมือนของอนุภรรยา (แต่เดิมว่าจ้าง Gabriel François Doyen แต่ถูกปฏิเสธ อ้างว่าเป็นสิ่งผิดจริยธรรมทางศาสนา คือการมีอนุภรรยา)

ด้วยความที่อยากให้ภาพนี้หวือหวา เขาจึงกำหนดให้วาดภาพอนุภรรยานั่งบนชิงช้า ให้พระรูปหนึ่งแกว่งไกวชิงช้า ส่วนบุรุษผู้ว่าจ้างขอนอนอยู่ที่พุ่มไม้ใต้ชิงช้า ในตำแหน่งที่มองเห็นขาของสตรีบนชิงช้า และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

ฟราโกนาร์ได้วาดภาพ “โป๊” แต่ไม่ “เปลือย” ในในภาพนี้ แม้สตรีบนชิงช้าจะใส่เสื้อผ้าครบก็ตาม ทว่า มีนัยเชิงกามารมณ์แฝงอยู่ อาศัยการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎี “จิตวิเคราะห์” โดยเฉพาะของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นั้น จะทำให้เราเห็นว่า เหตุใดภาพนี้จึงไม่มี “เปลือย” อยู่ในภาพ แต่กลับแฝง “โป๊” ไว้ทั่วทั้งภาพ

ภาพ "ความบังเอิญอันน่าชื่นมื่นจากชิงช้าอันนั้น" (Les hasards heureux de l'escarpolette) หรือภาษาอังกฤษมีชื่อว่า "The Happy Accidents of the Swing" (เรียกสั้น ๆ ว่า The Swing) ผลงานของศิลปินโรโกโกผู้โด่งดัง นามว่า ฌอง-ออนอเร ฟราโกนาร์ (Jean-Honoré Fragonard)
ภาพ “ความบังเอิญอันน่าชื่นมื่นจากชิงช้าอันนั้น” (Les hasards heureux de l’escarpolette) หรือภาษาอังกฤษมีชื่อว่า “The Happy Accidents of the Swing” (เรียกสั้น ๆ ว่า The Swing) ผลงานของศิลปินโรโกโกผู้โด่งดัง นามว่า ฌอง-ออนอเร ฟราโกนาร์ (Jean-Honoré Fragonard)

ในภาพ “Les hasards heureux de l’escarpolette” ไม่มีใครอยู่ในสภาพเปลือย แต่บุรุษและสตรีต่างก็ถอดอาภรณ์ ปกปิดร่างกายในบางส่วน สตรีปล่อยรองเท้าให้ลอยละล่องไปที่บุรุษ ส่วนบุรุษก็ยื่นหมวกของตนไปที่สตรี ณ ตําแหน่งที่มองเห็นขา สตรีนั้นรองเท้าหลุดทำให้เท้าเปลือย

ส่วนบุรุษก็ไม่สวมหมวกทำให้ศีรษะเปลือย อาการเปลือยเช่นนี้แฝงนัยลึกซึ้ง เพราะอาภรณ์ที่แต่ละฝ่ายเปลื้องออกนั้นล้วนสื่อถึงอวัยวะเพศ คือ “หมวก” หมายถึงอวัยวะเพศบุรุษ ส่วน “รองเท้า” หมายถึงอวัยวะเพศสตรี

ขณะที่การแกว่งไกวชิงช้าที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ เฉกเช่นเดียวกับการเต้นรำและการขี่ม้า ซึ่งในทางจิตวิเคราะห์หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ และการแกว่งไกวชิงช้าของมนุษย์ในภาพคงจะส่งเสียงดัง จนเทวดาด้านซ้ายสุดของภาพจึงส่งสัญญาณห้ามปราม

เกี่ยวกับรูปปั้นเทวดาด้านซ้ายนั้น ฟราโกนาร์จำลองมาจากประติมากรรมเทวดาที่มีชื่อว่า “L’Amour Menaçant” (1757) หรือ “Menacing Love” ที่ Etienne-Maurice Falconet สร้างขึ้นเพื่อ มาดาม เดอ ปงปาดูร์ (Madame de Pompadour) ผู้เป็นนางสนมคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (King Louis XV) ที่ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปะอย่างแข็งขัน

นอกจากนี้ บริเวณฐานที่ตั้งมีรูปปั้นนูนต่ำอยู่ด้วย เป็นรูปกลุ่มบุคคลเปลือยกายกอดรัดกันอยู่ อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพนูนต่ำนั้น น่าจะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างบุรุษ สตรี และพระที่เป็นคนแกว่งไกวชิงช้า

กล่าวคือ การเล่นชิงช้าไม่ได้เป็นกิจกรรมระหว่างบุรุษกับสตรีเท่านั้น หากยังมีพระร่วมด้วย ซึ่งพระก็เปลือยศีรษะเช่นเดียวกับบุรุษ เพราะได้ถอดหมวกวางไว้ กิริยาหลักของพระรูปนี้คือการแกว่งไกวชิงช้าให้โยกไปข้างหน้า-หลัง อันเป็นจังหวะการเคลื่อนไหวของบุรุษที่กำลังประกอบกิจกรรมทางเพศ นอกจากพระแล้วยังอาจนับได้ว่า รูปปั้นเทวดาทั้ง 3 ตนก็เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศหมู่นี้ด้วย อย่างน้อยก็ในฐานะผู้ชม

พิริยะดิศ มานิตย์ ผู้ศึกษาภาพนี้สังเกตว่า รูปปั้นคู่เทวดาที่อยู่ด้านข้างพระนั้น มือของทั้งคู่กำลังจับสิ่งหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายหมวก ราวกับว่า ได้ถอดหมวกวางไว้ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของพระนั่นเอง นอกจากนี้ เทวดาคู่นี้มีกิริยาท่าทาง 2 อย่าง เช่นเดียวกับพระ เพียงแต่แบ่งกันทำ พระนั้นจ้องมองสตรีบนชิงช้า ตรงกับกิริยาท่าทางของเทวดาด้านซ้าย ส่วนเทวดาด้านขวานั้นแม้จะไม่ได้มองสตรี แต่ก็ได้ดึงเพื่อนเทวดาอยู่ ซึ่งเป็นกิริยาท่าทางเดียวกันกับพระ ซึ่งกำลังแกว่งไกวชิงช้าอยู่นั่นเอง 

ขณะเดียวกัน เทวดาด้านซ้ายสุดของภาพ ก็เป็นภาพสะท้อนของบุรุษใต้ชิงช้าเช่นกัน แม้เทวดาองค์นี้ไม่มีหมวก แต่ก็มีปีก ซึ่งในทางจิตวิเคราะห์นั้น การบินหรือการทะยานขึ้นสู่เบื้องบนมีนัยสื่อถึงการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย ซึ่งสะท้อนภาพเช่นเดียวกับ “แขน” ของบุรุษใต้ชิงช้า ผู้ยื่น “หมวก” ยืด “ตรง” ไปยังสตรี

สำหรับป่ามืดมิดอันเป็นฉากหลักของภาพ ในทางจิตวิเคราะห์ ป่า พุ่มไม้ ใบหญ้าอันรกรุงรัง ตลอดจนภาพภูมิทัศน์อันสลับซับซ้อน หมายถึงอวัยวะเพศหญิง ป่าอันร่มรื่นกลับถูกแสงอาทิตย์สาดสอดส่องลงมาตรงใจกลางภาพนี้มีนัยถึงการยึดครองทางเพศ โดย กาสตง บาเซอลาร์ (Gaston Bachelard) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง การศึกษาธาตุไฟด้วยจิตวิเคราะห์ ลงความเห็นว่า การที่ไฟยึดครองพื้นที่หนึ่ง ๆ นั้น เป็นการยึดครองทางเพศ ซึ่งนัยของแสงและความร้อนต่างก็มีคุณลักษณะเช่นเดียวกับบุรุษเพศ

กล่าวคือ มีศักยภาพในการ “สอด” เข้าไปในตัวบุคคล ตลอดจนวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ได้ การที่แสงอาทิตย์สาดส่องเข้าสู่พื้นที่ป่านั้น สอดรับกับอาการของตัวละครภายในภาพ ซึ่งแสงพุ่ง “เป้า” ไปที่สตรีบนชิงช้า ซึ่งมีพระเป็นผู้เสริมแรงผลักให้สตรีเข้าไปต้องกับ “แสง” นั้น นอกจากนี้ บุรุษในภาพทั้งมนุษย์และรูปปั้นก็ได้ใช้สายตาจ้องมองสตรี อันเป็นการรุกล้ำร่างกายดุจเดียวกับที่แสงอาทิตย์ได้กระทำ

และเมื่อหากลองลากเส้นนำสายตาจากบุรุษใต้ชิงช้า รูปปั้น และพระ พุ่งไปที่ร่างกายของสตรีก็พบนัยทางเพศอันลุ่มลึก กล่าวคือ สายตาของบุรุษทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตต่างพุ่งตรงมาที่จุดสงวนของสตรี ทั้งนี้ กิริยาท่าทางรุกล้ำแบบบุรุษเพศเกิดจากการที่สายตาทั้งหมดวาดออกมาได้เป็นรูป สามเหลี่ยม ซึ่งเลข 3 (และรวมถึงอาวุธที่มีลักษณะแหลมคม) ล้วนสื่อถึงองคชาต ซึ่งทั้งบุรุษใต้ชิงช้า รูปปั้น และพระ ต่างก็ร่วมมือกันสร้างสามเหลี่ยม ทิ่มแทงไปที่เป้าสายตาของพวกตน

พิริยะดิศ มานิตย์ อธิบายว่า ในทางกลับกัน แม้สายตาของสตรีจะไม่แน่ชัดว่าเธอมองไปที่ใด แต่การสลัดรองเท้าออกคงอาจหมายความว่า หากป่า (และตัวเธอ) ต้องสูญเสียความบริสุทธิ์ให้แสงอาทิตย์ (และบุรุษ) การสูญเสียนั้นก็เป็นไปโดยจงใจและอาจเลยไปกระทั่งเชื้อเชิญเสียด้วยซ้ำ เพราะขณะที่สามเหลี่ยมแห่งบุรุษเพศได้รุกล้ำเข้ามา ขาทั้งสองข้างของเธอก็เผยออก ในลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านกลับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง ต้อนรับสายตาของฝ่ายตรงข้าม อันเป็นอาการเดียวกับการที่เธอนั่งเล่นชิงช้าให้ผู้ชายนอนมองนั่นเอง

การเลือกใช้สีในภาพนี้ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ชุดกระโปรงตลอดจนรองเท้าของสตรีมีสีชมพูอมส้ม ซึ่งเป็นสีเดียวกันกับดอกไม้ในภาพ ดอกไม้มีคุณค่าทางสัญลักษณ์เช่นเดียวกับรองเท้าที่หมายถึงอวัยวะเพศหญิง และกลีบดอกไม้นั้นก็บานออกดุจปลายกระโปรงของสตรี

ที่หน้าอกด้านซ้ายของบุรุษมีดอกไม้สีชมพูอมส้มดอกหนึ่งติดอยู่ และขณะเดียวกัน ที่หน้าอกด้านซ้ายของสตรีก็มีวัตถุสิ่งหนึ่งสีเทาเงิน อันเป็นทั้งสีเสื้อของบุรุษใต้ชิงช้าและของพระ ตลอดจนเป็นสีของรูปปั้น รวมความแล้วจึงสะท้อนนัยว่า มี “สตรี” อยู่บนร่างของบุรุษ และมี “บุรุษ” อยู่บนร่างของสตรี แสดงถึงความสัมพันธ์ที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียว

ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นแบบรวมหมู่ ผู้ที่เข้าร่วมมีความหลากหลาย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต (รูปปั้น) ทั้งบุรุษ เด็ก (เทวดา) และคนชรา (พระ) ทั้งผู้มีบรรดาศักดิ์ทางโลกและที่มีฐานันดรทางธรรม

ภาพนี้มีนัยเชิงกามารมณ์แฝงอยู่ จะเรียกว่าเป็นภาพโป๊ก็คงไม่ผิดนัก และด้วยความสำเร็จของภาพ “Les hasards heureux de l’escarpolette” สามารถเปลี่ยนชีวิตของฟราโกนาร์ ที่ผิดหวังจากระบบราชการให้ไปเป็นศิลปินที่เป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นสูงในราชสำนักได้สำเร็จ และด้วยอัจริยภาพของฟราโกนาร์ เขาจึงวาดภาพนี้ให้ “โป๊แต่ไม่เปลือย” ทำให้เป็นภาพ “Masterpieces” ของศิลปะแบบโรโกโกในศตวรรษที่ 18 อีกภาพหนึ่งก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิริยะดิศ มานิตย์. (กรกฏาคม-ธันวาคม, 2558). ภาพจิตรกรรม Les Hasards heureux de l’escarpolette : ภาพโป๊แต่ไม่เปลือย. วารสารยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ปีที่ 23 ฉบับที่ 2.

Alina Cohen. (9 September 2019). Undressing the Erotic Symbolism in “The Swing,” Fragonard’s Decadent Masterpiece. Access 18 September 2020. from https://www.artsy.net/series/stories-10-art-historys-iconic-works/artsy-editorial-undressing-erotic-symbolism-the-swing-fragonards-decadent-masterpiece


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2563