“เรือรบติ้งหย่วน” เรือรบหุ้มเกราะสุดแกร่งลำแรกของจีน ที่มีจุดจบเพราะการฉ้อโกง

เรือรบติ้งหย่วน ท่าเรือ Vulcan Stettin เยอรมัน
เรือรบติ้งหย่วน คณะอยู่ในอู่ต่อเรือ Vulcan เมือง Stettin จักรวรรดิเยอรมัน (เมือง Szczecin ประเทศโปแลนด์ ในปัจจุบัน) ถ่ายเมื่อปี 1884 (เครดิตภาพจาก Wikimedia)

เรือรบติ้งหย่วน คือเรือรบหุ้มเกราะสมัยใหม่ลำแรกของกองทัพจีน มีบทบาทเป็นเรือธงกองทัพเรือเป่ยหยาง ซึ่งเป็นกองทัพเรือสมัยใหม่กองแรกของจีน เป็นหนึ่งในเรือหุ้มเกราะที่ทันสมัยที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของจีนและเป็นเครื่องอวดแสนยานุภาพที่สำคัญของราชวงศ์ชิง 

กลางศตวรรษที่ 19 เมื่อชาติมหาอำนาจแผ่แสนยานุภาพคุกคามชาติในเอเชีย โดยเฉพาะจีน ที่หลังจากพ่ายแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่นเมื่อ ค.ศ. 1842 และต้องทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตกหลายชาติ ทำให้จีนภายใต้การนำของราชวงศ์ชิงต้องพยายามปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านการทหาร เพื่อต้านทานการคุกคามของตะวันตก 

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1860 จึงเกิดขบวนการเลียนแบบตะวันตกเพื่อป้องกันตนเอง หนึ่งในโครงการสำคัญคือการจัดตั้งกองทัพเรือสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่มาของ “กองทัพเรือเป่ยหยาง” ในปี 1871 แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องงบประมาณและเทคโนโลยีการต่อเรือ การสร้างเรือธงของกองทัพเป่ยหยางจึงต้องเลื่อนเวลาออกไป

เมื่อรัฐบาลราชวงศ์ชิงมีความพร้อมมากขึ้น ปี 1881 จึงอนุมัติงบต่อเรือหุ้มเกราะให้กองทัพเรือเป่ยหยาง โดยสั่งต่อเรือจากจักรวรรดิเยอรมัน แล้วเสร็จในปี 1883 ก่อนเข้าประจำการปฏิบัติภารกิจในเดือนพฤศจิกายน ปี 1885 

กองทัพเรือเป่ยหยางมีเรือธง คือ เรือรบติ้งหย่วน มีน้ำหนักรวม 7,793 ตัน ยาว 298.5 ฟุต ( 91 เมตร) กว้าง 20 ฟุต (6.1 เมตร) มีความเร็ว 15.8 นอต ตัวเรือเต็มไปด้วยอาวุธมากมาย เช่น ปืนใหญ่ขนาด 12 นิ้ว ประจำการ 2 ป้อม ป้อมละ 2 กระบอก ปืนใหญ่เดี่ยวขนาด 5.9 นิ้ว 2 ป้อม ป้อมละ 1 กระบอก และยังประกอบไปด้วยเกราะป้องกันอีกหลายจุด กล่าวได้ว่าหากเทียบกับสมรรถนะเรือรบหุ้มเกราะในช่วงเดียวกัน เรือรบติ้งหย่วนถือว่ามีประสิทธิภาพไม่เป็นรองเรือลำอื่นบนโลกเลยทีเดียว

การมีเรือรบหุ้มเกราะที่ทรงอานุภาพ ทำให้ราชวงศ์ชิงมั่นใจอย่างมาก และพร้อมเปิดศึกกับผู้รุกรานอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ในปี 1894 จากกรณีพิพาทเรื่องดินแดนเกาหลี เรือรบติ้งหย่วนกลับไม่สามารถแสดงแสนยานุภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่มีความแข็งแกร่งกว่ากองเรือญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด 

ยุทธการที่เป็นจุดตัดสินสงคราม เกิดขึ้นที่เมืองเวยไห่เว่ย ในมณฑลซานตง ระหว่างวันที่ 20 มกราคม ถึง 12 กุมภาพันธ์ ปี 1895 แม้เรือรบติ้งหย่วนจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ผลจากการไม่มีงบประมาณในการดูแล เพราะราชสำนักฉ้อโกงงบประมาณส่วนกลาง พระนางซูสีไทเฮานำงบส่วนหนึ่งไปสร้างพระราชวังฤดูร้อน ทำให้อาวุธบนเรือไม่สามารถใช้การได้ เช่น ลูกปืนหลายลูกเกิดการช็อต ลูกปืนยิงไม่ถึงเป้าเพราะดินปืนมีไม่พอ และความไม่มีระเบียบของทหาร เช่น ทหารบางนายไม่อยู่ในจุดประจำการทั้งที่กำลังรบ ประกอบกับการวางแผนผิดพลาด กองเรือเป่ยหยางจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

กองทัพเรือญี่ปุ่นที่แม้อาวุธจะด้อยกว่า แต่มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวสูง และมีการบังคับบัญชาที่ดีกว่า จึงเป็นฝ่ายรุกโจมตีและปิดล้อมกองเรือเป่ยหยาง ซึ่งมีเรือรบขนาดใหญ่ 2 ลำ ได้แก่ เรือรบติ้งหย่วน และเรือรบเจิ้นหย่วน ไว้ได้ กองทัพญี่ปุ่นปิดล้อมน่านน้ำทะเล ตีโอบเส้นทางแนวหลังทางบกบริเวณเมืองเวยไห่เว่ย และเมื่อถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพเรือและกองทัพบกของญี่ปุ่นก็ร่วมกันระดมยิงปืนใหญ่ใส่เรือทั้งสองลำ ทั้งหน้าและหลัง เรือติ้งหย่วนจึงถูกทำลายจมทะเล เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 1895

ปิดฉากเรือรบสุดแกร่งลำหนึ่งของกองทัพเรือจีน ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 9 ปีกว่าเท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Dingyuan class ironclads (1881). Access 26 April 2023. From https://naval-encyclopedia.com/ww1/china/dingyuan-class-ironclads-1881.php

Andrew Blackley. The Enduring Legacy of the War of Jiawu. Access 26 April 2023. From https://www.usni.org/magazines/naval-history-magazine/2021/april/enduring-legacy-war-jiawu

First Sino-Japanese War 1894-1895.  Access 26 April 2023. From https://www.britannica.com/event/First-Sino-Japanese-War-1894-1895

เส้าหย่ง และหวังไห่เผิง. (2560). หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ : มติชน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2566