“ดวงไม่ถึงฆาต” ที่มาของสำนวนไทย ติดปากจากวัฒนธรรมอินเดีย?

สำนวน ดวงไม่ถึงฆาต มาจาก วัฒนธรรมอินเดีย เรื่อง การปลงศพ
การประกอบพิธีเผาศพ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี รัฐอุตรประเทศ อินเดีย

“ดวงไม่ถึงฆาต” สำนวนไทยติดปากจาก วัฒนธรรมอินเดีย ที่ได้จาก “การปลงศพ”

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจาก “วัฒนธรรมอินเดีย” หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ภาษา, วรรณกรรม, ศาสนา เป็นต้น วัฒนธรรมอินเดียเรื่อง “การปลงศพ” เป็นจุดหมายปองหนึ่งของคนทั่วโลกว่า “ต้องมาชมให้ได้สักคราครั้งหนึ่ง” โดยเฉพาะการปลงศพที่เมืองพาราณาสี (Varanasi) เมืองที่ได้ชื่อว่าแสงไฟไม่เคยดับเพราะการเกิด-ดับเป็นของคู่โลก ไฟที่ลุกโพลงและควันไฟที่คุกรุ่นอยู่เสมอไม่เคยดับกว่า 5,000 ปี บริเวณริมฝั่งแม่น้ำคงคา รัฐอุตรประเทศ (Uttar Pradesh)

ท่าเผาศพ อันมีนามว่า มณิกรรณิการ์ ฆาต (Manikarnika Ghat) และ หริศจันทร์ ฆาต (Harishchandra Ghat) ชื่อของฆาตทั้งสองคือที่มาของสำนวนไทย ซึ่งเป็นคำติดปาก และหลายคนอยากได้ยินสำนวนนี้บ่อยๆ เมื่อเกิดอุบัติเหตุว่า โชคดีมาก “ดวงไม่ถึงฆาต” นั่นเอง

วันนี้จึงขอเสนอเรื่องราวของ “ฆาต” (Ghat) ว่าอยู่ดีๆ ไปปรากฏในสำนวนไทยที่ติดปากคนไทยได้อย่างไร?

คำว่า “ฆาต” เป็นคำเรียกที่ชาวอินเดียใช้เรียกสถานที่ที่ทำลักษณะเป็นบันไดเพื่อไว้ใช้ลงแม่น้ำคงคา โดยเฉพาะที่เมืองพาราณาสีมีฆาตมากถึง 88 ฆาต ฆาตเหล่านั้นล้วนมีชื่อเรียกแตกต่างกันเช่น มาลาวิยะ ฆาต (Malaviya Ghat) อัสสี ฆาต (Assi Ghat) ตุลสี ฆาต (Tulsi Ghat) เชน ฆาต (Jain Ghat) ลักษมี ฆาต (Laxmi Ghat) เป็นต้น

แต่ฆาตอันเป็นที่มาของสำนวนไทยคือ ฆาตที่ไว้ใช้เผาศพ หรือฌาปนสถาน (Cermation or Burning Ghat) ริมฝั่งแม่น้ำคงคา คือ มณิกรรณิการ์ ฆาต (Manikarnika Ghat) และหริศจันทร์ ฆาต (Harishchandra Ghat) อันเป็นจุดจบสิ้นของร่างกายที่จะถูกล้างบาปก่อนการกลับคืนสู่อ้อมกอดแห่งพระเป็นเจ้า แต่สำหรับชาวฮินดูแล้วความปรารถนาที่แรงกล้าเมื่อเริ่มรู้ว่าร่างกายนี้ไม่อาจต้านทานพญามัจจุราชได้แล้ว คำสั่งเสียที่มีต่อลูกหลานคือการได้มานอนทิ้งร่างวางขันธ์เพื่อให้ได้เห็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่า “คงคา” จนลมหายใจสุดท้ายผละออกจากร่างกายนี้ไป

ภาพกองไฟที่เผาร่างอันเป็นวัฒนธรรมของชาวฮินดูที่กล่าวถึงเมืองพาราณาสีว่า “เมืองแห่งแสงไฟที่ไม่เคยดับเป็นเวลากว่า 5,000 ปี”

ทำไมจึงจำเพาะ 2 ฆาตนี้เท่านั้น? เพื่อให้เรื่องราวบริบูรณ์มากยิ่งขึ้นจึงขอเล่าขานความเชื่ออันเป็นที่มาของฆาตทั้งสองคือ มณิกรรณิการ์ ฆาต (Manikarnika Ghat) และหริศจันทร์ ฆาต (Harishchandra Ghat) ดังนี้ ท่ามณิกรรณิการ์ (Manikarnika) นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ มณิกรรณิการ์ คูนด์ (Manikarnika Kund)และมณิกรรณิการ์ ฆาต (Manikarnika Ghat)

สำหรับ มณิกรรณิการ์ คูนด์ (Manikarnika Kund) นั้นเป็นบ่อน้ำ หรือสระน้ำสี่เหลี่ยม โดยกว้างและยาวประมาณข้างละสิบเมตร บางคัมภีร์เรียกว่า จักรปุชการิณี ซึ่งเป็นรอยเท้าของ พระวิษณุ (Vishnu) ที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบัน สำหรับบางคัมภีร์แสดงทรรศนะไว้ว่า

“วันหนึ่งทั้งพระศิวะและพระปารวตีได้อาบน้ำในบ่อน้ำในขณะนั้น หงอนเพชร (ชื่อ มณิ) ของพระศิวะ และต่างหู (ชื่อกรรณิการ์) ของพระนางปารวตีได้ตกลงในบ่อน้ำแห่งนั้น ขณะที่ทั้งสองพระองค์กำลังอาบน้ำอยู่ ดังนั้น บ่อน้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า มณิกรรณิการ์ คูนด์ (Manikarnika Kund) (คูนด์ แปลว่า บ่อน้ำ)

ส่วนอีกคัมภีร์หนึ่งกล่าวว่า “วันหนึ่งพระศิวะและพระศักติผ่านมาทางนั้นได้ทรงเห็นเปลวไฟลุกขึ้นโชติช่วงบนกองหิน จึงรู้ว่าพระวิษณุได้นั่งบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้าในวันนั้น ดังนั้นพระศิวะจึงบอกให้พระวิษณุเลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วยความปรารถนาดีของพระองค์ที่มีต่อพระวิษณุที่จะอยู่ไปในกาลปัจจุบันโลก ในขณะที่ตรัสอยู่นั้นต่างหูเพชรชื่อมณิกรรณิการ์ของพระองค์ ได้ตกหล่นจากพระกรรณของพระองค์ ตกลงไปในบ่อน้ำนั้น ด้วยเหตุนี้เองพระศิวะและพระวิษณุต่างตกลงปลงใจว่าที่ตรงนี้จะเป็นสถานที่มงคลและศักดิ์สิทธิ์ต่อไป อีกทั้งเป็นที่ปลดปล่อยวิญญาณจากบาปไปสู่สวรรค์ได้” นั่นเอง

ส่วนหริศจันทร์ ฆาต (Harishchandra Ghat) มีกล่าวไว้ “หริศจันทร์” เป็นชื่อของพระราชาแห่งสูรยวงศ์แห่งนครอโยธยา พระองค์ถูกฤาษีแปลงกายเป็นพระศิวามิตรพรหมฤาษีมาทดสอบคุณธรรมความดีของพระองค์ กล่าวหาโทษเล็กๆ น้อยๆ จนพระองค์กลายเป็นทาสในที่สุด พร้อมทั้งขายพระมเหสีและพระโอรสโรหิตาศวะสุดที่รักของพระองค์ให้คนอื่น พร้อมประกาศขายพระองค์เองอีกด้วย

ในที่สุดพระองค์กลายเป็นทาสของคนวรรณะล่างคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นคนเผาศพ สุดท้ายทั้งพระราชาหริจันทร์และพระมเหสีไศพยา มาเจอกันแล้วตัดสินพระทัยจะเผาตนเองตายตามพระโอรสซึ่งถูกงูกัดตายไปก่อนหน้านั้น เพราะที่ผ่านมาทั้งสองพระองค์ได้อดทนมาหนักแล้ว เพราะรักษาความสัตย์ยิ่งชีวิต ก่อนจะเผาจึงตรัสว่า “ณ ที่ตรงนี้ขอให้ได้เป็นที่ชำระจิตวิญญาณของเราให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดังที่ได้ชำระทองคำให้สุกปลั่งในเบ้าแล”

ด้วยเหตุนี้ริมฝั่งแม่น้ำคงคาจึงมี มรณัง โฮเต็ล หรือโรงแรมรอความตายที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ทินหิน สัทกติ นิวาส (Dinahin Sadgati Niwas), กาศี มุกติ ภาวัน (Kashi Mukti Bhawan), กาศี ลาภ ภาวัน (Kasi Labha Bhavan) เป็นต้น

จากนั้นเมื่อร่างกายที่ปราศจากลมหายใจแล้วจะถูกห่อด้วยผ้าสีขาวและประดับด้วยดอกดาวเรืองสดก่อนวางลงบนไม้ไผ่ 7 ซี่แล้วถูกหามไปยัง มณิกรรณิการ์ ฆาต (Manikarnika Ghat) และหริจันทร์ ฆาต (Harishchandra Ghat) ตลอดทางที่ผ่านผู้คนหรือบางศพถูกขนย้ายมาบนรถบัสบ้าง รถเข็นบ้างจะได้ยินเสียงสวดมนต์ภาวนามาตลอดทางว่า “รามะ นามะ สัจจะ แฮ” แปลว่า “ชื่อพระรามเท่านั้นเป็นจริง ชื่ออื่นนอกจากชื่อนี้ ตายหมด!”

สำนวนไทยที่ว่า “ดวงไม่ถึงฆาต” จึงมีความหมายว่า บุคคลผู้นั้นยังไม่ถึงท่าเผาศพนั่นเอง สร้างดวงให้ดีด้วยการคิดดี ทำดี พูดดี แม้ว่าจะถึงฆาตก็ไม่สร้างความกังวลใจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2562