ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องราวของ “หยก” ขนาดมหึมาที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากแคนาดามายังไทย ถูกสลักเสลาด้วยช่างฝีมือชั้นเอกชาวอิตาเลียน กลายเป็น “พระหยก” และเป็นพระพุธรูปหยกใหญ่ที่สุดในโลก นามว่า พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย ประดิษฐาน ณ วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร หรือ “วัดธรรมมงคล” พระโขนง กรุงเทพมหานคร
สำหรับความเป็นมาของก้อนหยกก่อนกลายเป็นพระพุทธปฏิมากรชื่อดังประจำวัดธรรมมงคล เรื่องราวทั้งหมดเริ่มจาก พระญาณวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล (บางตอนขอเรียก “พระอาจารย์”) เป็นพระเถระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ท่านนั่งสมาธิแล้วได้เห็นนิมิตถึงองค์พระพุทธรูปในหยกสีเขียวก้อนใหญ่ แต่ไม่ทราบว่าอยู่หนแห่งใด ทราบเพียงเป็นสถานที่ไกลแสนไกล แลเห็นบริเวณโดยรอบเป็นภูเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะและหมอก
กระทั่ง พ.ศ. 2530 พระญาณวิริยาจารย์ได้พบกับลูกศิษย์ผู้หนึ่ง ที่เข้ามานมัสการเยี่ยม คือ ประเสริฐ อุทกภาชน์ ซึ่งมีโอกาสไปทำมาหากินอยู่ไกลถึงประเทศแคนาดา วันนั้นประเสริฐสวมแหวนหยกเม็ดใหญ่ที่นิ้วมาด้วย พระอาจารย์จึงได้ทราบจากลูกศิษย์ผู้นี้ว่า ที่แคนาดามีเหมืองหยกมากมาย เครื่องประดับและของชำร่วยจากหยกจึงพบเห็นได้ทั่วไป มีขายอยู่ดาษดื่น และเป็นที่มาของแหวนหยกวงนั้นด้วย
ทราบดังนั้น พระญาณวิริยาจารย์จึงให้ประเสริฐพาไปตามหาก้อนหยกในนิมิตตามเหมืองต่าง ๆ ในแคนาดา แต่หาอยู่หลายเหมืองก็ไม่พบ ทำได้เพียงฝากความกำชับกับนายเหมืองว่า หากมีการค้นพบหยกก้อนใหญ่ขอให้แจ้งด้วย
เมื่อล่วงเข้าสู่เดือนสิงหาคม ปี 2534 พระญาณวิริยาจารย์เกิดนิมิตซ้ำอีก วันถัดมา ประเสริฐส่งข่าวจากแคนาดาว่า นายเคิร์ต (Kert) เจ้าของเหมืองรายหนึ่งรับหยกก้อนใหญ่ หนักถึง 32 ตัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 2.2 เมตร มาจากเหมืองทองคำอีกแห่ง ส่งข่าวมาขอให้ท่านเดินทางไปพิจารณาตรวจดูด้วยตนเอง พระอาจารย์จึงเดินทางไปยังแคนาดาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 หลังออกพรรษา
ณ เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย กล่าวได้ว่า หยกเขียวดังกล่าวถูกค้นพบในสภาพแวดล้อมสุดตระการตา ที่ทะเลสาบดีพเลค (Deep Lake) มีเทือกเขาคิงเมาน์เทน (King Mountain) โอบล้อมทะเลสาบอยู่ เป็นที่ตั้งของเหมืองทองคำบริษัท ดี.เจ. ดรินลิ่ง (D.J. Drinling Company) จากใจกลางเหมืองทองคำ ซึ่งไม่มีหยกก้อนอื่น ๆ อีกเลย และเหมืองทองคำแห่งนี้ก็อยู่ห่างจากเหมืองหยกที่ใกล้ที่สุดกว่าร้อยกิโลเมตร
พระญาณวิริยาจารย์เช่าเครื่องบินน้ำและเฮลิคอปเตอร์จากตัวเมืองไปยังที่ตั้งของหยก ทันทีที่ได้เห็นก็ตระหนักในจิตว่า “ใช่แน่” ท่านได้พบแล้ว บังเกิดความปลื้มปิติและคลายความเหนื่อยล้าหลังดั้นด้นตามหามาแรมปี อักษรสีแดงบนก้อนหยกระบุว่า “Paking China” คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่า หากพระอาจารย์ไม่มาดูด้วยตา หรือตกลงซื้อ-ขายด้วยตนเอง หยกก้อนนี้คงเดินทางไปยังประเทศจีนเป็นแน่แท้
นายเคิร์ตเล่าว่า เขาซื้อหยกก้อนนี้ต่อจากนายจอห์น สกัสเลอร์ (John Sgusler) เจ้าของเหมืองทอง พระอาจารย์จึงขอให้พาไปพบชายผู้นั้น นายจอห์นได้พบท่านและพาไปดูแหล่งที่ขุดพบก้อนหยกอีกที ทำให้พระอาจารย์ได้ทราบข้อมูลว่าเหมืองแห่งนี้ทำการขุดเจาะมากว่า 18 ปีแล้ว จนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2534 คนงานที่ใช้แม็คโครขุดดินเพื่อนำมาร่อนทองบริเวณลำธารได้พบก้อนหยกโดยบังเอิญ แรกทีเดียวพวกเขาเข้าใจว่าเป็นหินทั่วไป แต่ตักเท่าไรก็ไม่ขึ้น (แม็คโครยกได้ไม่เกิน 5 ตัน) จึงต้องเจาะก้อนหยกนั้นเพื่อใช้สลิงผูกลากจูงและเพื่อตรวจดูภายในแก่นว่ามีแร่ทองอยู่หรือไม่
การเจาะก้อนหยกทำให้ทราบว่านี่คือหยกเนื้อดีและสมบูรณ์อย่างมาก
รูที่เกิดจากเจาะยังกลายเป็นรูตรงพระกิจฉะ (รักแร้) ของพระหยกในภายหลังแบบพอเหมาะพอดีด้วย
หยกก้อนนี้มาถึงไทยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2535 ถูกนำมาไว้ที่วัดธรรมมงคล พระญาณวิริยาจารย์เฟ้นหาช่างผู้มาจัดการตัดหยกยักษ์อยู่พักใหญ่ และได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์วระ อิษวาส จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะได้ประติมากรจากเมืองคาคาร่า ประเทศอิตาลี คือ นายซีซี สมาอิล (Zizi Smail) และนายเปาโล เวียกจิ (Paolo Viaggi) มารับหน้าที่ตัดและสลักเสลาพระพุทธรูปหยกตามที่พระอาจารย์เคยนิมิตเห็นมาแต่อดีต
งานตัดหยกเป็นภารกิจที่สร้างความยากลำบากแก่นายช่างใหญ่ทั้งคู่ไม่น้อย เพราะต้องรีดเค้นทักษะความสามารถแทบทั้งหมดมาจัดการกับหยก เมื่อเทียบกับเพชร วัตถุธาตุที่ถูกยกย่องว่ามีความแข็งแกร่งที่สุดในโลกแล้ว หากเพชรแข็งระดับ 10 เต็ม 10 หยกจะอยู่ในระดับ 7 เต็ม 10 ซึ่งถือว่าเป็นงาน “มหาโหด” สำหรับประติมากรผู้ต้องการสร้างพุทธปฏิมาที่มีความงดงามอย่างทรงคุณค่าน่าเลื่อมใส
ในที่สุด “พระหยก” ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็เสร็จสมบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สูง 2.20 เมตร หน้าตักกว้าง 1.66 เมตร โดยชื่อ “พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” นั้น ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมากที่สุด?
- พระพุทธรูปชุดแรกในโลก ศิลปะคันธาระ ทำไมหน้าตาเป็น “ฝรั่ง”
- อัฟกานิสถาน แหล่งผลิต “พระพุทธรูป” องค์แรกในโลก
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความส่วนหนึ่งจาก “พระพุทธรูปหยก ใหญ่ที่สุดในโลก” เขียนโดยคึกเดช กันตามระ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2535
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มิถุนายน 2566