“ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” สำนวนไทยที่แฝงนัยทางการเมือง?

ลงเรือแป๊ะ
(ภาพจาก แฟ้มภาพมติชน)

“วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ลงจากเรือ ดังนั้นก็ต้องตามใจแป๊ะ” เจ้าของประโยคข้างต้นคือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ในสมัยนั้น) ที่กล่าวในการบรรยายเรื่อง “บทบาท สนช. กับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน” ในโครงการสัมมนาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557

ด้วยประโยคที่มีความหมาย (เชิงการเมือง?) ซ่อนอยู่ ทำให้วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างเขียนถึงสำนวนลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ จนฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง

Advertisement

ต่อมาในปี 2562 นายวิษณุอธิบายเรื่องลงเรือแป๊ะอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มาในฐานะรองนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏตัวในฐานะนักเขียนมือฉกาจ เปลี่ยนจากการกล่าวบรรยายในงานสัมมนา เป็นการเขียนพรรณนาในหนังสือชื่อ “ลงเรือแป๊ะ” (สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2562)

แล้ว “เรือแป๊ะ” ที่ว่า หน้าตาเป็นอย่างไร?

นายวิษณุเฉลยในหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า คำว่า “แป๊ะ” มาจากภาษาจีนว่า “แปะ” หรือ “อาแปะ” แปลว่าลุงหรือผู้สูงอายุ ส่วนทําไมจึงต้องเป็นเรือแป๊ะ เขาอธิบายไว้ว่า

“เหตุใดไม่เป็นเรือป๋า เรือมาม่าซัง เรืออาบัง เรือเมอสิเออร์ คําตอบคือสมัยก่อนป๋าของฝรั่ง มาม่าซังของญี่ปุ่น อาบังของแขก เมอซิเออร์ของฝรั่งเศส ไม่ได้มาพายเรือ แจวเรือหรือแล่นเรือโล้สําเภาในเมืองไทย

เรือที่รับจ้างพาย หรือแจวขึ้นล่องตามแม่น้ำลําคลองไม่ว่าในชนบทหรือในพระนครมักเป็นเรือชาวจีน ที่จริงคนไทยก็พายเรือได้และมีอยู่ทั่วไป อย่างที่มีสํานวนว่า ‘ผู้หญิงยิงเรือ ผู้ชายพายเรือ’ แต่มักเป็นเรือส่วนตัว มีอยู่ประจําบ้าน ร้านโรงของใครของมัน ไม่ได้เป็นเรือรับจ้างขนส่งสาธารณะ หรือแมสทรานซิส

…เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 หลังการขุดคลองต่างๆ ชาวจีนที่มารับจ้างขุดคลองหัวคิดดี รู้จักหาเรือมารับจ้างบรรทุกคนไปตามคลองเหล่านั้น กิจการอย่างนี้เป็นสตาร์ตอัพในสมัยนั้น และเป็นที่นิยมของลูกค้าขาจรเดินทางจากบ้านนอกเข้ากรุง หรือเป็นพวกไม่มีเรือของตัวเอง คนจีนมีนิสัยหนักเอาเบาสู้ ทั้งอาชีพนี้ก็ไม่ใช่อาชีพสงวนจึงมีเรือแป๊ะบริการทั่วไป

บางทีเจ้าของเรือหลายลำก็รวบรวมกันเหมือนสหกรณ์รถแท็กซี่สมัยนี้ ตั้งเป็นท่าเรือรับจ้างขนส่งสาธารณะ พบเห็นได้ทั่วไปแถวตลาดพลู คลองบางกอกน้อย คลองบางหลวง และชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา…”

แล้วนายวิษณุก็อธิบายถึงบริการของเรือแป๊ะที่ตนเองทันได้เห็นว่า

“ผมยังทันเห็นแป๊ะร่างผอมเกร็ง สวมเสื้อกุยเฮงผ่าอกปลดกระดุม มีกระเป๋าล่างสองข้าง นุ่งกางเกงขาสั้น บางทีก็เป็นกางเกงขาก๊วย สวมหมวกกุ้ยเล้ยหรืองอบแบบจีนยืนแจวเรือเอี้ยมหุ้นบ้าง เรือหางแมงป่องบ้าง รับจ้างส่งผู้โดยสารและสินค้าตามลําคลอง ผู้ใหญ่ชี้ให้ดูและบอกว่าเป็นพวกเรือแป๊ะ

บางทีแป๊ะก็สูบบุหรี่ใบจาก พ่นควันไปพลางหรือร้องเพลงจีนหงุงหงิงๆ อย่างสบายอารมณ์ ผู้โดยสารไม่เต็มลําเรือก็ยังไม่ออก การแจวเรือจ้างอย่างสบายอารมณ์เป็นลักษณะพิเศษของเรือแป๊ะ ยิ่งกว่านั้นการนั่งเรือแป๊ะจะต้องมีระเบียบกติกา มารยาท เช่น ผู้โดยสารจะเร่งให้ไปเร็วๆ เพราะรีบร้อนจะไปให้ทันถวายเพลที่วัด รีบไปโรงหมอให้ทันอาการที่คนไข้กําลังทรุด หรือรีบไปแจ้งความโรงพักให้ทันก่อนผู้ร้ายจะหนีไปได้ ทั้งนั้นเพราะแป๊ะแกจะไม่ยอมรับรู้ด้วย อย่างมากแกก็ร้องฮ้อๆ แล้วแจวเรือเอื่อยๆ พ่นควันจากใบจากหรือร้องเพลงงิ้วของแกต่อไป

แม้แต่ใครจะบอกให้แป๊ะแจวช้าๆ แบบอ้อยอิ่งชมวิวหรือขอเทียบเรือแม่ค้าซื้อโน่นซื้อนี่ก็ไม่ได้ บอกให้แป๊ะหยุดร้องเพลงก็ไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ที่แป๊ะการตัดสิน เรื่องของแป๊ะ ทุกคนต้องเอาใจและรู้จักเกรงอกเกรงใจแป๊ะ

แป๊ะเป็นกัปตัน ผู้นํา ผู้บัญชาการทหารเรือ นี่เองเป็นที่มาของสํานวนไทยแท้แต่โบราณตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ว่า ‘ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ’ ขืนไม่ตามใจแป๊ะ แป๊ะก็ไล่ลงจากเรือ ใครรับกติกาเรือแป๊ะไม่ได้ แป๊ะก็บอกว่าลื้อจงขึ้นเรือไปหรือไม่ก็จงว่ายน้ำไปเอง”

นายวิษณุ เครืองาม ยังสืบค้นการใช้สำนวน “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” อีกด้วยว่า

“ขุนวิจิตรมาตรานักเขียนผู้โด่งดังใช้นามปากกาว่า ‘กาญจนาคพันธุ์’ เคยเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง สํานวนไทย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2543 ในหน้า 492 อธิบายว่า ‘ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” แปลว่า “อยู่ร่วมกับเขา ไปกับเขา อาศัยเขาก็ต้องยอมตามเขา ไม่ขัดขืน เขาจะให้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น’”

สำนวนลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ก็เป็นเช่นนี้เอง และมักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่การเมืองไทยอยู่ในช่วงฝุ่นตลบอบอวล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2562