ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนวนไทย ที่บอกกล่าวให้ อดทน กับความยากจน, ความลำบาก ที่มีคำว่า เกลือ ซึ่งคนคุ้นเคยว่า “ให้ทนกัดก้อนเกลือกิน” บ้าง “ให้รักษาความดีเหมือนเกลือรักษาความเค็ม” บ้าง คงได้ยินกับมาจนคุ้นเคย ว่าแต่ทำไมใช้ เกลือ รสเค็มๆ แทนความอดทนอดกลั้น
อาจสันนิษฐานไปได้หลากหลายประเด็น แต่อยากเสนอให้ท่านอ่านข้อมูลเรื่องนี้ของ มาร์ก เคอร์ลันสกี (Mark Kurlansky) ในหนังสือ ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ (Salt: A World History) แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร (สำนักพิมพ์มติชน, 2551)
เคอร์ลันสกีค้นความเอกสารวิชาการ, บทความ ฯลฯ ด้านอาหาร, ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จำนวนมาก สังเคราะห์และวิเคราะห์ถึงการใช้เกลือเป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้
คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของเขาใช้ตอบคำถามว่า ทำไมต้องทนกัดก้อนเกลือกิน เพราะว่า
“เกลือ เป็นศัพท์ทางเคมีของสารที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างกรดกับด่าง เมื่อโซเดียมซึ่งเป็นโลหะที่ไม่เสถียรและสามารถลุกเป็นไฟได้ทันที ทำปฏิกิริยากับก๊าซที่มีพิษถึงชีวิตที่รู้จักกันว่าคลอรีน กลายเป็นโซเดียมคลอไรด์- NaCI ซึ่งเป็นอาหารสำคัญ ได้จากหินแร่จำพวกเดียวที่มนุษย์นำมากิน เกลือมีหลายชนิด ส่วนหนึ่งกินได้และมักจะพบอยู่ด้วยกัน
แต่เกลือที่เราชอบกินมากที่สุดคือโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งมีรสชาติที่เรียกว่าเค็ม เกลือชนิดอื่นมีรสเฝื่อนหรือเปรี้ยวไม่น่ากิน แม้จะมีคุณค่าทางอาหารสำหรับมนุษย์… ประกอบด้วยเกลือ 3 ชนิดคือแมกนีเซียมคลอไรด์ โพแทสเซียมคอลไรด์ และโซเดียมคลอไรด์
คลอไรด์จำเป็นต่อการย่อยอาหารและการหายใจ หากปราศจากโซเดียม ร่างกายจะไม่สามารถทำกิจกรรมได้ ไม่สามารถขนส่งสารอาหารหรือออกซิเจน ไม่สามารนำส่งการกระตุ้นประสาทหรือเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อรวมทั้งหัวใจ ในร่างกายของมนุษย์ที่โตเต็มวัยประกอบด้วยเกลือราว 250 กรัม…”
อ่านไปอีกนิดเคอร์ลันสกีกล่าวถึงความซื่อสัตย์และมิตรภาพระหว่างเกลือกับผู้คนในหลากหลายวัฒนธรรมว่า
“เพราะเนื้อแท้ของเกลือไม่เปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งละลายเป็นของเหลวก็ยังระเหยกลับมาเป็นผลึกสี่เหลี่ยมได้ ศาสนาอิสลามและจูดายใช้เกลือประทับสัญญาซื้อขาย เพราะเกลือไม่มีวันเปลี่ยนแปลง กองทหารอินเดียใช้เกลือเป็นหลักประกันความจงรักภักดีต่ออังกฤษ อียิปต์โบราณ กรีก และโรมัน มีเกลือรวมอยู่ในเครื่องสังเวยและเครื่องเซ่นไหว้ ผู้คนวิ77งวอนพระเจ้าด้วยเกลือและน้ำ และมีความเชื่อว่านี่คือที่มาของน้ำมนต์ของชาวคริสต์”
และแน่นอนเราเองก็มีสำนวนว่า “รักษาความดีดุจเกลือรักษาความเค็ม”
นี่คงเป็นความเป็นสากลของเกลือ ที่หลายวัฒนธรรมใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ดวงไม่ถึงฆาต” ที่มาของสำนวนไทย ติดปากจากวัฒนธรรมอินเดีย?
- สำนวนไทย ใช้ “ปลากัด” ตำหนิผู้หญิงมารยา-จัดจ้าน แล้ว “กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน” สื่ออะไร?
- “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” สำนวนไทยแท้ตั้งแต่รัชกาลที่ 3
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562