ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ครูบาศรีวิชัย “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” กับความขัดแย้งในคณะสงฆ์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
“ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” มีความหมายเชิงยกย่องว่า เป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ ในดินแดนล้านนา หากพูดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกกล่าวขาน และได้รับศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนมากที่สุดรูปหนึ่ง เห็นจะเป็น “ครูบาศรีวิชัย” (11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481) ผู้คนจำนวนมากต่างเชื่อว่า ท่านคือ “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” เป็นผู้ที่มาสร้างความเจริญรุ่งเรือง และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่
โสภา ชานะมูล อธิบายคติความเชื่อเรื่อง “ตนบุญ” ไว้ว่า เป็นคติความเชื่อที่ถูกนำมาใช้ตลอดในประวัติศาสตร์ล้านนา แนวคิดดังกล่าวจะถูกหยิบนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การใช้อ้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ล้านนา จนกระทั่งสามัญชนที่ใช้คำว่า “ตนบุญ” เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านยามทุกข์เข็ญ เผชิญกับสภาพความสงบของบ้านเมือง
แนวคิด “ตนบุญ” กับปรากฏการณ์ “ผู้มีบุญ” ในล้านนา มักจะมีความสัมพันธ์กับคำทำนายในพุทธศาสนา เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องศาสนา 5,000 ปี ซึ่งมักปรากฏตามตำนานวัด ตำนานเมืองของล้านนาเกือบทุกแบบ ซึ่งอยู่ในภาวะยุคเข็ญก็มักจะปรากฏ “ตนบุญ” มาช่วยปราบยุคเข็ญช่วยเหลือประชาชน มักจะเรียกในชื่อต่างๆ กัน เช่น “ตนบุญเจ้า” “ตนวิเศษ” “เจ้าตนบุญใหญ่องค์ประเสริฐ”หรือ พระยาธรรมิกราช (พญาธรรม) เป็นต้น
คนล้านนามีความศรัทธา “ครูบาศรีวิชัย” ในฐานะ “ตนบุญ” แสดงให้เห็นว่า ในสังคมล้านนายังคงมีแนวคิดและพื้นฐานทางสังคมที่ผูกพันกับจารีตอย่างเหนียวแน่น เมื่อความเปลี่ยนแปลงเข้ามาแทรก จึงก่อให้เกิดปัญหาในการปรับตัวบางอย่างกับชาวบ้านอยู่พอสมควร
โสภา อธิบายถึงความขัดแย้งกรณีครูบาศรีวิชัยไว้ว่า มูลเหตุของการเกิดความขัดแย้งที่มียาวนานในวงการคณะสงฆ์ไทย ถือเป็นเหตุการณ์ที่โด่งดังมากในยุคนั้น จากความไม่สอดคล้องระหว่างสภาพพื้นฐานทางสังคมล้านนาสมัยนั้น กับผลของการจัดการปฏิรูปองค์กรสงฆ์ของรัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีนโยบายในการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
คณะสงฆ์ล้านนาได้ถูกรวมให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์ส่วนกลางด้วย ทำให้สงฆ์ทั้งหมดต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และแบบแผนใหม่ที่เป็นสากลเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งนโยบายและกฎเกณฑ์และแบบแผนใหม่ ส่งผลกระทบและขัดต่อจารีตเดิมที่ผูกพันอยู่กับวิถีของคนในสังคมล้านนา
ความขัดแย้งของครูบาศรีวิชัยอยู่ในช่วง พ.ศ. 2446 ช่วงที่มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้น
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา สถาบันสงฆ์ล้านนาได้ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สงฆ์บางกลุ่มถูกดึงดูดเข้าไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากองค์กรปกครองสงฆ์ส่วนกลาง โดยการได้รับตำแหน่งและสมณศักดิ์ในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่น มีหน้าที่ีคอยดูแลควบคุมคณะสงฆ์ท้องถิ่น การปฏิรูปครั้งนั้นทำให้องค์กรสงฆ์ล้านนาเริ่มถูกสลายตัวลงเรื่อยๆ ผ่านการจัดระเบียบการปกครองสงฆ์ใหม่
การจัดระเบียบการปกครองสงฆ์ใหม่ ทำให้คณะสงฆ์ล้านนาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ยอมรับอำนาจของคณะสงฆ์กรุงเทพฯ เต็มรูปแบบ ส่วนใหญ่คือพระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่น เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะแขวง เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อต้านหรือคัดค้าน เป็นกลุ่มที่มีลักษณะประนีประนอมกับกรุงเทพฯ ส่วนมากมีทั้งได้รับแต่งตั้งและไม่ได้รับแต่งตั้ง เช่น ครูบาวัดฝายหิน ที่ได้รับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังร่วมปฏิสังขรณ์กับครูบาศรีวิชัย
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มต่อต้านกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มสงฆ์ที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบกฏเกณฑ์ของส่วนกลาง เช่น ครูบาต๋า (พระธนันชัย) ถูกอธิกรณ์ข้อหากระด้างกระเดื่องไม่ยอมอยู่ในระเบียบปกครองสงฆ์ ทำให้สงฆ์วัดต่างๆ พลอยเห็นชอบไปด้วยยากต่อการจัดระเบียบ เป็นต้น (โสภา ชานะมูล, 2534 : 76-78)
การจัดระเบียบการปกครองสงฆ์รูปแบบใหม่ นำสู่ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครองในหมู่สงฆ์ ซึ่งความขัดแย้งในหลายประเด็นยังคงดำเนินมาเรื่อยๆ กระทั่งเกิดประเด็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีเหตุการณ์ความไม่พอใจของกลุ่มคณะสงฆ์ผู้ปกครองเชียงใหม่ ในกรณีที่ครูบาศรีวิชัยดำเนินการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ โดยไม่ปรึกษาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในฝ่ายปกครอง ขณะเดียวกันมีพระสงฆ์ในเชียงใหม่กว่า 50 วัด ลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ไปขึ้นกับครูบาศรีวิชัย ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อพฤติกรรมของครูบาศรีวิชัยอย่างมาก
คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองมีความเห็นว่า อิทธิพลครูบาศรีวิชัยมีความแข็งกล้า กระทำการดื้อดึงต่อเจ้าคณะสงฆ์หลายประการ อย่างการไม่ร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับคณะสงฆ์หมู่เดิม ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ เริ่มบานปลายเมื่อวัดต่างๆ ขอแยกตัวออกไปกว่า 90 วัด ทำให้ครูบาศรีวิชัยถูกส่งตัวไปที่กรุงเทพฯ เพื่อระงับเหตุบานปลาย พระสงฆ์ที่ถูกบวชโดยครูบาวิชัยถูกสั่งให้สึก และมีการแจ้งข้อหาครูบาศรีวิชัยเพิ่มอีกข้อหาหนึ่ง คือการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดจากการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ
หลังจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ครูบาศรีวิชัยถูกส่งตัวไปยังกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่พระสงฆ์และฆราวาสอย่างมาก ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้น คือ หลวงศรีประกาศ ทำเรื่องที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีการปล่อยตัวครูบาศรีวิชัยกลับ ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกโยงเข้ากับประเด็นทางการเมือง ซึ่งเหตุการณ์ที่ต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 3 นี้ กินเวลามาถึง พ.ศ. 2479 ครูบาศรีวิชัยจึงยอมรับต่อคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ทุกประการ
ท้ายที่สุด แม้ว่าครูบาศรีวิชัยจะยอมปฏิบัติตามคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง แต่ความศรัทธาเลื่อมใสในครูบาศรีวิชัยคงอยู่ และถูกสืบทอดผ่านทางลูกศิษย์จนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ครูบาคติใหม่” การอ้างอิงจากบารมีและศรัทธาของ “ครูบาศรีวิชัย”
- แนวคิดคตินิยมแบบ “ครูบา” (ใหม่) รอบ 20 ปีหลัง ทำไมเรียก “ครูบาอุกแก๊ส”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“ครูบาศรีวิชัย” กับ คตินิยมแบบ “ครูบา” (ใม่) ช่วงทศวรรษ 2530-50. โดย จิรชาติ สันต๊ะยศ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2561