รวมท่าทีไทยหลังระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ติงญี่ปุ่นยุติสงครามไม่แจ้งพันธมิตร

ระเบิดปรมาณู ฮิโรชิมา นางาซากิ
(ซ้าย) การระเบิดที่ฮิโรชิมา (ขวา) การระเบิดที่นางาซากิ [ภาพโดย George R. Caron (ซ้าย) และ Charles Levy (ขวา)]

เช้าวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ทิ้ง ระเบิดปรมาณู หนัก 4 ตันลงที่ ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ประชากรเสียชีวิตทันที 66,000 คน อีกกว่า 70,000 คน บาดเจ็บจากรังสีความร้อน ภายหลังมีตัวเลขประมาณผู้เสียชีวิตในปลายปีเดียวกันอยู่ที่ 140,000 คน[1]

บทความนี้นำเนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากบทความ “จาก ‘ฮิโรชิมา’ สู่ ‘สยาม’ : การรับรู้เรื่องพลังงานปรมาณูในสังคมไทย” โดย นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2554

Advertisement

 

ขณะที่ญี่ปุ่นได้รับประสบการณ์จากพิษภัยของปรมาณูโดยตรง ในทางตรงกันข้ามสังคมไทยกลับรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกของเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมา เห็นได้จากสังคมไทยรับรู้เหตุการณ์นี้หลังผ่านมาแล้วถึง 3 วัน คือ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ จึงได้เผยแพร่ข่าวความพินาศของเมืองฮิโรชิมา โดยอาศัยแหล่งข่าวจากญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 ส.ค. 2488 รายงานความเสียหายของเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2554)

อีกทั้งท่าทีของรัฐบาลก็มิได้ใส่ใจกับปัญหาความร้ายแรงของมหันตภัยชนิดนี้ เมื่อมีการนําประเด็นระเบิดปรมาณูจากหน้าหนังสือพิมพ์วันเดียวกันมาตั้งกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎรโดยร้อยโทประจวบ มหาขันธ์ (ส.ส. อุดรธานี) ถามต่อนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งท่านนายกฯ ชี้แจงว่าไม่มีข้อมูลและไม่สามารถให้คําตอบได้ พร้อมกับแสดงทัศนะของตนว่า เมื่อตูมเข้ามาก็แหลกละเอียดไปหมด จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอะไร ถ้ามันมาอยู่เป็นก้อนก็รู้ แต่นี่มันตูมแล้วหาตัวไม่ได้[2]

ท่าทีของรัฐบาลยังปรากฏต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นประกาศสงบศึกเนื่องจาก ระเบิดปรมาณู ขณะเดียวกันข่าวการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิเพิ่งมาถึงประเทศไทย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงอภิปรายเรื่องเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูของเมืองทั้ง 2 แห่ง แต่ประเด็นหลักกลับเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยุติสงครามโดยไม่ได้แจ้งไทยในฐานะพันธมิตรทราบก่อน โดยมิได้กล่าวถึงผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจากอานุภาพของระเบิดปรมาณูแต่อย่างใด รวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่ออกในระยะใกล้เคียงกันก็มุ่งเสนอข่าวของระเบิดปรมาณูในด้านที่เป็นผลประโยชน์กับมนุษยชาติมากกว่าผลร้ายแรงจากการทําลายล้าง

การแสดงออกของรัฐบาลและสื่อในข้างต้นนั้น เป็นไปตามสถานการณ์ทางการเมืองและประสบการณ์ทางสังคมของยุคสมัย เพราะรัฐบาลไทยกังวลกับสถานะทางการเมืองหลังจากพันธมิตรคือญี่ปุ่นที่ประกาศยุติสงคราม ซึ่งสร้างความวิตกให้กับภาครัฐอย่างมาก ประกอบกับสังคมไทยมิได้มีประสบการณ์โดยตรงจากการทําลายล้างเช่นเดียวกับญี่ปุ่นมาก่อน รวมไปถึงการขาดเทคโนโลยีของการเสนอภาพข่าวที่ล้าสมัยทําให้คนไทยขาดการรับรู้ถึงความร้ายแรงของระเบิดปรมาณู อีกทั้งทิศทางการนําเสนอข่าวต้องมีการคัดเลือกก่อนนํามาเผยแพร่โดยสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองของโลก เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้ว แหล่งข่าวจึงมาจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม[3]

คู่มือป้องกันภัยระเบิดปรมาณูเล่มแรก

ปฏิกิริยาของรัฐบาลยังคงแสดงความเพิกเฉยต่ออํานาจทําลายล้างของระเบิดปรมาณู เช่นที่ รองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ได้ตรวจสอบรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490-95 พบว่าไม่ได้กล่าวถึงประเด็นด้านมนุษยธรรมอีกเลยนับตั้งแต่การอภิปรายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ที่มีการพูดถึงประเด็นนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น[4]

ขณะเดียวกันความร้ายแรงของอาวุธชนิดใหม่นี้กลับเป็นสิ่งที่กองทัพกลับให้ความสนใจศึกษาและค้นคว้าจนสามารถเรียบเรียงเป็นคู่มือสําหรับใช้ในภาคปฏิบัติกรณี หากประเทศไทยต้องประสบหายนะจากระเบิดปรมาณู คือคําแนะนําการบรรเทาภัยระเบิดปรมาณู เมื่อปี พ.ศ. 2494 ซึ่งสาเหตุของการจัดทําเอกสารดังกล่าวปรากฏในคําชี้แจงของ พลเอก ผ. ชุณหะวัณ (หรือต่อมาคือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ) ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

ปกหนังสือ “คำแนะนำการบรรเทาภัยระเบิดปรมาณู” พ.ศ. 2494

“ลูกระเบิดปรมาณูเป็นอาวุธที่ร้ายแรง มีอํานาจการทําลายสูงในชั่วระยะเวลาอันสั้น ผิดกับลูกระเบิดทําลายธรรมดา สมควรที่ทหารจะได้ทราบอํานาจและวิธีการบรรเทาภัยระเบิดปรมาณูนี้ไว้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่เรียบเรียงคําแนะนําการบรรเทาภัยระเบิดปรมาณูนี้ขึ้นเท่าที่จะสามารถค้นคว้าได้จากหลักฐานต่างๆ ในภาษาต่างประเทศ

บัดนี้ เจ้าหน้าที่ได้ค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นแล้ว เห็นว่าเป็นแนวทางให้ผู้บังคับบัญชาและทหารได้ทราบถึงอํานาจของปรมาณู และวิธีบรรเทาภัยพอสมควร ฉะนั้น ให้ผู้มีหน้าที่ใช้เป็นหลักในการสอนและการปฏิบัติ เมื่อประสพภัยชนิดนี้จะได้รู้จักหลบหลีกภัยในทางที่ควร และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ตามความจําเป็น”[5]

การให้ความสนใจต่อผลร้ายแรงของระเบิดปรมาณูของกองทัพไทยมีส่วนสัมพันธ์กับสถานการณ์ของโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคของสงครามเย็น นับแต่ช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา เกิดการแข่งขันระหว่างอุดมการณ์ของโลกเสรีนําโดยสหรัฐอเมริกา และโลกสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนํา แต่ละฝ่ายต่างมีนโยบายชักจูงและสนับสนุนประเทศภายใต้สังกัดของตนด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงมาตรการด้านกองทัพและการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อใช้เป็นการถ่วงดุลแห่งอํานาจระหว่างกัน ความตอนหนึ่งของคู่มือดังกล่าวระบุข้อความอันเกี่ยวเนื่องถึงสถานการณ์การเมืองโลกขณะนั้นว่า

“ระเบิดปรมาณูเท่าที่เปิดเผยกันทั่วไปนั้นเป็นอาวุธประเภทลูกระเบิดทิ้งจากเครื่องบิน เกิดขึ้นใหม่ในตอนปลายมหาสงครามโลกครั้งที่สอง รูปร่างลักษณะ ตลอดจนวิธีการสร้างยังสงวนเป็นความลับของราชการทหาร ปรากฏในขณะนี้ว่าประเทศที่สร้างระเบิดปรมาณูได้อย่างแน่นอน คือประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศสหภาพโซเวียตรุสเซียนั้น ก็มีข่าวยืนยันกันว่า สร้างลูกระเบิดปรมาณูได้เหมือนกัน เหตุนี้วิธีทําสงครามปรมาณู จึงยังเป็นเรื่องลึกลับ ไม่มีประเทศมหาอํานาจใดๆ ยอมเปิดเผย แต่ก็เป็นสิ่งแน่นอนว่า อาวุธอย่างหนึ่งของสงครามนั้น คือ ระเบิดปรมาณู”[6]

ข้อความดังกล่าวแสดงถึงการรับรู้และยอมรับว่า รูปแบบการทําสงครามได้เปลี่ยนไปแล้วนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บุคลากรในกองทัพมีหน้าที่ต้องศึกษาเรียนรู้มหันตภัยของอาวุธชนิดนี้เพื่อจะได้รับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้เช่นกัน เห็นได้จากเนื้อหาในคู่มือเล่มนี้มุ่งเสนอความเข้าใจพื้นฐานของระเบิดปรมาณูในหลากหลายด้าน เริ่มจากวิธีการทํางานของระเบิดเกิดจาก การสลายตัวของ “แก่นปรมาณู ทําให้เกิดการ “แยกธาตุ” โดยใช้ยูเรเนียม 235 เป็นธาตุสําคัญ สามารถสร้างความร้อนได้ถึง “หลายล้านองศาเซ็นติเกรด”[7]

คู่มือดังกล่าวยังได้ให้ข้อมูลของอํานาจการทําลายล้างจากระเบิดปรมาณูอย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้

“เมื่อทิ้งลูกระเบิดปรมาณูให้ระเบิดในอากาศนั้นจะปรากฎเห็นเป็นลูกไฟดวงใหญ่สว่างขึ้นมาในท้องฟ้า มีขนาดผ่าศูนย์กลางโตประมาณ 300 เมตร์ ตรงใจกลางลูกไฟดวงใหญ่นี้ มีความร้อนหลายล้านองศาเซ็นติเกรด เป็นเหตุให้เกิดอํานาจเผา และอํานาจแผ่รังษี พุ่งออกไปทั่วทุกทิศ และอํานาจแผ่รังษี เป็นประกายวบออกมาชั่วระยะ ๆ วินาทีแล้วก็หมดไป ขณะที่ประกายฤทธิร้อนวูบขึ้นมานั้น อากาศบริเวณลูกไฟดวงใหญ่ถูกเผาอย่างรุนแรงที่สุด ซึ่ง ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกิดเป็นคลื่นหวั่นไหวกระแทกออกไป กลายเป็นลมร้ายพัดพุ่งออกมาด้วยความเร็วประมาณ 1300 กม. ต่อชั่วโมง ต่อมาสักครู่หนึ่งจะเกิดมีลมพายุมวนเข้าหาศูนย์กลางระเบิดด้วยความเร็วประมาณ 650 กม. ต่อชั่วโมง ความแรงของลมร้ายและลมพายุสองประการนี้แหละ คือ อํานาจพัดพังทลายของลูกระเบิดปรมาณู”[8]

นอกจากนี้ อํานาจการทําลายล้างยังรวมถึง “พิษรังสี” ที่กระจายออกไปหลังการระเบิดทําให้เกิดเป็น “ฝุ่นพิษรังสี” หรือ “ละอองฝนพิษรังสี” ก่อให้เกิด “โรครังสี” จนถึงแก่ชีวิตได้ในภายหลัง และเนื่องจากการทําสงครามด้วยระเบิดปรมาณูเป็นการใช้อาวุธรูปแบบใหม่ ดังนั้น คู่มือเล่มนี้จึงระบุวิธีป้องกันอํานาจปรมาณูโดยเฉพาะ การเสนอให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ป้องกันและรักษาโรครังสี ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากสําหรับยุคนั้น (รวมไปถึงยุคนี้ด้วย สําหรับประเทศไทย) ในการป้องกันพิษรังสีจะต้องมีเครื่องตรวจรังสี เครื่องแต่งกายป้องกันพิษรังสี และเครื่องดับพิษรังสี ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่มีข้อมูลเพราะ “ประเทศที่คิดค้นยังถือเป็นความลับในราชการทหาร”[9]

ไม่เพียงเท่านั้น คู่มือดังกล่าวได้เสนอวิธีบรรเทาภัยระเบิดปรมาณูไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาชีวิตของตนเองและผู้อื่นให้อยู่รอด แต่ต้องพ้นรัศมี 1,200 เมตรไปแล้วจะมีโอกาสรอดถึงร้อยละ 50 เพราะ “ถ้าหากบังเอิญอยู่ตรงกับบริเวณเกิดการระเบิดแท้ๆ ก็เหลือที่จะมีอะไรมาป้องกันชีวิตไว้ได้[10] อีกทั้งระเบิดชนิดนี้เป็นเรื่องใหม่นอกเหนือทักษะของเหล่าทหารที่เคยปฏิบัติมาก่อน ดังนั้นจึงมีการย้ำเป็นพิเศษ ดังนี้

“การหลบภัยจะต้องทําอย่างรวดเร็วที่สุด ผิดกับการโจมตีด้วยลูกระเบิดธรรมดา ซึ่งมีการทิ้งระเบิดอยู่หลายๆ นาทีทําให้มีโอกาสเหลือสําหรับหลบเข้าที่กําบังในระหว่างเสียงระเบิดครั้งแรกกับครั้งสุดท้ายนั้นได้ แต่การโจมตีด้วยลูกระเบิดปรมาณูไม่มีโอกาสอย่างนั้นเลย ที่หลบภัย, หลุม หลบภัย, ห้องใต้ดิน, ท่อระบายน้ำริมถนน, คู, คลอง ฯลฯ เหล่านี้ อาศัยหลบอันตรายอย่างนี้ได้”[11]

สาระสําคัญของการบรรเทาภัยระเบิดปรมาณูจึงเน้นที่การรักษาชีวิตของตนเองเป็นเบื้องต้นด้วยการเข้าที่กําบัง ซึ่งมีความแข็งแรงและอยู่ในที่ต่ำ เช่น ริมกําแพง และคูคลอง พร้อมทั้งอยู่ในท่าที่เหมาะสมคือ หมอบราบลงกับพื้น หลังจากการระเบิดแล้วจึงค่อยช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายอื่นต่อไป แต่จะต้องหมั่นรักษาความสะอาดร่างกาย และเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อป้องกันฝุ่นผงที่ปนเปื้อนพิษรังสี และต้องไม่กินหรือดื่มตลอดจนสัมผัสกับสิ่งใดๆ ในบริเวณ ที่มีพิษรังสีอยู่ด้วย รวมไปถึงการควบคุมอย่าให้มีการเผยแพร่ “ข่าวอกุศล” เพราะจะสร้างความตื่นตระหนกแก่ ผู้คนจํานวนมาก[12]

สิ่งที่ตามมาหลังจากการระเบิดคือ “โรครังสี” นับเป็นภัยที่แฝงเร้นมากับอานุภาพของระเบิดปรมาณู ซึ่งคู่มือดังกล่าวระบุอาการของผู้ป่วยจะเกิดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่แต่ละคนได้รับ กรณีที่รับไปมากจะแสดงอาการสั่นสะท้านพร้อมกับคลื่นเหียนภายใน 2-3 ชั่วโมงแล้วหายไป ต่อจากนั้น อีก 1-2 วัน อาการก็จะกลับเป็นเช่นเดิม และมีอาการอาเจียน ท้องร่วง มีไข้ และอาการจะหายไปอีก 2-3 วัน อาการเช่นนี้จะกําเริบจนถึงแก่ความตาย

หากไม่ได้รับรังสีมากก็จะมีอาการโลหิตไหลตามปากและเหงือกภายใน 2-3 สัปดาห์ มีโลหิตออกภายในร่างกายร่วมด้วย โลหิตจะไหลไม่หยุดแม้เป็นบาดแผลเล็กน้อย รวมไปถึงมีอาการผมร่วงและเบื่ออาหาร อาการเหล่านี้อาจหายไปและกลับมาเป็นใหม่ได้อีก นอกจากนี้ในคู่มือดังกล่าวได้แนะนําการปฐมพยาบาลตนเองด้วยการรักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอ พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำอุ่นๆ พร้อมกับกินอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลในปริมาณมากขึ้น รวมไปถึงให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำและกินอาหาร ตลอดจนอาศัยในแหล่งที่มีพิษรังสี[13]

ไม่เพียงเท่านั้น คู่มือเล่มนี้ได้ให้คําแนะนําเรื่องการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทันทีหลังการระเบิด ได้แก่ ผู้ป่วยจากแผลพิษร้อน โดยเน้นให้รักษาความสะอาดของบาดแผล กรณีที่มีเสื้อผ้าของผู้ป่วยติดอยู่ให้ตัดผ้านั้นออก หากเป็นแผลพุพองอย่าเจาะให้ทะลุ และให้ใช้ผ้าชุบวาสสิน หรือขี้ผึ้งปิดแผล

กรณีที่ผู้ป่วยเจ็บแผลมาก การพันแผลก็ไม่ควรพันให้แน่นเกินไป พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยได้รับความอบอุ่นอยู่เสมอ สําหรับผู้ป่วยตกเลือดหรือเสียโลหิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสบาดแผลโดยตรง ควรใช้ผ้ารัดบาดแผลให้แน่นและให้คลายผ้าออกเป็นครั้งคราว ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยกระดูกหัก อย่าพยายามดึงกระดูกให้เข้าที่ และควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยความระวังโดยให้มีเครื่องรองรับผู้ป่วยก่อนทุกครั้ง[14]

ประเด็นสุดท้ายของคู่มือเล่มนี้เป็นเรื่องของการดับเพลิง เพราะเมื่อเกิดการระเบิดขึ้นมาเชื้อเพลิงที่อยู่บริเวณใกล้รัศมีจะติดไฟทันทีและอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง บรรดาทหารที่ปฏิบัติหน้าที่จําเป็นต้องทราบวิธีการดับเพลิงที่ถูกต้อง ได้แก่ การปิดประตูอาคารให้มิดชิดเพื่อป้องกันลมเข้ามาทําให้ไฟลุกไหม้อีก หากจะพังประตูเข้าไปให้เลือกบริเวณใกล้กับกลอนประตู เมื่ออยู่ในที่มีควันหนาๆ ให้คลานเข้าไป อย่าเดิน และควรเลือกอยู่ชิดกําแพงหรือส่วนที่แข็งแรงของอาคาร การดับเพลิงให้เข้าใกล้ต้นเพลิงมากที่สุด และถ้าจะหาต้นเพลิงให้เริ่มจากชั้นบนลงมา กรณีที่ต้นเพลิงเป็นน้ำมันให้ใช้ทรายดับ รวมทั้งให้เตรียมถังน้ำ ถังทราย และอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในอาคารให้มาก[15]

นอกเหนือจากคําแนะนําที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวแล้ว คู่มือเล่มนี้ยังมีภาพประกอบเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความร้ายแรงของระเบิดปรมาณูมากขึ้น เช่น รัศมีการทําลายล้าง รวมไปถึงวิธีการหลบภัยกรณีที่เกิดระเบิดขึ้นมา อย่างไรก็ดี การแพร่หลายของคู่มือดังกล่าวมีอยู่เฉพาะในแวดวงบุคลากรของกองทัพ ประกอบกับจํานวนพิมพ์ที่น้อยมาก มีส่วนทําให้การรับรู้ของบุคคลทั่วไปถึงวิธีการรับมือกับมหันตภัยชนิดนี้อยู่ในขอบเขตจํากัด

บทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้ในการทําสงครามยุคปัจจุบันอาจลดความสําคัญลงไปเมื่อเทียบกับยุคสงครามเย็น แม้จะมีบางประเทศพยายามพัฒนาการผลิตอาวุธชนิดนี้ แต่ก็มีกระบวนการตรวจสอบทั้งจากประเทศมหาอํานาจ และองค์กรระหว่างประเทศคอยควบคุม แต่สิ่งที่สมควรระวังคือการใช้พลังงานปรมาณูในแง่อื่น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่เป็นจํานวนมากและเคยเกิดมหันตภัยครั้งร้ายแรงมาแล้วในอดีต

สําหรับประเทศไทย ภาครัฐมีความพยายามที่จะใช้พลังงานชนิดนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จากแผนการสร้างโรงไฟฟ้าที่อ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี จนมาถึง “แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2564” ซึ่งออกเมื่อปี พ.ศ. 2550[16]

พลังงานปรมาณูอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายท่ามกลางวิกฤติการณ์ด้านพลังงานจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขาดแคลนพืชที่ใช้ผลิตพลังงาน เมื่อถึงวันที่ประเทศไทยต้องใช้พลังงานชนิดนี้ เราอาจต้องศึกษาคู่มือดังกล่าวกันอย่างจริงจังก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ฉลอง สุนทราวาณิชย์. การบรรยายและเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “คนไทยกับระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา 6 สิงหาคม 2488”. น.4.

[2] เรื่องเดียวกัน

[3] เรื่องเดียวกัน

[4] กองทัพบก. คำแนะนำบรรเทาภัยระเบิดปรมาณู. (พระนคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหารบก, 2494), น. คำชี้แจง.

[5] อารยธรรม. เอกสารคำสอนรายวิชา 2204180 อารยธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550), น. 313-316.

[6] กองทัพบก. คำแนะนำการบรรเทาภัยระเบิดปรมาณู. น. 1.

[7] เรื่องเดียวกัน

[8] เรื่องเดียวกัน

[9] เรื่องเดียวกัน

[10] เรื่องเดียวกัน

[11] เรื่องเดียวกัน

[12] เรื่องเดียวกัน

[13] เรื่องเดียวกัน

[14] เรื่องเดียวกัน

[15] เรื่องเดียวกัน

[16] สุเจน กรรพฤทธิ์. “‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ บนแผ่นดินไทย ทางรอดสุดท้ายของวิกฤติพลังงาน?,” ใน สารคดี. ปีที่ 23 ฉบับที่ 275 (มกราคม 2551), น. 122-123


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2562