ทำไมต้อง “โจรห้าร้อย” คำนี้เขียนเป็นตัวหนังสือไม่ใช่ตัวเลข เพราะเป็นสำนวน

ภาพ ชาวบ้าน จิตรกรรม วัดเขียน
ภาพประกอบเนื้อหา ภาพชาวบ้านสามัญชนขณะเดินทางค้าขายหรือค้าเร่ มีโจรผู้ร้ายฉุดคร่าชิงทรัพย์และข่มขืนด้วย, จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง (จากหนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex)

มีคำถามว่าทำไม สำนวนไทย ต้อง โจรห้าร้อย ? ความจริงคำว่า “ห้าร้อย” ในความหมายเดิมแท้นั้นไม่ได้หมายถึงหน่วยนับ หากหมายถึงการประมาณว่าจำนวนหนึ่งเท่านั้น

เพราะหน่วยนับของอินเดียแต่โบราณกาลมา ถือหน่วยนับพันเป็นหน่วยสูงสุด เป็นเท่านั้นเท่านี้พัน และความรู้ในการถือหน่วยนับนี้ได้แพร่หลายไปยังดินแดนอื่น รวมทั้งพวกฝรั่ง ดังนั้นพวกฝรั่งจึงนิยมใช้หน่วยนับเป็นพัน

Advertisement

ความหมายของคำว่า “ห้าร้อย” นอกจากจะหมายถึงจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมดแล้ว ยังหมายความว่าไม่เต็ม คือไม่เต็มพัน หรือไม่เต็มที่นั่นเอง ดังนั้นในสมัยโบราณจึงเรียกคนที่มีสติไม่สมประกอบว่าคนบ้าห้าร้อย บ้างก็เรียกว่าพวกไม่เต็มเต็ง

หนักๆ เข้าก็กลายเป็นคำด่า เช่นคำด่าที่ว่า ไอ้โจรห้าร้อย มาจากคำว่า โจรบ้าห้าร้อย

เพิ่มเติม คำว่าโจรห้าร้อย เดิมเป็นคำกล่าวเปรียบว่าโจรมีจำนวนมาก สำนวนโจรห้าร้อย น่าจะมาจากอรรถกถาของคัมภีร์ธรรมบท กล่าวถึง เดียรถีร์ 500 คนกับโจร 500 คนร่วมกันวางแผนสังหารพระโมคคัลลาน์ เนื่องจากพระโมคคัลลาน์ทำให้สาวกจำนวนมากของเหล่าเดียรถีร์หันมานับถือพระพุทธศาสนา

คำว่า ห้าร้อย นอกจากจะปรากฏในสำนวนว่า โจรห้าร้อยแล้ว ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนายังปรากฏคู่กับคำอื่นอีกด้วย เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐีถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ 500 รูป. ต่อมาเมื่อใช้คำว่าโจรห้าร้อย มีความหมายว่า โจร, โจรชั่ว เช่น จันทโครพพานางโมราเดินป่าไปพบโจรห้าร้อยผู้หนึ่งระหว่างทาง ปัจจุบันเมื่อตัดใช้แต่เพียง ห้าร้อย ก็หมายถึง คนเกเร คนไม่ดี เช่น ไอ้เด็กห้าร้อย วัน ๆ ไม่เรียนหนังสือ เอาแต่ซิ่งมอเตอร์ไซค์ไปทั่ว

คำว่า “โจรห้าร้อย” สำนวนไทย เขียนเป็นตัวหนังสือไม่ใช่ตัวเลข เพราะเป็นสำนวน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553 เวลา 7.00-7.30 น


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2562