รักรันทด “พระรถเมรี” เรื่อง(เบื้อง)หลังสำนวน “ฤๅษีแปลงสาร”

ฤๅษีแปลงสาร พระรถเมรี
(จิตรกรรมฝาผนัง ภายในระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสาดาราม)

รักรันทด “พระรถเมรี” เรื่อง (เบื้อง) หลังสำนวน “ฤๅษีแปลงสาร”

ปัจจุบัน “ฤๅษีแปลงสาร” เป็นสำนวนไทยที่มักถูกนำมาเปรียบเปรย เปรียบเทียบ กับสถานการณ์เมื่อมีผู้แปลงข้อความหรือการสื่อสารลักษณะใดลักษณะหนึ่งให้ความหมายเปลี่ยนไปจากต้นฉบับเดิมของสื่อนั้น ๆ อาจมีเจตนาดีหรือเจตนาร้ายอย่างไรก็สุดแล้วแต่

จริงๆ แล้วสำนวนนี้คืออะไรกันแน่ มีที่มาอย่างไร เหตุใดฤๅษีจึงแปลงสาร และทำไมต้องฤๅษี?

คำว่า “ฤๅษีแปลงสาร” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า “น. ชื่อวิธีเขียนหนังสือลับแห่งไทยโบราณกลับตัวอักษรข้างหลังมาไว้ข้างหน้า, โดยปริยายหมายความว่า เปลี่ยนข้อความเดิมให้มีความหมายตรงกันข้าม.” จะเห็นว่า ความหมายต่างไปจากการนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรยจากที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งมีลักษณะเป็นกลภาษาเชิงเทคนิคและวิธีการเขียนอย่างเห็นได้ชัด

หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) บรมครูภาษาไทยและกวีมีชื่อเสียงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) กล่าวถึงเรื่องฤๅษีแปลงสารไว้ว่า “ฤๅษีแปลงสารนั้น คือเรียงอักษรกลับกัน กลับตัวหลังมาไว้หน้า กลับตัวหน้าไปไว้หลัง ดุจโคลงในจินดามะนี”

สำหรับฤๅษีแปลงสารใน จินดามณี ฉบับกรมศิลปากร (2561) ใช้หลักการเดียวกับที่สารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ อธิบายไว้ มีการสรรคำและร้อยเรียงเป็นบทร้อยกรอง ดังตัวอย่างเช่น

“กอัรษรวณษกลันวล้   ลพเลพา

อชื่ฤรีษงลปแรสา   บสืว้ไ

ดลัผนยพี้เนยลี่ปเนอลกรกา   ยลากบลัก

นสห์ท่เห์ล่เบลัห้ใ   นอ่านล้หเนป็เมษกเ”

สามารถแปลงความได้ว่า

“อักษรวรลักษณล้วน   เพลงพาล

ชื่อฤษรีแปลงสาร   สืบไว้

ผลัดเพี้ยนเปลี่ยนกลอนการ   กลายกลับ

สนเท่ห์เล่ห์ลับให้   อ่านเหล้นเป็นเกษม”

อีกบทหนึ่งคือ

“ลิตขิศอิศรเท้ไ   ฤนลบา

งงฟถี่นวท่วข่ารสา   มนุ่หน้าหเ

รรมคาทุศรเสนถา    งงยะลุงถึยลเ

มอำตยฤศรนจพจ้าเ   นนี่เช้าอพื่เดใ”

แปลงความว่า

“ลิขิตอิศเรศไท้   นฤบาล

ฟงงถี่ท่วนข่าวสาร   หนุ่มเหน้า

มรรคาทุเรศสถาน   ยงงลุะถึงเลย

อำมฤตยรศพจนเจ้า   เนี่นช้าเพื่อใด”

ทั้งนี้ บทโคลงข้างต้น มีคำที่เขียนต่างจากพจนานุกรม เช่น ฟงง (ฟัง) ถี่ท่วน (ถี่ถ้วน) ยงง (ยัง) ลุะ (ลุ) อำมฤตย (อำมฤต) รศ (รส) และ เนี่น (เนิ่น)

จะเห็นว่า ฤๅษีแปลงสารจากการให้ความหมายดังกล่าวนั้นต้อง “แปลง” มากกว่าหนึ่งขั้น คืออ่านแล้วจะงุนงงสงสัยก่อนในขั้นต้น หากทราบกลภาษาจึงจะสามารถถอดความจากโคลง โดยสลับตำแหน่งตัวอักษรหน้า-หลัง ให้สามารถจับใจความได้ก่อน แต่ไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะคำใหม่ที่เกิดขึ้นอาจต้องถูกตีความอีกรอบให้เป็นความหมายตรงกันข้าม จึงจะถูกต้องตามเจตนารมณ์และเนื้อหาแท้จริงจากผู้ประพันธ์

อย่างไรก็ตาม คำอธิบาย “เชิงเทคนิค” นี้ยังไม่ตอบข้อสงสัยว่าเหตุใด “ฤๅษี” จึงมา “แปลงสาร” แต่อย่างใด นั่นเพราะเรื่องราวเบื้องหลังสำนวนนี้อยู่ในวรรณคดีเรื่อง “พระรถเมรี”

พระรถเมรี

ที่มาของสำนวน “ฤๅษีแปลงสาร” จะต้องเล่าถึงเรื่อง พระรถเมรี ซึ่งเป็นวรรณคดีไทยที่กล่าวถึงกลอักษรชื่อ “ฤๅษีแปลงสาร” โดยพระฤๅษีในเรื่องใช้วิธีเขียนอักษรแปลงถ้อยคำของ นางยักขิณีสันธมาร ถึง นางเมรี ผู้เป็นธิดา การ “แปลงสาร” ในครั้งนั้นเป็นผลให้ “คำสั่งฆ่า” พระรถเสน (พระเอกของเรื่อง) แปรเปลี่ยนเป็นการต้อนรับและทำให้นางเมรีได้สมรสกับพระรถเสนไปเสียอย่างนั้น…

อันที่จริง เรื่องราวระหว่างพระรถกับนางเมรี มีอยู่หลายเวอร์ชั่น เป็นเรื่องเดียวกับนิทานพื้นบ้านไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อง นางสิบสอง กวีนิพนธ์ระดับปราชญ์ราชสำนักเรื่อง พระรถคำฉันท์ พระรถคำหวน และ พระรถนิราศ รวมถึงชาดกในคัมภีร์พุทธศาสนาเรื่อง รถเสนชาดก ในปัญญาสชาดก แต่ในชาดกนั้นนางเมรีถูกเอ่ยถึงในชื่อ “นางกังรี”

พระรถเมรีฉบับ รถเสนชาดก ถือเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด เพราะเล่าเรื่องต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะที่ฉบับหรือสำนวนอื่น ๆ นั้นเรื่องราวบางช่วงบางตอนขาดหายไป จึงขออ้างอิงเรื่องพระรถเมรีจากฉบับรถเสนชาดก เป็นหลัก แต่จะเรียกนางกังรีว่า “นางเมรี” เพื่อให้สอดคล้องกับสำนวนอื่น ๆ

เรื่องราวของพระรถเสนกับนางเมรี เกิดขึ้นในกาลศาสนายุคพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ก่อนพระโคดม ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) เศรษฐีผู้หนึ่งนามว่า “นนท์” ได้ถวายกล้วยน้ำว้า 12 ผล แด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอธิษฐานขอให้มีบุตรธิดาไว้สืบสกุล ภรรยาเศรษฐีจึงให้กำเนิดธิดา 12 คน หรือนางสิบสอง นั่นเอง ต่อมา ครอบครัวเศรษฐีประสบเหตุทำให้ต้องยากจน ไม่มีแม้กระทั่งข้าวปลาอาหารสำหรับเลี้ยงดูลูก ๆ เศรษฐีจึงลวงธิดาสาวทั้ง 12 นางไปปล่อยป่า

นางทั้งสิบสองร่อนเร่จนไปถึงคชปุรนคร นางยักขิณีสันธมารผู้ปกครองเมืองเห็นพวกนางก็นึกเมตตาสงสาร จึงแปลงกายในร่างหญิงมนุษย์และรับนางสิบสองไว้เป็นธิดาบุญธรรม แต่ภายหลังเมื่อนางสิบสองรู้ว่านางสันธมารเป็นยักขิณีและเมืองทั้งเมืองมีแต่ยักษ์ จึงเกิดความหวาดกลัวมารดาบุญธรรมและไม่อยากอยู่ในคชปุรนครอีกต่อไป จึงชวนกันหนีออกมาจนได้มาอภิเษกกับท้าวรถสิทธิ์ ราชาแห่งกุตารนคร

ฝ่ายยักขิณีสันธมารที่โกรธแค้นนางสิบสองได้ออกตามหาพวกนางจนทราบว่าอยู่กุตารนคร นางยักษ์แปลงเป็นหญิงงามร่ายมนตร์ให้ท้าวรถสิทธิ์หลงใหลแล้วตั้งนางเป็นอัครมเหสีแทน ก่อนแสร้งทำอุบายว่าป่วยหนัก ต้องใช้ดวงตาของนางสิบสองมาทำโอสถ ท้าวรถสิทธิ์ก็เชื่อฟังด้วยอำนาจเสน่ห์มนตรา สั่งให้ควักดวงตาทั้งคู่ของนางสิบสอง เว้นแต่นางน้องคนสุดท้องที่เหลือตาไว้หนึ่งข้าง แล้วจับพวกนางซึ่งกำลังตั้งครรภ์ไปขังไว้ในอุโมงค์ ส่วนดวงตาถูกนางสันธมารส่งไปให้นางเมรี ธิดาของนาง ให้เก็บซ่อนไว้ในเมืองยักษ์คชปุรนคร

ภายหลังเมื่อนางพี่ทั้งสิบเอ็ดครบกำหนดคลอดบุตร ความอดอยากจากการถูกจองจำทำให้พวกนางต้องฉีกเนื้อบุตรแบ่งกันกิน แต่นางน้องคนสุดท้องที่มีตาข้างหนึ่งนั้นมีพระโพธิ์สัตว์มาจุติในครรภ์ นางได้เฝ้าถนอมเลี้ยงดูบุตรจนเจริญวัยนามว่า “รถเสน” พระรถเสนยังสามารถออกจากอุโมงค์ได้ด้วยบารมี โดยออกไปเที่ยวเล่นชนไก่พนันแลกอาหารมาเลี้ยงมารดากับป้า ๆ จนชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วนคร ท้าวรถสิทธิ์เรียกตัวมาเข้าเฝ้าและได้ทราบว่าเป็นโอรสจึงบังเกิดความรักใคร่เอ็นดู

ฝ่ายนางยักษ์สันทมารคิดกำจัดพระรถเสน แสร้งทำอุบายป่วยอีกครั้งแล้วทูลท้าวรถสิทธิ์ว่า มีโอสถรักษาอาการป่วยอยู่ที่คชปุรนคร ขอให้ส่งพระรถเสนไปเอา แม้ทราบว่าเป็นอุบายของนางยักษ์แต่พระรถเสนที่ต้องการช่วยมารดาและป้า ๆ ตัดสินใจรับเรื่องแล้วเลือกม้าทรงเป็นพาหนะก่อนออกเดินทาง นางสันธมารดำเนินแผนการต่อโดยฝากจดหมายติดม้าไปว่าหากพระรถเสนถึงเมืองยักษ์เมื่อใดให้ฆ่าเสีย

แต่เดชะบุญที่ระหว่างทางพระรถเสนแวะพักที่อาศรมของพระฤๅษี พระฤๅษีทราบเนื้อความจดหมายก็เกิดความเมตตา จึงช่วย “แปลงสาร” เปลี่ยนข้อความในจดหมายเสียใหม่

พระรถเสนลาพระฤๅษี ออกเดินทางต่อจนถึงคชปุรนคร พบไพร่พลยักษ์ขวางทางอยู่ จึงส่งจดหมายให้ เสนายักษ์อ่านแล้วจัดงานต้อนรับอย่างเอิกเกริกและจัดงานอภิเษกให้พระรถเสนกับนางเมรี พระรถเสนจึงได้ปกครองคชปุรนคร ทั้งหมดเป็นผลพวงจากการ “แปลงสาร” ของพระฤๅษี ชะตากรรมของพระรถเสนจึง “พลิก” จากความตายกลายเป็นได้เสวยสุขอยู่ในเมืองยักษ์

แม้การอภิเษกระหว่างพระรถเสนกับนางเมรีเป็นผลจากการ “แปลงสาร” เพื่อช่วยชีวิตพระรถเสนเอง แต่ทั้งสองครองคู่กันด้วยเสน่หาและความรักอย่างลึกซึ้ง กระนั้นการสุขสมอย่างคนหนุ่มสาวในคชปุรนครทำให้พระรถเสนหลงลืมวันเวลาจนล่วงเข้าเดือนที่ 7 ม้าทรงได้ทูลเตือนว่า ถึงเวลาต้องกลับไปหามารดาแล้ว พระรถเสนจึงจำต้องจากนางเมรีไปทั้งที่ยังอาลัยรัก

ขั้นแรก พระรถเสนออกอุบายให้นางเมรีพาไปประพาสอุทยานเพื่อนำต้นบุนนากและคิรีบุนนาก (มะม่วงหาวมะนาวโห่) สำหรับนำไปให้นางสันธมาร ก่อนจะมอมสุราเมียรักเพื่อล้วงความลับเกี่ยวกับสถานที่เก็บดวงตาและยาวิเศษต่าง ๆ เพื่อใช้ช่วยนางสิบสอง นางเมรีในสภาพสติไม่เต็มร้อยจึงคลายความลับไปเสียสิ้น

พอนางเมรีหลับ พระรถเสนจึงชิงดวงตาและหยูกยาทั้งหลายขึ้นม้าควบหนีไปกลางดึก นางธิดายักษ์ตื่นขึ้นมาไม่พบสามีก็นำไพร่พลออกติดตาม พระรถเสนแม้อาลัยถึงนางเมรีแต่จำต้องฝืนใจไว้เพื่อกลับไปช่วยมารดาก่อน จึงโปรยห่อยาที่ขโมยมาให้กลายเป็นมหาสมุทรขวางนางกับเหล่าไพร่พลยักษ์ทั้งหลายไว้ นางเมรีก็คร่ำครวญจากอีกฟากมหาสมุทรขอให้สามีกลับคืนคชปุรนคร แต่ไม่เป็นผล จนนางสิ้นใจอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรนั้น

ครั้นพระรถเสนกลับมาถึงกุตารนครโดยสวัสดิภาพ นางยักขิณีสันธมารทราบเรื่องราวทั้งหมดว่าถูกซ้อนกลจนเสียธิดาก็ตรอมใจจนถึงแก่ความตาย พระรถเสนนำดวงตาคืนป้า ๆ และมารดาพร้อมใช้โอสถรักษาจนหาย ส่วนท้าวรถสิทธิ์ฟื้นคืนสติจากมนตร์นางยักษ์ได้ตั้งนางสิบสองให้เป็นมเหสีดังเดิม และให้พระรถเสนปกครองบ้านเมืองสืบต่อไป

งานประพันธ์บางสำนวนเล่าว่า พระรถเสนพยายามกลับไปหานางเมรีที่อีกฝั่งมหาสมุทร แต่เมื่อพบว่าสิ้นชีพแล้วก็โศกเศร้าเสียใจจนสลบไป เป็นอันว่าเรื่อง “พระรถเมรี” ก็จบลงแบบ “สุขนาฏกรรม” ในแง่คติความกตัญญูกตเวที เพราะพระรถเสนเอาตนเข้าเสี่ยงภัยอันตรายนานัปการเพื่อช่วยมารดาได้ แต่เป็น “โศกนาฏกรรม” ในแง่ชีวิตรักพระ-นาง ในเรื่อง เพราะทั้งพระรถเสนและนางเมรีต่างจำต้องพรากจากกันอย่างไม่เต็มใจ

สำหรับฉากพลิกผันชะตาชีวิตตัวเอกของเรื่องอย่างตอน พระฤๅษีแปลงสารนางยักขิณีสันธมารนั้น ไม่ว่าพระฤๅษีจะใช้กลวิธีใด “แปลง” สารข้างต้น แต่ “ฤๅษีแปลงสาร” ได้กลายเป็นชื่อเรียกวิธีเขียนหนังสือลับและงานประพันธ์ลักษณะหนึ่งไปเรียบร้อย พร้อมกับที่ประโยคเดียวกันนี้ ได้กลายเป็นสำนวนไทยที่คุ้นหูในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กนกวรรณ  ทองตะโก, สารานุกรม สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (8 มีนาคม 2553). ฤๅษีแปลงสาร. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=ฤๅษีแปลงสาร-๘-มีนาคม-๒๕๕

กรมศิลปากร เรียบเรียง. (2548) พระรถคำฉันท์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566.

“ฤๅษีแปลงสาร” ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566.

นิตยา กาญจนะวรรณ. ฤๅษีแปลงสาร ในจินดามณี. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_112907.

มานานุกรมวรรณคดีไทย. พระรถเมรี. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566. จาก https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=381.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 26 มิถุนายน 2566