วัดร้างบางบอน? (วิหารหลวงพ่อขาว) วัดนิรนามอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนหลงลืมไปตามเวลา

วิหารหลวงพ่อขาว วัดร้างบางบอน
ภายในวิหารหลวงพ่อขาว ได้รับการปรับปรุงจนสะอาดหมดจด มีหลังคาโค้งกันแดดฝนแก่องค์พระพุทธรูปและผู้มากราบไหว้บูชา ด้านหลังเคยมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้วยแต่หักโค่นไปแล้ว

วัดร้างบางบอน วิหารหลวงพ่อขาว วัดนิรนามอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนหลงลืมไปตามเวลา

ในพื้นที่ที่เรียกกันว่า “บางขุนเทียน” ในปัจจุบัน กินอาณาเขตกว้างไกล ซึ่งเกิดมาจากการปกครองในอดีต พอถึงปัจจุบันประชากรของกรุงเทพฯ ขยายตัวขึ้นมาก อำเภอบางขุนเทียนเดิมจึงต้องแบ่งส่วนพื้นที่ออกมาเพื่อสะดวกต่อการจัดการ เป็นเขตจอมทอง เขตบางขุนเทียนและเขตบางบอนอยู่ซีกตะวันตกฝั่งเหนือของบางขุนเทียนเดิม

ในอดีต พื้นที่ของบางบอนคงเป็นที่ลุ่มแฉะ รกร้างกว้างไกล แต่ก็มีหลักฐานเป็นชุมชนอยู่ไม่น้อยกว่าสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ระบุว่า เมื่อมีการขุดชำระคลองบางขุนเทียนในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2374 ได้พบไหบรรจุเหรียญเงินที่บางบอน เอามาแบ่งปันกันทั้งไพร่นาย

ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงตำแหน่งที่ตั้งของวิหารหลวงพ่อขาวหรือวัดร้างบางบอน หันหน้าไปทางตะวันออกลงสู่คลองคอหลักที่ไหลลงทางใต้บรรจบกับคลองด่านที่วัดสิงห์ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลลงมา (ปรับปรุงจาก Google Earth)

คลองด่านหรือคลองสนามชัยเป็นเส้นทางคมนาคมโบราณ ติดต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน รวมไปถึงบ้านเมืองซีกตะวันตกทั้งหลาย จุดที่คลองด่านจะไหลลงทางใต้มีวัดสำคัญคือวัดสิงห์ เป็นชุมทางที่คลองหลายเส้นมาชุมนุมกัน คือคลองด่าน คลองบางบอนที่ไหลต่อเนื่องออกไปทางตะวันตก และคลองเล็กๆ สายหนึ่งที่ไหลมาจากทางทิศเหนือ มีชื่อตามป้ายของกรุงเทพมหานครว่า คลองวัดสิงห์ แต่ในแผนที่ฉบับเก่าๆ ของกรุงเทพฯ ระบุว่าชื่อ คลองคอหลัก

ในแผนที่เก่านั้น แม้ว่ามีแนวคลองโบราณชัดเจน แต่กลับไม่ได้บ่งสถานที่ที่ยังมีตัวตนและมีความสำคัญกับชุมชนอยู่ในปัจจุบัน คือ วัดร้างแห่งหนึ่งที่ไม่รู้จักชื่อกันแล้ว แต่แทบจะไม่มีใครในย่านบางขุนเทียน-บางบอนไม่รู้จักอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อขาว” พระประธานในวิหาร

วิหารหลวงพ่อขาว ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมถนนเอกชัยในเขตบางบอน เลยจากโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ (ที่มีชื่อเดิมอันสวยงามว่า สิงหราชพิทยาคม) มาไม่ไกล เมื่อข้ามสะพานข้ามคลองวัดสิงห์มาแล้ว ซึ่งหากไม่สังเกตป้ายบอกขนาดเล็กๆ ที่ถูกต้นไม้อันร่มรื่นทอดเงาปกคลุมไว้ก็อาจผ่านเลยไปได้โดยง่ายสำหรับคนไม่คุ้นเคย วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออกลงสู่คลองคอหลักหรือคลองวัดสิงห์ ภายในเหลือเพียงองค์หลวงพ่อขาวเป็นประธานนั้น ถูกต่อเติมด้วยอาคารโถงสมัยใหม่ ที่เดิมเป็นหลังคาสังกะสีสูง ด้านหลังวิหารเคยมีต้นโพธิ์ใหญ่แต่หักโค่นเสียแล้ว ซึ่งด้านข้างตั้งศาลเจ้าแม่สีทองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบริเวณนี้ด้วย ส่วนรอบข้างก็เป็นชุมชนและอาคารพาณิชย์ มีเพียงฝั่งทิศใต้ที่เปิดออกหาถนนเอกชัย

ผู้ศรัทธาเข้ามาสักการะหลวงพ่อขาวกันอย่างไม่ขาดสาย บ้างนำของถวายแก้บน บ้างมาตรวจดูดวงชะตา และบ้างเป็นเด็กๆ ในชุมชนมาวิ่ง นั่ง นอนเล่น ด้านหน้าของวิหารมีสำนักงานดูแลวิหารหลวงพ่อขาวตั้งอยู่พร้อมให้เช่าบูชาวัตถุมงคลและดอกไม้ธูปเทียน

วิหารหลวงพ่อขาว วัดร้างบางบอน
หลวงพ่อขาว (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗) เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อาจก่อพอกด้วยปูนจึงมีสีขาวทั้งองค์ ประทับนั่งปางมารวิชัย มีชายสังฆาฏิพาดพระอังสาซ้ายเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดคล้ายพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ยังเห็นต้นโพธิ์อยู่ด้านหลังองค์หลวงพ่อ

จากการพูดคุยกับ “น้าแต๋น” ผู้ดูแลสถานที่วิหารหลวงพ่อขาวซึ่งเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2516 ได้ความอย่างคร่าวๆ ว่าไม่ทราบประวัติวัดนี้เพราะตนเป็นคนจากข้างนอกเข้ามาอยู่ ประวัติข้อมูลส่วนใหญ่ต้องสืบเอาจากกรมการศาสนา (ย้ำว่าต้องขออนุญาตจากมหาเถรสมาคมด้วย?) แต่พอจำได้ว่าทางกรมการศาสนาเรียกวัดนี้ว่า “วัดร้างบางบอน” แต่ก็คงไม่ใช่ชื่อแท้จริงของวัดแต่เดิม เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นป่าชายเลน เหลือเพียงหลวงพ่อขาวองค์เดียวประดิษฐานบนพื้น ไม่มีวิหารไม่มีหลังคาใดๆ ต่อมาผู้บริหารร้านหนังสือคลังวิทยา (วังบูรพา) ได้มาขอเช่าพื้นที่ดูแลรักษาวิหารหลวงพ่อขาว ตัวของน้าแต๋นเคยขายหนังสืออยู่ที่ตลาดสนามหลวงก็คุ้นเคยกับร้านคลังวิทยาเพราะไปรับหนังสือมาขายจึงรับงานดูแลให้แก่ร้านคลังวิทยามาจนทุกวันนี้

เมื่อสอบถามว่าวัดนี้ร้างไปไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทราบว่าไม่ต่ำกว่า 80-100 ปีมาแล้ว เพราะเท่าที่คนในชุมชนรอบข้างซึ่งมีชีวิตอยู่ราว 80 ปี ก็ยังเห็นสภาพเดิมของหลวงพ่อขาวเป็นเช่นนี้ คือรกร้างมาแล้ว สอดคล้องกับแผนที่กรุงเทพฯ ที่เก่าถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่ระบุตำแหน่งลงไว้ในขณะที่วัดรอบข้างทั้งที่ร้างและไม่ร้างมีปรากฏอยู่บนแผนที่เดียวกัน เช่น วัดสิงห์ วัดกก วัดสี่บาท วัดนาค

น้าแต๋นให้ข้อมูลอีกว่า ผู้ที่จะรู้เรื่องราวของหลวงพ่อขาวดีคือคนเก่าแก่ในชุมชน ซึ่งทุกวันนี้ย้ายกันออกไปอยู่แถบหัวกระบือ วัดปทีปพลีผล ย่านถนนบางขุนเทียนชายทะเล และในแถบนี้มีพระพุทธรูปที่เกี่ยวข้องกัน 3 องค์ (ทำนองพระพุทธรูปสามพี่น้อง – ผู้เขียน) คือ หลวงพ่อขาว หลวงพ่อดำที่วัดสิงห์ และหลวงพ่อแดงที่วัดนาค (ร้าง) คลองสี่บาท

องค์หลวงพ่อขาวซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และยังมีพุทธลักษณะบางประการ เช่น ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นปลายตัด หรือการประดิษฐานบนฐานเตี้ยๆ ไม่มีฐานชุกชีสูงแบบพระพุทธรูปรุ่นหลัง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพระเศียรของเดิมนั้นหักหายไปแล้ว ที่เห็นเป็นการต่อขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 40 ปีมาแล้ว เพราะน้าแต๋นกล่าวว่าเมื่อเข้ามาดูแลที่นี้เมื่อ พ.ศ. 2516 หลวงพ่อขาวก็อยู่ในสภาพอย่างที่เห็น คือมีการต่อเศียรใหม่แล้ว จึงไม่อาจวิเคราะห์รูปแบบเพื่อกำหนดอายุสมัยได้

หลวงพ่อดำ วัดสิงห์ เดิมถูกพอกด้วยรักสีดำ ต่อเมื่อมีการเคลื่อนย้ายมาประดิษฐานในวิหารใหม่แล้วปฏิสังขรณ์จึงพบว่าพระพักตร์ภายในมีเค้าเหลี่ยมเป็นแบบพระพุทธรูปอยุธยา หลวงพ่อขาวของวัดร้างบางบอนก็อาจเคยมีรูปแบบและอายุสมัยใกล้เคียงกันด้วย

ส่วนหลวงพ่อดำที่วัดสิงห์ปัจจุบันหลังจากการปฏิสังขรณ์องค์พระพบว่า เป็นพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ ปางสมาธิ พระพักตร์เหลี่ยมแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เช่นเดียวกับหลวงพ่อแดง วัดนาค (ร้าง) ที่เป็นพระพุทธรูปซึ่งมีเค้าศิลปะแบบอยุธยาตอนต้นอยู่ด้วย รูปแบบของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้จึงมีความสอดคล้องกัน

ข้อมูลที่ปะติดปะต่อจากหลักฐานทางศิลปกรรมและภูมิศาสตร์ พร้อมทั้งคำบอกเล่าจากผู้ดูแลสถานที่ พอจะทำให้อธิบายได้ว่า วิหารหลวงพ่อขาว หรือวัดร้างบางบอนแห่งนี้ มีอายุราวสมัยอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 1900-2000 ลงมา และคงอยู่ในกลุ่มของวัดที่พบหลักฐานร่วมสมัยกันในอาณาบริเวณนี้ เช่น วัดสิงห์ วัดนาค (ร้าง) ซึ่งสัมพันธ์กับคลองด่านที่ถูกใช้เป็นทางคมนาคมระหว่างลำน้ำเจ้าพระยาไปยังหัวเมืองปากอ่าวชายทะเลทางตะวันตกและทางใต้มายาวนาน สำหรับกรณีของวัดร้างบางบอนนี้ตั้งอยู่ในคลองคอหลัก คือสาขาจากคลองด่านออกมา ทว่า มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่โตเป็นประธาน บ่งถึงความสำคัญและขนาดของชุมชนในอดีตแม้จะเคยตั้งอยู่ในสวนลึกมาก่อน

สาเหตุการทิ้งร้างไปของวัดแห่งนี้ จนเหลือเพียงหลวงพ่อขาวตั้งอยู่เพียงองค์เดียว ก็อาจพิจารณาได้จากวัดใกล้เคียง เพราะภัยสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลังใน พ.ศ. 2310 ซึ่งประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นกล่าวถึงคลองด่านว่า เป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าที่จะขึ้นไปยังเมืองธนบุรี และคงมีเหตุปะทะต่อสู้กันจนทำให้วัดบางแห่ง เช่น วัดกก ที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชรว่า “รกร้าง” และ “มีรอยรายปืนพม่าที่ฝาผนัง” วัดร้างบางบอน หรือ วิหารหลวงพ่อขาว ที่อยู่ในชุมชนที่เกี่ยวเนื่อง จึงพลอยได้รับผลกระทบจนผู้คนทิ้งร้างไปจนหมดสิ้น ซึ่งอาจมีปัจจัยสำคัญที่เป็นชุมชนห่างไกลเส้นทางหลักออกมา จนเมื่อร้างลงก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้คนเข้าไปบุกเบิกตั้งถิ่นฐานกันอีกเพราะห่างไกล รกทึบและเปลี่ยว

ความทรงจำของความเป็นมาและแม้แต่ชื่อวัด จึงสูญสลายหายไปจนไม่มีใครจำได้ มีเพียงความรับรู้ของชาวย่านบางบอนด้านความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อขาว ที่ถูกสร้างขึ้นแทนในปัจจุบันเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474. กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, 2530.

ชีวิตและงานของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2519.

ประยูร อุลุชาฎะ. ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร : เกษมบรรณกิจ, 2514.

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2504.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2551.

สัมภาษณ์น้าแต๋น ผู้ดูแลสถานที่วิหารหลวงพ่อขาว วันที่ 1 กันยายน 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2561