15 สิงหาคม 1945 : “จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ” ประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข

จักรพรรดิฮิโรฮิโตะและจักรพรรดินีนากาโกะ ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1946 (พ.ศ. 2489) โดย AFP PHOTO/INP

“จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ” ประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1945 (พ.ศ. 2488) จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข หลังถูกสหรัฐฯ ถล่มด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูกติดๆ กัน ในวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับญี่ปุ่น

การที่โซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 8 สิงหาคม 1945 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินประกาศยอมแพ้สงคราม เนื่องจากมิได้จัดสรรกำลังไว้เพียงพอสำหรับต้านทานการรุกจากภาคพื้นทวีป ด้วยญี่ปุ่นทุ่มกำลังไปที่การป้องกันเกาะมาตุภูมิเป็นสำคัญ

จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ทรงชูพระมาลาทักทายฝูงชน ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1946 (พ.ศ. 2489) โดย AFP PHOTO/INP

รายงานของนิวยอร์กไทม์อ้างว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน จักรพรรดินีนากาโกะ พร้อมด้วยรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเจรจาการยุติสงคราม แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากฝ่ายทหาร และเมื่อโซเวียตเข้าสู่สงครามด้วย ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นหมดโอกาสที่จะหาคนกลางเพื่อการเจรจา

วันเดียวกันนี้ โคเรชิกะ อะนามิ (Korechika Anami) รัฐมนตรีสงครามของญี่ปุ่นในขณะนั้นได้ฆ่าตัวตายด้วยการ “คว้านท้อง” (Seppuku) พร้อมทิ้งจดหมายลาตายมีข้อความว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัยโทษในอาชญากรรมอันใหญ่หลวงด้วยความตายนี้”

มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นขณะลงนามในเอกสารยอมจำนนในนามของพระจักรพรรดิ บนเรือรบมิสซูรี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945 (Naval Historical Center Photho)
อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“Hirohito on Radio; Minister Ends Life”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9F01E2D6113BEE3BBC4D52DFBE66838E659EDE>

“Move by Empress for Peace Bared”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9D01E2D7113BEE3BBC4C52DFBE66838E659EDE>

Pacific War Research Society (2002). Japan’s Longest Day. Kodansha International.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2561