“รหัสลับ” ว่าด้วยการสื่อสารแบบกลวิธีลับๆ ก่อนยุคภาษา “ลู” มีภาษา “ส่อ”

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ ๕)

เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก ท่าน้ำริมคลองบางหลวงใกล้บ้านข้าพเจ้ามีเรือแบบเรือจ้างแต่โตกว่ามาจอด สินค้าที่นำมาขายครั้งละมาก ๆ คือใบยาจืดชนิดกินกับหมาก ร้านประจำรับซื้อหมด เป็นเรือที่มาจากจังหวัดใกล้ ๆ บางลำก็มีข้าวสารมาขาย เป็นข้าวที่มีชื่อเสียง แต่พวกนี้ก็โกหกเก่ง และอวดฉลาดอย่างโง่ ๆ จึงมีบางครั้งที่แม้เรือของเขาซึ่งจอดอยู่หน้าวัดมอญใกล้โรงพักบางยี่เรือหายไปทั้งลำ

คนที่มากับเรือแบบนี้ที่เป็นคนหนุ่ม ๆ ก็มี ข้าพเจ้าเคยได้ยินพวกเขาพูดกัน แต่ฟังไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร บ้านข้าพเจ้าอยู่ใกล้ทางรถไฟสายคลองสาน-มหาชัยด้วย จึงมีคนมอญมาขึ้นรถรางรถไฟเสมอ คนมอญพูดกันก็เคยได้ยิน เสียงคล้ายคนไทย แต่ฟังไม่ออก ที่ว่าคล้ายเสียงคนไทย คงเป็นเพราะเขากินหมากนั่นเอง ข้าพเจ้าคิดว่าคนไทยสมัยนี้พูดไม่เหมือนคนไทยสมัยก่อน เพราะไม่กินหมากกันแล้ว

Advertisement

การที่ชาวเรือหนุ่มจากต่างจังหวัดพูดกัน ข้าพเจ้าฟังไม่รู้นั้น ต่อมาเพื่อนที่เขาฉลาดกว่าข้าพเจ้า ได้อธิบายให้ฟังว่าคนพวกนี้พูดภาษาไทยโดยเติมคำไปข้างหน้าแล้วกลับ เช่น จะพูดว่า “กินข้าว” ก็ดัดแปลงโดยมีคำว่า “ส่อ” อยู่ข้างหน้า คือ “ส่อกิน” แล้วกลับเป็น “ซินก่อ” และ “ส้าวค่อ” เมื่อเราจับคำว่า “ส่อ” ที่นำหน้าได้ก็เข้าใจคำพูดของพวกนี้ได้หมด คืนหนึ่งข้าพเจ้านั่งรับประทานข้าวต้มกุ๊ยข้างโรงหนังตลาดพลู แม้ตอนสงครามข้าวต้มก็ยังขายชามละ 1 สตางค์ กับข้าว 1 สตางค์ ถึง 5 สตางค์ ถ้าเป็นไก่เป็ดก็จานละ 15 สตางค์ เป็นอย่างต่ำ เมื่อเล็ก ๆ ข้าพเจ้าชอบกินแกงจืดใส่ปลิงทะเลชามละ 10 สตางค์ เมื่อไม่กี่วันมานี้คุยกับเพื่อนเรื่องอาหาร ข้าพเจ้ายังนึกว่าปลิงทะเลมีราคาไม่แพง ครั้นได้ยินเพื่อนบอกราคาก็ตกใจ เชื่อว่าต่อให้ถูกรางวัลที่ 1 คงไม่กล้ารับประทาน

ใกล้โต๊ะที่ข้าพเจ้านั่งกินกับเพื่อน มีชาวเรือหนุ่ม ๆ 2 คน คุยกันเบา ๆ คนหนึ่งถามอีกคนหนึ่งว่า “เซ็นป่อ…ไซอะรอ” แปลเป็นไทยว่า “เป็นอะไร” คนถูกถามตอบเสียงปกติ คงคิดว่าเราฟังไม่ออกว่า “ส่องหนอ…ไซหน่อ” (“หนองใน” – กามโรคชนิดหนึ่งที่เป็นกันชุกชุมมากสมัยก่อนและสงครามเลิกใหม่ ๆ กลายเป็นโรคเข้าข้อออกดอก คือ เกิดแผลใหญ่เต็มตัว แผลเช่นนี้ชาวบ้านในสมัยสงครามเรียกว่า “ดอกซากุระ” โรคนี้ขึ้นสมองก็ถึงตายได้)

เพื่อนข้าพเจ้าหัวเราะลั่น ชายหนุ่ม 2 คน หันมามองตาเขียว เพื่อนจึงพูดกับข้าพเจ้าว่า เมื่อหัวค่ำเขาดูหนังเรื่องสองเกลอตลกอ้วนผอม หัวเราะแทบตาย แล้วก็หัวเราะอีก ชาย 2 คน จึงจ่ายค่าข้าวต้มแล้วออกจากร้านไป

ข้าพเจ้าคิดว่าการรักษาความลับในการติดต่อกันทางหนังสือมีมานานแล้ว ในเรื่อง “พระรถ-เมรี” มีกล่าวถึงพระฤๅษีแปลงสาร คือ ดัดแปลงแก้ไขข้อความที่นางยักษ์แม่ของนางเมรีเขียนสั่งให้เมรีกินพระรถ (พระเอก) เสียทันทีที่ไปถึง เป็นให้ต้อนรับอย่างดี พระรถก็รอดตาย ในนิตยสารหลังสงคราม คือ “แถบทอง” กล่าวถึง “ไทยนับสาม-ไทยนับห้า” ข้าพเจ้าเปิดหนังสือพจนานุกรมดู แปลว่า “ชื่อวิธีเขียนหนังสือลับอย่างโบราณ เมื่อจะอ่านต้องนับอ่านตัวที่ 3 หรือตัวที่ 5” อีกแบบหนึ่งเรียกว่า “ไทยหลง”

ในรัชสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช ขุนนางคนหนึ่งมีอิทธิพลในหมู่ข้าราชการ คือ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ขณะนั้นมารดาของท่านสิ้นชีพ ท่านจัดงานปลงศพที่วัดกุฏิ บรรดาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกรุงไปช่วยงานถึงกับนอนค้างก็มาก ฝ่ายข่าวกราบทูลว่าเจ้าพระยาฯ จัดงานศพบังหน้า เห็นจะประทุษร้ายต่อพระองค์เป็นแน่ ทรงเชื่อรายงานนั้น ให้เตรียมพร้อมเต็มอัตรา ตรัสให้ขุนมหามนตรีออกไปรับเจ้าพระยาฯ เข้ามาในวัง ขณะนั้นจมื่นสรรเพชรภักดีลอบส่งข่าวถึงเจ้าพระยาฯ ก่อนว่า
“พระโองการจะให้หาเข้ามาดูมวย บัดนี้เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เมื่อเจ้าคุณจะเข้ามานั้น ให้คาดเชือกเข้ามาทีเดียว”

ในสมัยที่ยังไม่มีนวมสำหรับสวมมือเพื่อชกกันนั้น มวยไทยใช้ด้ายดิบพันมือแทนนวม พันสูงขึ้นมาจนถึงใต้ศอก ชุบน้ำแล้วนำไปคลุกทราย ชกถูกเฉียดๆ เนื้อผู้ถูกชกหลุดตามหมัดไป เลือดสาดกระจาย เป็นเรื่องธรรมดาของการชกมวยไทย การสวมนวมชกเกิดขึ้นทีหลังเมื่อมีมวยสากลแล้ว

หนังสือลับที่จมื่นสรรเพชรภักดีให้คนลักลอบไปส่งถึงเจ้าพระยาฯ เป็นรหัสลับ รู้กันเฉพาะเจ้าพระยาฯ กับผู้จัดส่งเท่านั้น คนอื่นที่จะรู้ได้ก็ต้องเป็นผู้สันทัดกรณีจริง ๆ ส่วนเจ้าพระยาฯ ปรากฏว่าอ่านข้อความนั้นก็ถอดรหัสได้ทันที จึงตั้งคำถามแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่มาช่วยงานว่า ถ้าเรารักราชสมบัติ ท่านทั้งหลายเห็นจะพ้นเราหรือ เมื่อพวกข้าราชการคล้อยตามท่านก็ว่าเจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้ว เราก็จะทำตามรับสั่ง

รายงานของสายลับที่ส่งถึงเจ้าพระยาฯ นั้น เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้โดยฉับพลัน คนที่อยู่ภายหลังเหตุการณ์หลายร้อยปี คงไม่สงสัยว่า ถ้าท่านเจ้าพระยาฯ ไม่ได้พร้อมที่จะยึดอำนาจอยู่แล้ว ก็คงจะเข้ามาเฝ้าฯ ตามรับสั่ง และกำลังพลซึ่งเป็นบริวารของท่าน กับข้าราชการที่ไปช่วยงานมีมากพอที่จะทำการพลิกผันแผ่นดินได้ วันนั้นเป็นวันเสาร์ เจ้าพระยาฯ ขี่ม้าดำ แต่งดำนำข้าราชการที่อยู่ในอำนาจบุกพระราชวัง ถ้าวันนั้นกองรักษาการณ์วังหลวง มีนายทหารอย่างพันท้ายนรสิงห์สักคนหนึ่ง คงได้ฟันกันละเอียดอยู่ที่หน้าวังนั้นเอง เห็นจะไม่ได้เข้าไปในวัง นอกจากจะข้ามศพทหารกองรักษาการณ์เข้าไป

กองทัพเรือสหรัฐที่เสียหายจากการที่ญี่ปุ่นเข้าโจมตีอ่าวเพิร์ล ๗ ธันวาคม ๑๙๔๑ (ภาพจาก https://en.wikipedia.org)

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดยุทธศาสตร์สำคัญของอเมริกาในแปซิฟิก ที่ญี่ปุ่นพยายามยึดให้ได้ คือ เกาะมิดเวย์ และในการป้องกันตนเองของมิดเวย์นั้น ทหารอเมริกันไม่สามารถอ่านรหัสลับของญี่ปุ่นที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันได้ บางคำก็ไม่รู้เลย ที่สำคัญคือ อเมริกาไม่รู้ว่าญี่ปุ่นใช้รหัสคำว่า “มิดเวย์” ว่าอะไร ในที่สุดฝ่ายโต้จารกรรมของอเมริกาให้ทางเกาะมิดเวย์ส่งข่าวลวงเป็นข้อความไปยังฐานทัพใหญ่ว่า “เครื่องทำน้ำจืดเสีย” ญี่ปุ่นก็ส่งข่าวว่า “เครื่องทำน้ำจืดที่ AF เสีย” จึงรู้กันว่า “AF” คือ “มิดเวย์” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บรรดาข่าวต่าง ๆ เกี่ยวแก่เกาะมิดเวย์ที่ทหารญี่ปุ่นส่งให้กันก็กระจ่างแจ้ง ทำความเสียหายแก่จักรพรรดินาวีอย่างมหาศาล และเป็นจุดกลับของ “สงครามมหาอาเซียบูรพา”

ก่อนญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐฯ นาวีที่อ่าวเพิร์ล สายลับชาวเปรูรายงานว่าญี่ปุ่นจะโจมตีอ่าวเพิร์ล วันที่ 30 พฤศจิกายน 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งไม่มีใครเชื่อ และเมื่อผ่านวันนั้นไปแล้วก็แน่ใจว่าไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ในขณะที่โอวาทยุทธการของแม่ทัพเรือที่ส่งไปถึง พล.ร.ท. นากูโม แห่งกองเรือเฉพาะกิจ มีความว่า “ปีนเขานิอิตากะ” แปลว่า “เข้าตีอ่าวเพิร์ล 7 ธันวาคม 1941 เวลา 07.55 น.

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2561