อาร์เตมีเซีย ศิลปินยุคบาโรกถูกละเมิดทางเพศ-โดนทรมาน ใช้การวาดภาพเพื่อปลดแค้น

ภาพ Saint Catherine of Alexandria โดยอาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) ที่เธอใช้ตัวเองเป็นแบบ [public domain]

ภาพวาด “เดวิด และ โกไลแอธ” (David and Goliath) อันโด่งดังซึ่งเดิมทีนั้นเชื่อกันว่าวาดโดยโจวานนี ฟรานเชสโก เกอร์ริเอรี (Giovanni Francesco Guerrieri) ศิลปินชายชาวอิตาเลียน แต่จากการศึกษาและหลักฐานที่พบในเวลาต่อมากลับบ่งชี้แนวโน้มว่า ภาพนี้น่าจะเป็นผลงานของอาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) ศิลปินหญิงจากยุคบาโรก (Baroque) ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีสไตล์สร้างงานเฉพาะตัวเช่นเดียวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธอ

เมื่อต้นปี 2020 สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งพร้อมใจกันรายงานผลการค้นพบที่เกิดขึ้นขณะผู้เชี่ยวชาญกำลังทำความสะอาดอย่างระมัดระวัง และวิเคราะห์ภาพเขียน “เดวิด และ โกไลแอธ” (David and Goliath) รายงานเผยว่า พวกเขาพบลายเซ็นของเจนทิเลสกี บนส่วนหนึ่งของดาบของเดวิด เดิมทีนั้น ภาพเก่าแก่ปรากฏตัวขึ้นในการประมูลที่ Sotheby’s เมื่อปี 1975 สมัยนั้นเชื่อกันว่า ภาพเป็นผลงานของฟรานเชสโก เกอร์ริเอรี นักเรียนของโอราซิโอ เจนทิเลสกี (Orazio Gentileschi) บิดาของอาร์เตมีเซีย

ไซมอน กิลเลสปี สตูดิโอ (Simon Gillespie Studio) จากลอนดอน ระบุว่า ภาพนี้มาปรากฏอีกครั้งในงานประมูลที่มิวนิก ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2018 โดยถูกอธิบายว่าเป็น “ภาพเขียนศตวรรษที่ 17 จากโรงเรียนสายคาราวัจโจ (Caravaggio)” และมาถูกใส่ชื่อว่าเป็นของเจนทิเลสกี ไม่กี่วันก่อนการเคาะขายด้วยราคา 104,000 ยูโรแก่นักสะสมในสหราชอาณาจักรซึ่งไม่ได้เปิดเผยตัวตน

ผู้ชนะประมูลที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อมอบหมายให้สตูดิโอไซมอน กิลเลสปี ในลอนดอน (เมืองที่เชื่อว่าภาพเขียนแห่งนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1630s) วิเคราะห์และดูแลภาพเขียน ภาพ “เดวิด และ โอไลแอธ” อยู่ในสภาพที่ต้องการการดูแลเนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา มันมีสิ่งสกปรกเกาะพร้อมกับปัญหาเรื่องสี การทำความสะอาดของของสตูดิโอทำให้พวกเขาพบเห็นลายเซ็นจางๆ เป็นอักษรชื่อ “อาร์เตมีเซีย” บนส่วนหนึ่งของดาบ ลายเซ็นยังมีตัวเลขว่า “16-“ คาดว่าอาจเป็นการลงวันที่ แต่น่าเสียดายที่ตัวเลขหลังจากนั้นไม่สามารถอ่านได้แล้ว “กิลเลสปี” เขียนรายงานเผยแพร่ในนิตยสารด้านศิลปะระบุว่า หลักฐานนี้คือ “การยืนยันลายเซ็นเจ้าของผลงาน”

ผู้เชี่ยวชาญของสตูดิโอ พร้อมกับจิอันนี ปาปี (Gianni Papi) นักวิชาการชาวอิตาเลียนผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะของคาราวัจโจและเจนทิเลสกี เห็นด้วยกับสมมติฐานที่อ้างอิงจากหลักฐานบ่งชี้ล่าสุด โดยพวกเขาให้ความเห็นนี้ลงในนิตยสาร “เบอร์ลิงตัน” (Burlington Magazine) เมื่อไม่นานมานี้

ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้หลายปี ย้อนไปเมื่อปี 1996 ปาปี เคยตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานนี้มีลักษณะงานคล้ายกับสไตล์การสร้างงานของอาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี และตั้งข้อสังเกตว่า ภาพเขียนนี้อาจมาจากชุดของสะสมของพระเจ้าชาร์ลสที่ 1 แห่งอังกฤษ ขณะที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างโฮเรส วาลโพล (Horace Walpole) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า คอลเล็กชั่นดังกล่าวมีภาพเขียนหลายชิ้นที่เป็นฝีมือของอาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี ในความคิดเห็นของวาลโพล เชื่อว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเธอก็คือภาพวาดเดวิด กับศีรษะของโกไลแอธ

อาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี (1593-c.1656 หรือเสียชีวิตหลัง 1654) กำเนิดที่โรม มารดาของเธอเสียชีวิตจากการทำคลอด หลังจากนั้นเธอเดินทางมาลอนดอนปี 1638 และทำงานในราชสำนักร่วมกับบิดาของเธอที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์ในปี 1638 แต่ในเส้นทางแวดวงศิลปะแล้ว ผลงานของอาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี มักถูกมองข้ามไป ผู้เชี่ยวชาญจากสตูดิโอในลอนดอนแสดงความคิดเห็นว่า “เป็นเรื่องปกติในสมัยนั้นที่ผลงานที่สร้างโดยสตรีจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานที่สร้างโดยบุรุษ”

ความสามารถของอาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี ปรากฏตั้งแต่ช่วงเป็นเด็ก เธอเล่าเรียนกับบิดาของตัวเอง แต่ในช่วงเวลานั้น เป็นยุคสมัยที่สตรียังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกชุมชนศิลปินที่สำคัญรวมถึงอคาเดมีต่างๆ (อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมาเธอเป็นสมาชิกสตรีรายแรกของอคาเดเมียแห่งฟลอเรนซ์ เมื่อปี 1616) บิดาของเธอเป็นเพื่อนกับคาราวัจโจ ศิลปินชาวอิตาเลียนที่มีผลงานโดดเด่นในประวัติศาสตร์อีกราย และยังเป็นศิลปินที่ส่งอิทธิพลต่อการวาดภาพของเธออย่างมากด้วย

แต่เรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นเมื่ออาร์เตมีเซีย อายุ 17 ปี บิดาของเธอมอบเธอให้อยู่ในการดูแลของอากอสติโน ทาสซี (Agostino Tassi) ช่างเขียนภาพที่ทำงานร่วมกับเธอและบิดา แต่เขากลับเป็นผู้ข่มขืนเธอ และยังปฏิเสธแต่งงานกับเธอ โอราซิโอ บิดาของอาร์เตมีเซียจึงนำเรื่องเข้าสู่ศาล

น่าเศร้าที่การพิจารณาคดีที่ตามมาในสมัยนั้น เธอยังเป็นผู้ถูกทรมานในการพิจารณาคดีเพื่อพิสูจน์ว่าคำให้การของเธอเป็นเรื่องจริง บันทึกเผยว่า เธอร่ำไห้ขณะที่เธอถูกทรมานนิ้วซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการสะบัดแปรงวาดภาพพร้อมกล่าวยืนยันคำให้การว่า “เป็นเรื่องจริง”

ยังดีที่ทาสซี ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกเนรเทศออกจากโรม ขณะที่เธอย้ายมาที่ฟลอเรนซ์ และแต่งงานกับปิเอรันโตนิโอ สตีอัตเตซี (Pierantonio Stiattesi) แต่แน่ชัดว่า เธอไม่มีวันลืมความอยุติธรรมที่เกิดกับเธอและผู้หญิงรายอื่น

ช่วงเวลาหนึ่งผลงานของเธอไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ จนกระทั่งนักวิชาการเริ่มกลับมาค้นคว้าศึกษาเอกสารและหลักฐานอย่างจริงจังในศวรรษที่ 21 ผลงานที่ขึ้นชื่อชิ้นหนึ่งของเธอซึ่งจะถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการใน National Gallery แห่งสหราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2020 (รายงานบางแห่งบอกว่าภาพ “เดวิด และ โกไลอัธ” จะไม่ได้นำมาจัดแสดงในงานนี้) คือ “จูดิธตัดศีรษะโฮโลเฟอร์เนส” (Judith Beheading Holofernes) เป็นภาพสตรีกำลังล้างแค้นด้วยการตัดศีรษะโฮโลเฟอร์เนส นายพลที่กระทำมิดีมิร้าย โดยเป็นเรื่องราวที่อ้างอิงจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับไบเบิล และยังแสดงให้เห็นถึงพลังของสตรีที่อยู่เหนือบุรุษ โดยอาร์เตมีเซีย ใช้การตีความส่วนตัวสร้างออกมาเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงชิ้นนี้

ภาพเขียน Judith Slaying Holofernes (public domain)

ผลงานชิ้นอื่นของเธอยังมีภาพ “ลูเครเทีย” (Lucretia) สตรีในเรื่องเล่าโรมันที่บอกเล่าว่า เธอถูกข่มขืนโดยเจ้าชายทรราช เธอเลือกวาดช่วงเวลาที่ลูเครเทีย ฆ่าตัวตาย แทนที่จะพ่ายแพ้และจำยอม ไปจนถึงภาพ “Mary Magdalene in Ecstasy” หนึ่งในภาพวาด Magdalene ฝีมือของอาร์เตมีเซีย ภาพนี้มีมูลค่านับล้านดอลลาร์ในการซื้อขายเมื่อปี 2014 แต่สถิติภาพที่มูลค่ามากที่สุดของเธอคือภาพวาดเหมือนของตัวเธอเองแต่วาดในบริบทตัวตนของ “เซนต์ แคเธอรีน แห่งอเล็กซานเดรีย” (Saint Catherine of Alexandria) ซึ่งถูก National Gallery แห่งลอนดอนซื้อไปด้วยมูลค่ามากกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2018

ภาพ Saint Catherine of Alexandria ที่ อาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) วาดโดยตีความเป็นภาพวาดเหมือนของตัวเธอเอง (public domain)

อ้างอิง:

Katz, Brigit. “Once Attributed to a Male Artist, ‘David and Goliath’ Painting Identified as the Work of Artemisia Gentileschi”. Smithsonian. Online. Published 2 MAR 2020. Access 5 MAR 2020. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/painting-david-and-goliath-once-attributed-male-artist-revealed-work-artemisia-gentileschi-180974312/>

Moorhead, Joanna. “Artemisia Gentileschi, the baroque #MeToo heroine who avenged her rape through art”. The Guardian. Online. Published 29 FEB 2020. Access 5 MAR 2020. <https://www.theguardian.com/artanddesign/2020/feb/29/artemisia-gentileschi-national-gallery-baroque-heroine-female-caravaggio>

_______________. “Newly attributed Artemisia Gentileschi painting of David and Goliath revealed in London”. The Art Newspaper. Online. Published 29 FEB 2020. Access 5 MAR 2020. <https://www.theartnewspaper.com/news/newly-attributed-artemisia-gentileschi-painting-revealed-in-london>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2563