ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระมาลาเบี่ยง เป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้น บนพระมาลาเบี่ยงประดิษฐาน “พระพุทธรูปทองคำ” 21 องค์ รายละเอียดต่างๆ ศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ได้เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2538 ดังนี้
พุทธลักษณะของ พระพุทธรูปทองคำ 21 องค์ ที่ประดิษฐานรายรอบ “พระมาลาเบี่ยง” ประกอบด้วยพระพุทธรูปในสองอิริยาบถ คือ พระพุทธรูปประทับยืน [1] และ พระพุทธรูปประทับนั่ง [2]
พระพุทธรูปประทับยืน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพักตร์ค่อนข้างกลม แย้มสรวล ทรงศิราภรณ์เป็นชฎามุกุฏซ้อนกันสามชั้น ทรงกุณฑลรูปตุ้ม ประทับยืนตรงแสดงอภัยมุทราด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงกรองศอ พาหุรัด ทองกร และทองพระบาทจำหลักลาย รัดประคดประดับเครื่องเพชรพลอย มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับกับทั้งมีชายภูษารูปหางปลาห้อยย้อยลงมาเบื้องหน้าทับบนอันตรวาสก
ส่วน พระพุทธรูปประทับนั่ง มีพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปประทับยืน ทรงศิราภรณ์และเครื่องอาภรณ์ละม้ายกับพระพุทธรูปประทับยืน เพียงลดรายละเอียดบางอย่าง เช่น ความอลังการของชฎามุกุฏลงเป็นอาทิ พระพุทธรูปประทับนั่งเหล่านี้ครองอุตราสงค์ห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ด้วยปรากฏขอบอุตราสงค์พาดผ่านพระอังสาซ้ายลงมาทางด้านขวา พระพุทธปฏิมาประทับนั่งทั้งหมดประทับนั่งในท่าวีราสนะ พระชงม์ขวาซ้อนเหนือพระชงฆ์ซ้าย แสดงธยานะมุทราพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้ายกับทั้งในพระหัตถ์นั้นมีสิ่งของบางอย่างทรงถืออยู่
พระพุทธรูปทองคำ 21 องค์[3] ที่รายรอบพระมาลาเบี่ยง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รับสั่งว่า คนทอดแหได้พบพระพุทธรูปดังกล่าวในลำน้ำมูล แขวงเมืองนครราชสีมา ต่อมาพระยานครราชสีมานำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปเหล่านี้ประดิษฐานรอบ “พระมาลาเบี่ยง” ที่ทรงสร้างขึ้น
สำหรับลักษณะทางประติมานวิทยาเชื่อว่า พระพุทธรูปประทับนั่งซึ่งถือวัตถุบางอย่าง ซึ่งอาจได้แก่หม้อน้ำมนต์ไว้ในพระหัตถ์ อาจหมายถึง “พระพุทธเจ้าไภษัชคุรุไวฑูรยประภา” อันมีความหมายถึง พระพุทธเจ้าผู้มีแสงสว่างประดุจแก้วไพฑูรย์ ผู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง
ความนิยมนับถือพระพุทธเจ้าองค์นี้เจริญสูงสุดในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยเหตุที่ศิลาจารึกในรัชกาลของพระองค์กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างอโรคยาศาลาเหล่านี้ ทั้งในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศกัมพูชาและในดินแดนของราชอาณาจักรไทย ซึ่งอโรคยศาลานี้ได้อุทิศถวายพระพุทธเจ้าไภษัชคุรุไวฑูรยประภาทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- เหตุใดคนโบราณทํา “คอก” แคบๆ ล้อมพระพุทธรูป
- ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมากที่สุด?
- นิมิตอัศจรรย์ “หยก” ใหญ่ที่สุดในโลกจากแคนาดา สู่พระพุทธรูปหยกวัดธรรมมงคลฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] ยึดรูปแบบการสะกดตามที่ปรากฏในต้นฉบับ
[2] ยึดรูปแบบการสะกดตามที่ปรากฏในต้นฉบับ
[3] ในหนังสือสาส์นสมเด็จ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุจำนวนพระพุทธรูปรอบมาลาเบี่ยงว่ามี 28 พระองค์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2561