6 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก เรือเหาะอันภาคภูมิของนาซีเยอรมนี

โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก เรือเหาะ ไหม้
เรือเหาะฮินเดนบวร์ก ขณะเกิดเพลิงไหม้

เรือเหาะฮินเดนบวร์ก เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของนาซีเยอรมัน ทว่าวันหนึ่งกลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่าง “โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก”

เรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดนบวร์ก (LZ 129 Hindenburg) หรือ เรือเหาะฮินเดนบวร์ก สร้างโดยบริษัท ลุฟท์ชิฟเบา เซ็พเพอลีน (Luftschiffbau Zeppelin GmbH) เริ่มสร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1931

ทว่า โครงการผลิตมีการชะงักเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกสนับสนุนโดยข้อเสนอของโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการแห่งนาซีเยอรมนี เป็นเงินถึง 2 ล้านมาร์ค เพื่อให้เรือเหาะ LZ 129 เป็นที่จดจำในฐานะการเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีเยอรมนี ทั้งยังตั้งชื่อเรือเหาะ LZ 129 ตามประธานาธิบดี พอล ฟอน ฮินเดนบวร์ก ประธานาธิบดีที่มาจาการเลือกตั้งคนสุดท้ายของเยอรมนี ก่อนที่ฮิตเลอร์จะขึ้นเป็นผู้นำใน ค.ศ. 1933  

เรือเหาะฮินเดนบวร์กขึ้นบินในการส่งผู้โดยสารครั้งแรกวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1933 มีผู้โดยสารจำนวน 80 คน บินจากฟรีดริชส์ฮาเฟนไปยังโลเวนทาล วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1936 (ก่อนเกิดโศกนาฏกรรม 1 ปี) เรือเหาะฮินเดนบวร์กได้เริ่มการเดินทางจากเยอรมนีไปสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ใช้ระยะเวลาแค่ 2 วันครึ่ง ซึ่งการเดินทางไปสหรัฐฯ ครั้งแรกของเรือเหาะฮินเดนบวร์ก ได้มีการจัดพิธีมิสซาของชาวคริสต์นิกายคาทอลิกกลางอากาศครั้งแรก และออกอากาศทางวิทยุ NBC ด้วย

เรือเหาะฮินเดนบวร์กได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีตามจุดประสงค์ของเกิบเบิลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ เพราะมีการนำเรือเหาะลำนี้ไปปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ของเยอรมนี เช่น การไปปรากฏตัวเหนือสนามกีฬาในพิธีการเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่เยอรมนี วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1936 ทั้งยังปรากฏในการรณรงค์ด้านต่าง ๆ และการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลนาซี ทั้งยังมีธงนาซีประดับไว้บริเวณครีบด้านหลังเรือเหาะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นนาซี

ภาพถ่ายเรือเหาะฮินเดนบวร์ก ที่เดินทางไปจอด ณ ประเทศบราซิล เมื่อเมษายน ค.ศ. 1936

เรือเหาะฮินเดนบวร์ก เที่ยวบินที่ 63 บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือจำนวน 97 ราย แบ่งเป็นผู้โดยสาร 36 ราย และลูกเรือ 61 ราย ออกจากสนามบินแฟรงค์เฟิร์ตวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 เวลา 19.37 น. มุ่งหน้าไปทางมหาสมุทรแอตแลนติก มีปลายทางคือ เลกเฮิสต์ รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ระหว่างทางเรือเหาะฮินเดนบวร์กต้องเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้มาถึงที่หมายล่าช้าไปหลายชั่วโมง

เมื่อมาถึงเลกเฮิสต์ ก็ไม่สามารถนำเครื่องลงได้เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย จนกระทั่ง 18.00 น. สภาพอากาศก็แจ่มใสขึ้น และสามารถลงจอดได้ เรือเหาะฮินเดนบวร์กได้หย่อนเชือกเพื่อลงจอดในเวลา 19.21 น. แต่เมื่อถึงเวลา 19.25 น. เพียงไม่กี่นาทีหลังเชือกถูกหย่อนลงก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้น คาดว่าน่าจะมาจากบริเวณส่วนบนของตัวถังด้านหน้าครีบ หลังจากเกิดไฟลุกไหม้เรือเหาะฮินเดนบวร์กก็ตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว (ภายใน 30 วินาที)

เนื่องจากไม่มีหลักฐานของการก่อการร้ายหรือการก่อวินาศกรรม สาเหตุของไฟลุกไหม้จึงน่าจะเกิดจากความต่างศักย์ระหว่างอากาศภายในเรือเหาะ และอากาศภายนอก จนเกิดการปล่อยประจุไฟฟ้าสถิต และเนื่องจากเรื่องเหาะลอยด้วยแก๊สไฮโดรเจนที่ติดไฟได้ จึงทำให้ไฟลุกลามเรือเหาะฮินเดนบวร์กอย่างรวดเร็ว

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 ราย เป็นผู้โดยสาร 13 ราย ลูกเรือ 22 ราย และลูกเรือบนพื้นดินอีก 1 ราย คนบนเรือเหาะฮินเดนบวร์กรอดชีวิตถึง 62 คน ผู้รอดชีวิตส่วนมากเป็นคนที่อยู่ติดกับทางออก จึงเอาชีวิตรอดได้ง่าย ผู้ที่เสียชีวิตส่วนมากอยู่ห่างจากทางออก ทำให้การเอาชีวิตรอดเป็นไปด้วยความล่าช้า ประกอบกับไฟที่ลุกไหม้อย่างรวดเร็ว และมีอีกส่วนเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง

นับได้ว่า โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทั่วโลกเห็นถึงความอันตรายจากการเดินทางแบบเรือเหาะ เทคโนโลยีการบินในรูปแบบ “เครื่องบิน” ที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาให้เข้ากับเชิงพาณิชย์ก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยมีความปลอดภัยมากกว่า และใช้เวลาในการเดินทางน้อยกว่าเรือเหาะ ซึ่งปัจจุบันการเดินทางไกลด้วยเครื่องบินก็ได้เป็นที่นิยมที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

AIRSHIP.NET. “LZ-129 Hindenburg: A Detailed History.” Retrieve from https://www.airships.net/hindenburg/lz129-hindenburg-detailed-history/, Accessed May 5, 2022.

AIRSHIP.NET. “The Hindenburg Disaster.” Retrieve from https://www.airships.net/hindenburg/disaster/, Accessed May 5, 2022.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2565