แนวคิดคตินิยมแบบ “ครูบา” (ใหม่) รอบ 20 ปีหลัง ทำไมเรียก “ครูบาอุกแก๊ส”

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ที่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ในช่วงเวลาหลังจากที่ครูบาศรีวิชัย มรณภาพไปแล้วนั้น พบว่าความเชื่อ ความศรัทธาเลื่อมใสในท่านยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และสืบทอดต่อมายังลูกศิษย์ของท่านคือครูบาขาวปี ซึ่งได้ดำเนินบทบาทตามรอยของครูบาศรีวิชัยอย่างต่อเนื่อง บทบาทของครูบาศรีวิชัยที่ได้ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องต่าง ๆ อีกทั้งเป็นที่พึ่งทางจิตใจนั้น ได้สร้างฐานพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราจะพบว่าอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยที่บริเวณเชิงดอยสุเทพนั้น ไม่เคยจางหายจากกลิ่นควันธูปและดอกไม้สักการะบูชาเลยแม้สักวันเดียว

ขณะที่เครื่องรางของขลังต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับท่านก็ได้กลายเป็นสิ่งของที่มีมูลค่าในการเช่าหามาไว้สักการะครอบครอง อีกทั้งได้ถูกผลิตซ้ำขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่อง ความเข้มแข็งของพลังศรัทธาในครูบาศรีวิชัยนี้ ได้มีมาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าหลังจากที่ท่านได้มรณภาพไปแล้วก็ตาม

ในขณะเดียวกันปรากฏการณ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา คือการเกิดคตินิยมเรียกว่า การปฏิบัติตนแบบ “ครูบาศรีวิชัย” ขึ้นในวงการสงฆ์ล้านนาโดยเฉพาะพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีพรรษาน้อย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับแนวคิด “ล้านนานิยม” ในห้วงกระแสแห่งการเกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา การหาข้อสรุปคำว่าล้านนา ลานนา การดำเนินการจัดสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เป็นต้น

วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ให้ความหมายของ “ครูบา” ว่า เป็นการเรียกขานพระเถระที่เคารพนับถือ ที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ไม่ใช่คำที่กำหนดขึ้นเพื่อเรียกขานตัวเอง ซึ่งการเรียกขานครูบานั้นมีเงื่อนไขอยู่ 3 ข้อ คือ 1. เป็นพระสงฆ์ที่มีพรรษามาก ทั้งอายุการบวช 2. ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตลอดอายุการบวช 3. สร้างสิ่งดีงามกับพระศาสนา ส่วนพระสงฆ์ที่มิได้มีพรรษาตามข้อ 1 นั้นก็ไม่นิยมเรียกครูบา

การเกิดความคิดคตินิยมแบบ “ครูบา” กับกลุ่มพระสงฆ์ที่มีพรรษาน้อยนี้ บางครั้งมักจะได้รับการกล่าวขานว่า เป็นครูบาศรีวิชัยมาเกิด หรือบางท่านก็มิได้เรียกขานตัวเอง หากเกิดจากศรัทธาญาติโยมยกตำแหน่งครูบาให้เพราะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตั้งแต่อายุยังน้อย ปัจจุบันพบว่านอกจากพระสงฆ์ที่พรรษาน้อยแล้ว ก็มีเณรบางองค์เรียกขานตัวเองว่า “เณรครูบา” เหมือนกัน ซึ่งครูบาหนุ่มเหล่านี้มักมีคำล้อเลียนว่า “ครูบาอุกแก๊ส” หมายถึง การบ่มด้วยแก๊สเพื่อให้สุกก่อนกำหนด เช่น กล้วย เป็นต้น

ลักษณะการประพฤติปฏิบัติตนของครูบาหนุ่มเหล่านี้ มักจะมีลักษณะแบบเดียวกันกับครูบาศรีวิชัย คือ นุ่งห่มผ้าสีที่ต่างจากพระสงฆ์นิกายหลัก มีผ้ามัดอก สวมลูกประคำ ใช้พัดขนนกยูง หรือพัดใบลาน มีไม้เท้า และมีแนวคิดแบบล้านนานิยม

ซึ่ง “ครูบาหนุ่ม” เหล่านี้ บางท่านพบว่าจะมีประวัติของตนเองที่กล่าวถึงการบวชที่มักบวชตั้งแต่อายุยังน้อยบรรพชาเป็นสามเณรก่อน มีจิตเลื่อมใสในพุทธศาสนา มีความสนใจในอักขระล้านนาและคาถาอาคมในวัยเด็กมักจะมีแววเป็นผู้สืบสานพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในภายภาคหน้า หรือมีคำเล่าลือกันว่า “เจ้าหน่อตนบุญ” เป็นครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิด เดินทางจาริกแสวงบุญไปในเขตแดนต่าง ๆ มีการกล่าวถึงการบำเพ็ญธรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งขณะที่ในประวัติบางท่านกล่าวถึงขณะแรกเกิดมีปาฏิหาริย์ดังเช่นครูบาเจ้าศรีวิชัย หรือกล่าวถึงตอนเด็กที่ยากจนประสบปัญหาต่าง ๆ แต่มีใจบุญไม่เบียดเบียนสัตว์มักมีความสนใจใฝ่ในทางธรรมสม่ำเสมอ หรือตั้งแต่เป็นสามเณรสามารถทำน้ำมนต์ เป่าหัว เสกน้ำให้ชาวบ้านหายจากเจ็บป่วยได้

บางท่านมักจะมีวัตรปฏิบัติอย่างครูบาศรีวิชัยมาตั้งแต่แรกเป็นสามเณรเลยทีเดียวคือ นุ่งห่มแบบรัดอก ถือพัดและไม้เท้า ปัจจุบันพบว่ามีการนำเสนอประวัติ “ครูบา” นิมิต สิ่งลี้ลับที่เกี่ยวข้อง การจัดสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ การจัดสร้างเครื่องลางของขลัง เป็นต้น

ปัจจุบันพบว่า “ครูบา” (ใหม่) บางองค์มีศรัทธาญาติโยมมากมายทั้งจากเชียงใหม่ หรือจากต่างจังหวัดไกล ๆ ทั่วทุกภาค เช่น กรุงเทพฯ อุบลราชธานี กาญจนบุรี เป็นต้น สิ่งที่จะทำให้ “ครูบา” (ใหม่) มีศรัทธามากมายได้นั้นเป็นเพราะว่า การมีวัตรปฏิบัติที่มีลักษณะแบบเดียวกับครูบาศรีวิชัย หากองค์ใดปฏิบัติได้เหมือนก็มักจะมีศรัทธาเลื่อมใสมาก พบว่าบางท่านจะต้องฉันหมากให้คล้ายกับครูบาศรีวิชัย ทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อยและก็ไม่เป็นที่นิยมกันแล้วในสังคมปัจจุบัน

นอกจากนั้นการผลิตซ้ำเครื่องลางของขลังตามแบบอย่างครูบาศรีวิชัย ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะดึงดูดศรัทธาญาติโยมให้มาขึ้นกับตนได้มาก เช่น การสร้างผ้ายันต์ปารมี 30 ทัศ การสร้างเหรียญรูปเหมือนครูบาศรีวิชัย การสร้างรูปประคำครูบาศรีวิชัย ผ้ารอยปาทะครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นต้น

ในปัจจุบันพบว่ามีการสร้างเครื่องลางของขลังอื่น ๆ เพิ่มขึ้นและต่างออกไปจากเดิมที่เป็นของครูบาศรีวิชัยเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแก่ตนเอง เช่น สร้างกุมารเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ พญานาคคาบแก้ว พระอุปคุตจกบาตร ชูชกเรียกทรัพย์ ปรอท ดาบ ตะกรุด เป็นต้น และ “ครูบา” บางท่านก็มีชื่อเสียงเลื่องลืออย่างกว้างขวางไม่เฉพาะในเขตประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่รู้จักของคนในแถบรัฐชาน เมืองเชียงตุง ประเทศพม่าอีกด้วย รวมทั้งมีศรัทธาญาติโยมเป็นนักธุรกิจชาวต่างชาติ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน “ครูบา” (ใหม่) บางท่านก็มักสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นมาประกอบด้วยเพื่อเป็นจุดสนใจ เช่นจะทำให้เกิดปาฏิหาริย์ได้โดยทำให้ขันน้ำมนต์มีควันลอยขึ้นมา สร้างความประหลาดใจแก่ศรัทธาญาติโยมเป็นอย่างยิ่งจึงเป็นที่มาของการเรียกขานชื่อท่านต่อมา มีการตั้งชื่อตนเองให้แปลกเป็นที่สะดุดและจดจำแก่ญาติโยมหรือขี่ม้าบิณฑบาตบนยอดดอยสูง เป็นต้น นอกจากนั้นสิ่งที่จะดึงดูดจุดสนใจต่อศรัทธาญาติโยมอีกประการหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนชื่อวัดที่ตนเองจำพรรษาอยู่ให้เป็นชื่อแบบคำพื้นเมืองล้านนา หรือที่จดจำได้ง่าย หรือแปลกไปจากเดิม

เป็นที่น่าสังเกตว่า “ครูบา” (ใหม่) ทั้งหลาย เมื่อมีศรัทธาญาติโยมมากขึ้นแล้วก็มักจะจัดสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดของตนเองขึ้นมาใหม่อย่างใหญ่โตและใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมากมาย ซึ่งมักจะมีความเชื่อว่าเป็นการสร้างเสริมบารมีให้แก่ตนเองอย่างหนึ่ง (แต่แตกต่างจากบทบาทการบูรณปฏิสังขรณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ผ่านมาในอดีต)

และพบว่าเมื่อถึงคราวจัดงานฉลองครบรอบอายุของตนในแต่ละปีก็มักจะมีศรัทธาญาติโยมจากทุกสารทิศมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมากมายอีกด้วย เช่น การให้ศรัทธาญาติโยมรับเป็นเจ้าภาพถวายต้นเงินที่ประดับด้วยธนบัตรขนาดสูงใหญ่เป็นจำนวนหลาย ๆ ต้น การบริจาคสมทบจัดสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ภายในวัด เป็นต้น ซึ่งถ้ามองอย่างผู้ที่ไม่เชื่อถือหรือไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่าการใช้คตินิยมแบบ “ครูบา” (ใหม่) นี้ เป็นการสร้างศรัทธาเชิงพุทธพาณิชย์ก็เป็นได้

ดังนั้นหากศึกษากรณี “ครูบา” (ใหม่) นี้อย่างถ่องแท้แล้ว วัตรปฏิบัติแบบอย่างครูบาเจ้าศรีวิชัยที่แท้จริงนั้น ในปัจจุบันถูกเลือกใช้บางอย่างเท่านั้น แล้วแต่ “ครูบา” (ใหม่) ท่านไหนจะเลือกหยิบเอาอัตลักษณ์อะไรของครูบาศรีวิชัยมาใช้ประกอบ เพื่อให้ตนได้มีศรัทธาญาติโยมมากขึ้นเท่านั้น การศึกษาเรื่องดังกล่าวจึงมีความสลับซับซ้อนยิ่ง จำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวังและศึกษาอย่างละเอียดในเชิงลึกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเกิดคตินิยมอย่าง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” หรือคตินิยม “ครูบา” (ใหม่) ในช่วงเวลาสัก 20 ปี (ทศวรรษ 2530-50) ที่ผ่านมานั้น ต่างถือได้ว่ามีจุดกำเนิดหลักมาจากต้นธารแห่งความศรัทธาใน “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” แทบทั้งสิ้น ในบริบทที่คนในสังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์อันทำให้ผู้คนเกิดสูญเสียความมั่นคงในชีวิตจึงทำให้ต้องหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น นอกเหนือไปจากการหวังพึ่งพาผู้นำแห่งชาติ

ซึ่งการเกิดขึ้นของคตินิยมแบบ “ครูบา” (ใหม่) ทั้งหลายในสังคมล้านนาปัจจุบัน ท้ายที่สุดได้กลายเป็นสิ่งที่พึ่งทางใจของประชาชนไปแล้วนั้น ล้วนจะมีพลังดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ไปอีกนานตราบเท่ากลิ่นธูปควันเทียนที่ “อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ไม่จางหายไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ครูบาศรีวิชัย” กับคตินิยมแบบ “ครูบา” (ใหม่) ช่วงทศวรรษ 2530-50 เขียนโดย จิรชาติ สันต๊ะยศ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2563