“ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ถ้อยคำบนตาลปัตรสวดศพ สำนวนนี้ของใคร มีที่มาอย่างไร?

ตาลปัตรสวดศพ ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น
ตาลปัตรสวดศพ ปักลายตัวอักษรสำนวน “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”

“ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ถ้อยคำบน ตาลปัตรสวดศพ สำนวนนี้ของใคร มีที่มาอย่างไร?

ชมพระประธานในโบสถ์ออกจะเป็นเรื่อง “คุ้นๆ” ไม่มีอะไรแปลกใหม่นักสำหรับดิฉัน แต่ที่เห็นแล้วสนุกมากก็คือ หน้าบันโบสถ์วัดนายางซึ่งทำขึ้นหลัง พ.ศ. 2500 ออกจะดูประหลาดกว่าวัดอื่นๆ ที่ดิฉันเคยเห็นมา เพราะส่วนบนหน้าบันอันประดับด้วยปูนปั้นนารายณ์ทรงครุฑ ที่บัดนี้ทาสีเหลือง ทอง แดง เขียว ชมพู อย่างฉวัดเฉวียนชวนเริงร่ายิ่งๆ นั้น ใต้ลงมาคือปูนปั้นข้อความตัวหนังสือทาสีเหลืองจ้าบนพื้นเขียวสดแจ่ม ความว่า “วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผัดกันช่วยคงอวยชัย ถ้าขัดกันคงบันลัยทั้ง 2 ทาง” (ตัวสะกดตามที่ปรากฏไว้หน้าบัน)

หน้าบันโบสถ์วัดนายาง มีบทกลอนสำนวนเก่าประดับไว้และทาสีปูนปั้นได้สดใสเริงร่าสำราญใจของผู้ได้พบเห็น บทกลอนสำนวนเก่า ที่บัดนี้ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนแต่งไว้

เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นนี้แหละ ที่สามารถเอาบทกลอนขึ้นไปไว้บนหน้าบันโบสถ์ได้ ดิฉันยืนอ่านคติเตือนใจบนหน้าบันนี้ให้พ่อ-อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว และ ดร. เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล (อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี) ฟัง อ่านแล้วก็สงสัย ข้อความนี้เคยผ่านหูผ่านตามายาวนาน ใครเป็นคนแต่งไว้ ถามพ่อซะตรงนั้น พ่อบอก ไม่รู้ เป็นกลอนเก่า เพิ่งได้ยินมาในช่วงหลังปี 2500 มาแล้ว

“โอ้โหเพิ่งได้ยินของพ่อนี่มัน 60 กว่าปีเข้าไปแล้วนะ” ดิฉันเย้าขำๆ เลยได้ฟังอีกเรื่องหนึ่งจากพ่อเกี่ยวกับบทกลอนคติเตือนใจเก่า ที่คนทั่วไป ทั่วประเทศยังผ่านตา ชินหู มาจนถึงปัจจุบัน นั้นคือถ้อยคำบน ตาลปัตรสวดศพ ของพระ 4 รูป ที่นั่งเรียงกันหน้าโลงศพ โดยพระแต่ละรูปต่างถือพัดตาลปัตรจารึกข้อความเรียงตามลำดับว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”

สำนวนคุ้นหูในงานศพ

สำนวนนี้เคยชินจับตาจับใจคนทั่วไปมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยมีใครรู้ว่ามีที่มาอย่างไร ดิฉันลองเสิร์ชหาใน “อากู๋” ดู มีกล่าวถึงวาทะ “ไปไม่กลับ” ดังที่ว่านี้อยู่มากมาย มีตาลปัตรปักตัวหนังสือปรากฏชัดเป็นตัวอย่างอยู่มากมาย แต่ไม่มีใครรู้สักคนว่า สำนวน “ไปไม่กลับ” มีที่มาจากไหน?

อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ที่หน้าโบสถ์วัดนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ย่ำค่ำของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อดิฉันได้มีโอกาสนั่งคุยกับพ่ออย่างยืดยาว เลยได้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า ประมาณ พ.ศ. 2539 ครั้งที่อาจารย์ล้อมบวชเณรอุทิศกุศลให้กับย่านวล เพ็งแก้ว ที่สิ้นชีวิต ก่อนบวชพ่อได้ไปนั่งสนทนาธรรมกับ พระธรรมรัตนดิลก ท่านมหาบุญรวม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเมืองเพชร และเป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรีในช่วงนั้น เมื่อได้พูดคุยกันเรื่องคนตาย พระมหาบุญรวมเปรยถึงช่วงตั้งเตียงสวดศพ อันหมายถึง 1 เตียงจะมีอาสนะให้สงฆ์ 4 รูปนั่งเรียงกันไปเพื่อสวดศพ สงฆ์แต่ละรูปจะถือพัดตาลปัตรเฉพาะตน แต่ละพัดตาลปัตรมักนิยมปักข้อความ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” พระมหาบุญรวมถามพ่อว่า “อาจารย์รู้ไหม ใครว่าสำนวนนี้ขึ้นเป็นคนแรก สำนวนนี้มีที่มาอย่างไร”

คุณพ่อดิฉันตอบพระมหาบุญรวมว่า “ไม่ทราบ” พระมหาบุญรวมจึงขยายความให้พ่อฟังว่า สำนวนนี้เป็นคำเทศน์ของเจ้าคุณวัดโสมนัส (วัดโสมนัสราชวรวิหาร) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระนักเทศน์รุ่นก่อนท่านหลายปี เจ้าคุณวัดโสมนัสเทศน์กล่าวสำนวนคล้องจองนี้ออกมา คนได้ฟังตื่นเต้นจับใจ ชอบกันมาก เลยเอาไปปักไว้บนพัดตาลปัตรสวดศพ เพราะเห็นว่ามีความหมายดี เหมาะกับงานศพด้วย ตัวท่านมหาบุญรวมยังเคยนำคำคล้องจองสำนวนนี้มาเทศน์ด้วย ก่อนที่จะไปแพร่หลายปักกันอยู่บนพัดตาลปัตร

ตาลปัตร สวดศพ อักษร สำนวน ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น
ตาลปัตร ปักลายตัวอักษรสำนวน “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ซึ่งยังคงความนิยมอย่างยิ่งในงานศพตั้งแต่หลังช่วง พ.ศ. 2500 มาจนถึงปัจจุบัน

ฟังแล้วพ่อก็ถามพระมหาบุญรวมว่า ตั้งแต่สร้างวัดโสมนัสมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าคุณวัดโสมนัสมีหลายรูป เป็นเจ้าคุณองค์ไหนล่ะ

พระมหาบุญรวมตอบว่า “อ๋อ เจ้าคุณจับ ท่านเป็นคนใต้เหมือนอาจารย์ด้วยนี่”

คำบอกเล่าจากพระมหาบุญรวมที่พ่อได้ฟังมานี้ เป็นเค้ารางให้ดิฉันได้พยายามไปสืบค้นต่อ เพราะมั่นใจว่าอาจารย์ล้อม พ่อดิฉันความจำแม่นยำมาก แทบไม่เคยผิดพลาด ข้อมูลต้นเค้าที่ได้มามีเพียงแค่ “เจ้าคุณจับ เจ้าอาวาสวัดโสมนัส คนใต้” หันซ้ายขวาไม่รู้จะไปสืบค้นทางไหน นึกได้ ขุมความรู้พอจะพึ่งพาได้มากที่สุดยุคนี้ก็คือถาม “อากู๋”

เปิดอากู๋ Google แวบเดียวก็รู้เรื่อง ได้เรื่อง เพราะเจ้าอาวาสวัดโสมนัส มีชื่อ เจ้าคุณจับอยู่จริงๆ พ่อจำได้แม่นมาก ทั้งที่คุยกับพระมหาบุญรวม 20 กว่าปีเข้าไปแล้ว

เจ้าคุณจับ คนแรกที่เทศน์สำนวน “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”

เจ้าคุณจับที่พระมหาบุญรวมกล่าวถึง ว่าเป็นคนแรกที่เทศน์สำนวน “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” นี้ ท่านคือ สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม, 20 กุมภาพันธ์ 2449-17 กุมภาพันธ์ 2539) ท่านเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 6 ของวัดโสมนัสราชวรวิหาร มีนามเดิมว่า จับ สุนทรมาศ บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ท่านเป็นคนใต้เหมือนพ่อดิฉัน ดังที่พระมหาบุญรวมบอกไว้ และพ่อจำได้ยาวนานมาถึงบัดนี้

สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) ผู้เทศน์ สำนวน ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น
สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร ที่ท่านมหาบุญรวมให้ข้อมูลว่า เป็นคนแรกผู้เทศน์สำนวน “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” อันจับใจคนฟังอย่างยิ่ง (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

เรื่องน่าอัศจรรย์ก็คือ ในวันที่ดิฉันนั่งสนทนากับพ่อถึงสำนวน “ไปไม่กลับ” ของเจ้าคุณจับ เป็นหัวค่ำของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งตรงกับวันสิ้นอายุของเจ้าคุณจับครบรอบ 23 ปีพอดี!

เรื่องบังเอิญไม่มีในโลก นี่คงถึงเวลาที่จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของสำนวน ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” นี้ด้วยกระมัง เหตุต่างๆ จึงมาประชุมให้คำตอบพร้อมกัน ในวันครบรอบวันสิ้นอายุของเจ้าคุณจับอย่างพอดิบพอดี!

และเนื่องด้วยดิฉันเป็นคนประเภท กัดไม่ปล่อย ค้นข้อมูลอะไรแล้วต้องหาต้นรากให้ถึงที่สุด หันซ้ายขวายังไม่แล้วใจ มีอะไรค้างใจตงิดๆ จึงพยายามหาเบอร์โทรศัพท์เจ้าอาวาสวัดโสมนัสยุคปัจจุบัน พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจากเจ้าคุณจับ เพื่อติดต่อสอบถามเรื่องสำนวน “ไปไม่กลับ” ของเจ้าคุณจับ ว่าท่านเจ้าคุณพิจิตรพอทราบบ้างไหมว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

เจ้าคุณพิจิตรนี้ท่านเกิด พ.ศ. 2479 ปีเดียวกับอาจารย์ล้อม พ่อดิฉัน พื้นเพเดิมของท่านเป็นคนบ้านพังขาม อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นคนใต้เหมือนเจ้าคุณจับ ท่านแต่งหนังสือทางพุทธศาสนาไว้จำนวนมาก ดิฉันได้โทรศัพท์ไปสนทนากับท่านโดยตรง ถามท่านเรื่องสำนวน “ไปไม่กลับ” นี้ ว่าท่านพอทราบมาก่อนไหม ว่าผู้กล่าวไว้เป็นคนแรกคือเจ้าคุณจับ เจ้าอาวาสวัดโสมนัสองค์ก่อน

ท่านเจ้าคุณพิจิตรสนทนากับดิฉันด้วยเมตตายิ่ง ท่านบอกว่า ท่านไม่เคยทราบเรื่องนี้เลย ดิฉันจึงแจ้งท่านว่า พ่อดิฉันฟังมาจากพระมหาบุญรวม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระนักเทศน์รุ่นหลังเจ้าคุณจับ

เรื่องที่มาที่ไปของสำนวนสุดนิยม สุดฮิตในงานศพ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ดังที่พระมหาบุญรวมรู้มา และนำมาบอกกล่าวให้พ่อดิฉันฟัง ซึ่งพ่อดิฉันจำได้แม่นๆ ยาวนานตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน จึงขอจดจารไว้ในที่นี้ เพื่อสืบอายุเรื่องเล่านี้ ให้ยาวนานต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม 2563