น้ำตาเด็กท่ามกลางซากปรักหักพัง หลังสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมา

ระเบิดปรมาณู ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น 1945
เด็กน้อยนั่งร้องไห้ท่ามกลางซากปรักหักพังของเมืองที่ถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู "Little Boy"

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาพัฒนา “ระเบิดปรมาณู” ในโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) มีผู้อำนวยการคือ จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู”

หลังสหรัฐฯ ซุ่มพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์แบบลับๆ และทำการทดลองเมื่อ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก ทุกฝ่ายก็ตระหนักถึงอานุภาพการทำลายล้างอันทรงพลังของอาวุธชนิดนี้ เพียงไม่นานออปเพนไฮเมอร์ก็เสนอให้ แฮร์รี่ ทรูแมน (Harry Truman) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อหยุดสงครามที่สร้างความเสียหายไปหลายประเทศทั่วโลก

ในที่สุด สหรัฐฯ ก็ตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945

ระเบิดปรมาณู Little Boy ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น 1945
แบบจำลองระเบิดปรมาณู Little Boy ที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น (ภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:Little_boy.jpg)

เช้านั้น เวลา 08.16 น. เครื่องบินรุ่น B-29 Superfortress ชื่อว่า Enola Gay มีพันโทพอล ทิบเบตส์ แห่งกองกำลังอากาศในกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (ภายหลังได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองทัพอากาศ) ทำหน้าที่นักบิน ได้นำ “ระเบิดปรมาณู” ลูกแรกชื่อ “Little Boy” ไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 80,000 คน ผู้คนมากมายบาดเจ็บสาหัส ชาวเมืองที่เหลืออยู่ในอาการขวัญผวา หวาดกลัว ร้องไห้ท่ามกลางซากปรักหักพัง เมื่อถึงสิ้นปีนั้นมีผู้เสียชีวิตอีก 60,000 คน จากการได้รับกัมมันตภาพรังสี คาดว่ามีผู้เสียชีวิตรวมจากเหตุการณ์นี้ราว 200,000 คน

ส่วนระเบิดปรมาณูลูกที่สองคือ “Fat Man” ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองนางาซากิของญี่ปุ่น ในอีก 3 วันต่อมา แรงระเบิดทำให้เมืองนางาซากิเกือบครึ่งหนึ่งถูกทำลาย ประชาชน 70,000 คน จากทั้งหมดราว 270,000 คนเสียชีวิต เมื่อนับถึงสิ้นปี

ความสำเร็จของการทิ้งระเบิดครั้งนี้ได้ถูกรายงานข่าวกระจายออกไปอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาท่ามกลางความอยากรู้ นักวิจารณ์จำนวนมากคาดว่าน่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของสงคราม ก่อนที่มันจะยืดเยื้อและมีการบุกเกาะญี่ปุ่นอย่างนองเลือด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2561