สำนวนไทยใช้ “ปลากัด” ตำหนิผู้หญิงมารยา-จัดจ้าน แล้ว “กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน” สื่ออะไร?

(ภาพจาก www.khaosod.co.th)

คนไทยรู้จักปลากัดมานานแค่ไหน ไม่อาจยืนยันแน่นชัด แต่ใน “ราชาธิราช” วรรณกรรมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มีสำนวนเกี่ยวกับปลากัด ว่า “ไก่แก่แม่ปลากัด”  ส่วนเป็นอย่างไรนั้น ปราชญ์เมืองเพชร อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เคยอธิบายไว้ว่า

ในการจัดทำพจนานุกรมฉบับมติชน คณะกรรมการยกร่างมีเรื่องให้ถกเถียงกันอยู่มาก แต่เฉพาะสำนวน “กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน” กับ “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” ซึ่งหมายถึงว่ามีมารยาหรือเล่ห์เหลี่ยมมากนั้น กรรมการแทบไม่ต้องถกเถียงกันเลย ตกลงกันเป็น “กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน” และระบุต่อท้ายว่า ปัจจุบันมักใช้ว่า “ไก่แก่แม่ปลาช่อน”

Advertisement

ที่ตกลงใจดังนี้ อาจเป็นเพราะกรรมการแต่ละคนคร่ำหวอดกับวรรณกรรมเก่าๆ มามากได้พบได้เห็นการใช้สำนวนนี้ และมีตัวอย่างเป็นกระต่ายแก่แม่ปลาช่อนทั้งสิ้น ดังเช่นในละครนอกเรื่องคาวี ตอนนางคันธมาลีขึ้นเฝ้า ว่า

“แกล้งทำแยบคายกระต่ายแก่ แสนแง่แสนงอนค้อนให้

จะมาเรียกมหาข้าไย            มันไม่เหมือนเมื่อกระนั้นแล้ว”

ส่วนคาวีเห็นว่านางมีแง่งอนมาก ก็เลยว่า

“ไม่พอที่ตีวัวกระทบคราด    สัญชาติกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน

แสร้งสะบิ้งสะบัดตัดรอน      จะช่วยสอนให้ดีก็มิเอา”

หรือในเรื่องพระอภัยมณี ตอนพระอภัยเข้าเมืองลงกา (ตอน 62) พักอยู่ปราสาทไม่เห็นสองมเหสี จึงรำพึงว่า

“กระต่ายแก่แต่ละคนล้วนกลมาก ทั้งฝีปากเปรื่องปราดฉลาดเฉลียว”

และเมื่อไปหานางสุวรรณมาลี ถูกตัดพ้อบ่ายเบี่ยง ก็ว่า

“ขี้เกียจเกี้ยวเคี่ยวขับข้ารับแพ้   กระต่ายแก่แม่ปลาช่อนงอนไม่หาย”

ด้วยเหตุดังนี้จึงต้องยืนเป็นกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน ต่างไปจากฉบับราชบัณฑิตยสถานที่เก็บเฉพาะไก่แก่แม่ปลาช่อนไว้เท่านั้น

ปัญหาที่ชวนคิดก็คือ เหตุใดในปัจจุบันจึงทิ้งกระต่าย จับไก่มาใช้แทน?

ท่านขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์)  ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าหนังสือเก่าๆ ใช้เป็นกระต่าย ต่างไปจากที่พูดกันเป็นไก่ และเสนอว่า ที่เปลี่ยนไปเพราะเสียงใกล้กัน และไก่นั้นพูดง่าย สั้นดี

อย่างไรก็ตามหลังจากเสนอยกร่างไปแล้ว และมติชนได้จัดพิมพ์เฉพาะส่วนเป็นฉบับนอกราชบัณฑิตฯ วางตลาด แต่กระนั้น ทั้งกระต่ายและไก่ก็ยังตามมาหลอนอยู่เป็นครั้งคราว

โดยปกติผมเองเชื่อยู่ว่า การที่ถ้อยคำสำนวนผิดเพี้ยนหรือเปลี่ยนไปนั้น น่าจะมีสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ แต่อะไรเล่าคือสาเหตุที่น่าจะเป็น หรือเพราะเสียงใกล้กัน พูดง่าย และสั้นดีอย่างที่ท่านขุนวิจิตรมาตราเสนอไว้ แล้วทำไมกระต่ายจึงวิ่งมาไม่ถึงปัจจุบันหรือแอบไปหลับคอยเต่าอยู่ที่ไหน?

กล่าวง่ายๆ ผมเองเห็นว่าเหตุผลที่ท่านขุนเสนอไว้นั้น น่าจะจริงเพียงบางส่วนและน่าจะมีสิ่งสำคัญอีกลางอย่างที่ยังหาไม่เจอ

เมื่อปลายเดือนมีนาคม มีเวลาว่างจึงเอาหนังสือเก่ามาซ่อมในจำนวนนั้นมีเรื่องราชาธิราช ฉบับพิมพ์  พ.ศ. 2496 อยู่ด้วย ซ่อมแล้วก็พลิกๆ อ่านดะไปพอถึงตอนพระเจ้าราชาธิราชชนะศึกพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวา ตอนพระราชทานปูนบำเหน็จรางวัลแก่สมิงพระตะเบิดซึ่งมีความชอบ สามารถฆ่าพระยาภุกามตาย ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายไว้ดังนี้

“แล้วตรัสว่า สมิงพระตะเบิดนี้ อายุก็แก่อยู่แล้ว แต่กำลังยังกล้าแข็ง มีฝีมือเอาชนะหนุ่มได้ ราวกับไก่แก่แม่ปลากัดที่ตัวเก่ง ซึ่งเราได้อำมาตย์ทินมณิกรอดกับสมิงพระตะเบิดสองคนนี้ไว้อุปมาได้ไก่แก่ไว้สองตัว สำหรับใช้ชนกับไก่หนุ่ม”

ก็ถึงสะดุ้ง เห็นว่าสำนวนไก่แก่แม่ปลากัดนี่แล้ว คือตัวทำให้กระต่ายกลายเป็นไก่ เพราะเป็นสำนวนที่มี่ความหมายใกล้กัน กระต่ายพุ่งความหมายไปทางตัวแทนหญิง ส่วนไก่พุ่งไปทางชาย และส่องความขยายว่า มีอายุสูงด้วยกัน จึงใช้แทนกันได้ง่าย

การที่ผู้รจนาคือท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ท่านใช้เป็น ไก่แก่แม่ปลากัด ก็แสดงว่าในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังมีสำนวนนี้ใช้อยู่

กล่าวโดยสรุปก็คือ สำนวน ไก่แก่แม่ปลาช่อน เกิดจากการรวมเอาสำนวน กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน กับสำนวน ไก่แก่แม่ปลากัด เข้าด้วยกัน จากสองสำนวนกลายเป็นสำนวนเดียว และให้มุ่งไปทางผู้หญิงมีอายุ (ก็คนมีบทบาทสูงในสังคมไทยมักเป็นผู้ชายนี่ครับ จะทำอย่างไรได้) สำนวนที่มุ่งไปทางผู้ชายจึงลับสูญไป


ข้อมูลจาก

ล้อม เพ็งแก้ว.เสนาะเสน่ห์ สำนวนไทย, สำนักพิมพ์มติชน 2548


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 7 กรกฎาคม 2561