“บ่างช่างยุ” สำนวนนี้เป็นมาอย่างไร “บ่าง” คือตัวอะไร แล้วไปยุใคร ?

สาวๆ จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก คลองบางหลวง
ภาพ “สาวๆ” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง

“บ่างช่างยุ” เป็นสำนวนไทยที่เกิดจากคำ 3 คำ คือ บ่าง (สัตว์ป่าชนิดหนึ่ง) + ช่าง (ชอบ, นิยม) + ยุ (ยุแยง, ทำให้แตกแยก) โดยพจนานุกรม ฉบับราชยัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายสำนวนนี้ว่า “(สำ) น. คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน”

สำหรับตัว “บ่าง” (Colugo) คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลักษณะคล้ายกระรอก อยู่ในชนิด Cynocephalus variegatus (Audebert) วงศ์ Cynocephalidae อาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ่างมีหนังเป็นพังผืดทั้ง 2 ข้างลำตัว ตั้งแต่คอไปถึงปลายเท้าและหาง ใช้ถลาร่อนจากที่สูงมายังที่ตํ่าได้ค่อนข้างไกล มีขนนุ่มสีนํ้าตาลเข้มหรือนํ้าตาลอ่อนเป็นหย่อม ๆ มีเล็บโค้งแหลมสำหรับปีนป่ายต้นไม้ เป็นสัตว์หากินกลางคืน กินพืช-ผลไม้ ตอนกลางวันจะหลบอยู่ตามโพรงไม้หรือเกาะห้อยอยู่ตามพุ่มทึบคล้ายค้างคาว

บ่างเป็นสัตว์ฺที่มีเสียงร้องคล้ายคนร้องไห้ ทั้งมีหน้าตาคล้ายลิงลม คนโบราณจึงมองว่าเป็นสัตว์ที่พิลึกและน่ากลัว คนที่เข้าป่าในอดีตและวได้พบเจอหรือได้ยินเสียงร้องของบ่างจึงมักคิดว่าเป็น “ผีป่า”

ตัวบ่าง วาดโดย William Farquhar, ปี 1819–1823 (ภาพจาก Wikimedia Commons/National Museum of Singapore)

ส่วนสำนวนไทยสมัยโบราณที่ว่าบ่างช่างยุมีที่มาจากนิทานสุภาษิตเรื่องหนึ่ง เล่าถึงตัว “บ่าง” ที่อาศัยอยู่ในป่าและเป็นเพื่อนกับ “ค้างคาว” ทั้งคู่กินผลไม้เป็นอาหารเช่นเดียวกัน แต่บ่างเสียเปรียบค้างคาวในเชิงสรีระร่างกาย เพราะไม่มีปีกบินทำให้เคลื่อนที่ไปหาผลไม้ได้ช้ากว่า บ่างจึงเกิดความคิดริษยาและไม่อยากอยู่ร่วมกับค้างคาว แล้วเริ่มหาวิธีทำให้ค้างคาวไปเสียจากป่านั้น

นอกจากเป็นเพื่อนกับบ่างแล้ว ค้างคาวยังเป็นเพื่อนกับ “นก” และ “หนู” ด้วยเหตุผลที่ว่าค้างคาวนั้นบินได้เหมือนนกและมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับหนู จึงนับถือกันเป็นมิตรสหายด้วย โดยนกกับหนูทำรังอยู่ร่วมกันบนต้นไม้ใหญ่ ค้างคาวมักจะแวะเวียนมาหาทั้งคู่อยู่เสมอ ขณะที่บ่างไม่ได้รับอภิสิทธิ์นั้น เพียงแต่ดูอยู่ห่าง ๆ

แผนการของบ่างในการกำจัดค้างคาวจากการเป็นคู่แข่งหากินของตนจึงเริ่มต้นจากการทำให้ค้างคาวแตกคอกับนกและหนูเสีย บ่างไปหานกกับหนูพร้อมเล่าว่าค้างคาวนั้นเป็นสัตว์ร้าย จะนำโรคภัยมาสู่ทั้งสองได้ เพราะขี้ค้างคาวมีกลิ่นแรง นกกับหนูได้ฟังดังนั้นก็เกิดหวาดกลัวค้างคาวขึ้นมา จึงพากันขับไล่ค้างคาวไม่ให้มาข้องแวะหรืออยู่ร่วมต้นไม้กับพวกตน ค้างคาวจึงต้องจากป่านั้นไป

สำนวนนี้จึงถูกนำมากล่าวถึงและเปรียบเทียบคนที่มักพูดจาส่อเสียด ยุแยงให้ผู้อื่นทะเลาะกัน ส่งเสริมความร้าวฉานในหมู่คณะ โดยเรียกว่าเป็น “บ่างช่างยุ” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. บ่างช่างยุ. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565. จาก https://dictionary.orst.go.th/

แฟ้มสัตว์โลก, โลกสีเขียว. บ่าง, พุงจง, พะจง.สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565. (ออนไลน์)

สภากาแฟไทย ThaiCafe.BlogSpot . สุภาษิต “บ่างช่างยุ”. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565