“เมรี” หรือ “เมรีขี้เมา” จากเรื่อง “พระรถเมรี” ฤๅชื่อนี้จะมีที่มาจากเครื่องดื่มมึนเมาจริง ๆ ?

สาวๆ จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก คลองบางหลวง
ภาพ “สาวๆ” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง

เคยสงสัยไหม ทำไม “เมรี” จากบทละครเรื่อง “พระรถเมรี” ถึงได้ชื่อว่า “เมรี” เป็นเพียงแค่ชื่อที่ตั้งขึ้นมาเฉย ๆ เพียงเพราะว่าไพเราะ หรือแท้จริงแล้วมีความหมายแอบแฝงอยู่? 

“เมรี” เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญเรื่อง “พระรถเมรี” หรือเรื่อง “นางสิบสอง” ปัจจุบันชื่อและเรื่องราวของนางยังคงเป็นสำนวนฮิตติดปากของคนไทย นั่นคือ “เมรีขี้เมา” ซึ่งมักใช้ในสถานการณ์เรียกผู้หญิงที่ชอบดื่มเหล้า หรือมีอาการมึนเมาจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ 

เหตุที่ทำให้สำนวนนี้เกิดขึ้นมาได้ ต้องเล่าย้อนไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบทละครก่อน เล่าย่อ ๆ คือ “เมรี” เป็นธิดาของท้าวปทุมราชกับนางศรีสุดา แห่งเมืองกำพุช ทั้งยังเป็นลูกบุญธรรมของนางยักษ์ นามว่า “สารตรา” ต่อมานางยักษ์ได้เดินทางออกจากเมืองทานตะวัน เนื่องจากจะไปตามหาเหล่าลูกบุญธรรมคือนางทั้งสิบสอง ซึ่งนางเคยชุบเลี้ยงไว้แต่หนีไป 

นางทั้ง 12 คน ที่หนีไปนั้น ได้ไปแต่งงานกับท้าวรถสิทธิ์ ทำให้นางยักษ์ที่มีความคับแค้นในใจ ได้แปลงกายเป็นหญิงงามนามว่า “สนธมาลี” ร่ายมนต์ให้ท้าวรถสิทธิ์หลงรัก จนได้ตำแหน่งใหญ่กว่านางสิบสอง 

แม้ว่าจะได้สามีมาเป็นของตัวเอง แต่นางยักษ์ก็ไม่หยุดเพียงเท่านั้น ยังแกล้งป่วย และบอกกับเจ้าเมืองว่าต้องใช้ตาของนางทั้ง 12 คนเท่านั้นถึงจะหายจากโรคนี้ได้ ด้วยความลุ่มหลง ท้าวรถสิทธิ์ก็ทำตามที่นางบอก แต่มีเพียงนางเภาที่ถูกควักตาข้างเดียว เนื่องจากพระองค์รักมากที่สุด ก่อนจะนำพวกนางยัดเข้าคุกอุโมงค์มืด 

วันเวลาผ่านไป เหล่านางสิบสองก็ใช้ชีวิตแบบอด ๆ ยาก ๆ ขณะที่ท้องบุตร และเมื่อลูกออกมาลืมตาดูโลก นางทั้ง 11 คนแรกก็กินลูกของตัวเอง หลงเหลือแค่เพียงนางเภาที่ยังเก็บลูกไว้เลี้ยงดูจนเติบใหญ่นามว่า “รถเสน”

ต่อมานางยักษ์ตัดสินใจจะกำจัดรถเสน โอรสของนางเภา น้องคนสุดท้องจากทั้งหมด 12 คน จึงลวงให้รถเสนเดินทาง พร้อมทั้งถือสารไปที่เมืองทานตะวัน ภายในนั้นระบุให้นางเมรีสังหารพระรถเสนทิ้ง ทว่าชายหนุ่มกลับพบพระฤๅษีเสียก่อน และพระฤๅษีก็ช่วยแปลงสารให้ จนเมื่อถึงเมืองรถเสนก็ได้อภิเษกกับนางเมรี ขึ้นครองราชย์เมืองทานตะวัน แทนที่จะโดนกำจัด

วันเวลาผ่านไป รถเสนได้ล่อลวงให้นางเมรีพาไปเดินชมอุทยานในเมือง ระหว่างนั้นลูกชายของนางเภาก็แอบเก็บผล “มะงั่ว” และ “มะนาว” ผลไม้วิเศษประจำเมืองไปด้วย ทว่าการเก็บของพิเศษพวกนี้ก็มีอุปสรรคเพราะต้นไม้ทั้ง 2 ได้ส่งเสียงร้องเตือนไปยังนางเมรี

เมื่อนางเมรีได้ยินดังนั้นก็คิดว่าจะมีอาเพศ จึงจัดพิธีบวงสรวงล้างเพศภัย รถเสนครั้งมีโอกาสจึงได้ล่อลวงให้นางเมรีดื่มน้ำเมา ก่อนจะแอบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของวิเศษต่าง ๆ ที่ห้อยโหนตามหลังคา รวมถึงที่ซ่อนดวงตาของแม่ที่นางยักษ์เคยควักแล้วนำไปซ่อน เพื่อหวังจะนำไปช่วยแม่และป้าๆ ที่กำลังประสบภัย

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน นางเมรีตอบคำถามไปทั้งหมด ก่อนจะผล็อยหลับไปเนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ 

นี่เองเป็นที่มาของสำนวน “เมรีขี้เมา” และใช้กันแพร่หลาย ถึงขั้นที่ละครทีวี “นางสิบสอง” ของ บริษัท สามเศียร จำกัด ที่ออกฉายผ่านทางช่อง 7 ใน พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2543 มีเพลงนำละครที่มีคำร้องว่า “สามจอกสี่จอกมากรอกเข้า นางเมรีขี้เมาก็หลับไป” 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้นักวิชาการต่างคาดเดากัน ต่าง ๆ นานา ว่า หรือชื่อ “เมรี” จะไม่ได้เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพียงเพราะว่าไพเราะ แต่อาจเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ที่มีสุราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย? 

การวิเคราะห์นี้เผยแพร่อยู่ในเพจเฟซบุ๊ก “สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดย ผศ. ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอธิบายไว้ว่า เขาได้พยายามหาต้นตอของชื่อ เมรี มาสักพัก แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ จนไปค้นในพจนานุกรมชื่อของเด็กอินเดีย พบว่ามีชื่อ มีรยา (มี-ระ-ยา मीरया) มีความหมายอันดีงามว่า ผู้ภักดีต่อพระกฤษณะ 

ทว่าเขาก็คิดว่าชื่อนี้น่าจะไม่ใช่ที่มาคำว่า “เมรี” และคาดคะเนว่าอาจมีที่มาหรือเกี่ยวพันกับเหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมาก็เป็นได้ 

“… สามจอกสี่จอกกรอกเข้า เมรีขี้เมาก็หลับไป…

เราคงเคยได้ยินบทร้องบทนี้ผ่านหูกันมาบ้าง

ผู้เขียนเลยนึกสงสัยว่า ชื่อเมรีนี้มีที่มาอย่างไร พยายามหาเท่าไหร่ก็ยังไม่ปรากฏ (ท่านผู้ใดทราบ กรุณาบอกด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง)

แต่พอไปดูในพจนานุกรมชื่อของเด็กอินเดีย พบว่า มีชื่อ มีรยา (มี-ระ-ยา मीरया) เป็นชื่อเด็กหญิง คำแปล คือ ผู้ภักดีต่อพระกฤษณะ ซึ่งคิดว่าคงจะไม่ใช่ที่มาของชื่อ ‘เมรี’ เป็นแน่

เลยคิดไปว่า ไม่แน่ชื่อนี้อาจจะเกี่ยวพันกับคำที่แปลว่า ‘เหล้า’ เครื่องดื่มมึนเมา ‘น้ำเมา’ ก็เป็นได้”

ผศ. ดร. ชานป์วิชช์ ได้ยกและอธิบายคำว่า “เหล้า” ในภาษาบาลี และสันสกฤต ที่อาจเกี่ยวข้องกับชื่อ “เมรี” โดยกล่าวว่า คำว่าเหล้าในภาษาบาลี ใช้คำว่า สุรา อาสวะ และเมรยะ (ซึ่งในไทยใช้คำว่าเมรัย) ส่วนสันสกฤต มีคำว่า สุรา อาสวะ และไมเรยะ ทั้งยังพูดถึงรากของแต่ละคำว่ามีความหมายอย่างไร ว่า…

“คำว่า สุรา ในวรรณคดีบาลี ขยายความว่า เป็นเครื่องดื่มหมักดอง มีวัตถุดิบ คือ แป้งบด/แป้งโม่ (ปิฏฺฐ), ขนม (ปูว – อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอย่างไร สันสกฤตใช้ว่า ปูป- แปลว่า cake, a kind of bread เป็นขนมทำจากแป้ง), ข้าวสุก (โอทน), เหล้าที่ใส่ส่าเหล้าหรือแป้งข้าวหมาก (กิณฺณ) เข้าไป หรือ ผสมกับส่วนผสม/เครื่องปรุง (สมฺภาร)

ในภาษาสันสกฤตก็ใช้ว่า สุรา เช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก กริยาธาตุ ‘สุ’ คั้น สกัด กลั่น พจนานุกรมให้ว่า ไม่เกี่ยวกับ คำว่า ‘สุร’ เทวดา ผู้กล้า แต่อย่างใด แต่ในบทวิเคราะห์ศัพท์ทางบาลี มีบทหนึ่งบอกว่า ปวนฺตํ สุรํ กโรตีติ สุรา เครื่องดื่มที่ทำให้ผู้ดื่มเป็นคนกล้า เรียกว่า สุรา เทวดาก็แปลว่า ผู้กล้า แต่ทรงศีลไม่ดื่มสุรา ในขณะที่เทวดาสันสกฤตชอบน้ำเมา น้ำโสม

ส่วนคำว่า เมรยะ / ไมเรยะ นั้น เป็นเครื่องดื่มของมึนเมาเช่นเดียวกัน ในวรรณคดีบาลีกล่าวว่า เมรัย มีประเภทต่างๆ ได้แก่ เครื่องดื่มหมักจากดอกไม้ (ปุปฺผ-), ผลไม้ (ผล-), น้ำผึ้ง (มธุ-),น้ำตาลอ้อย/น้ำอ้อยงบ (คุฬ-) หรือ ส่วนผสม/เครื่องปรุง ในส่วนคำอธิบายใช้รูปสมาสกับคำว่า ‘อาสว’ ของหมักดอง ของมึนเมา เป็นคำพ้องความหมายกับ เมรัย

ในสันสกฤต ไมเรยะ หมายถึง เครื่องดื่มมึนเมาประเภทหนึ่ง มีคำอธิบายว่า ไมเรยะ เป็นส่วนผสมระหว่าง ‘สุรา’ คือ เหล้าหมักจากจำพวกแป้ง กับ ‘อาสวะ’ ซึ่งเป็นของหมักดองหรือ เหล้าสกัด หรือคั้นจากวัตถุดิบจำพวกน้ำตาล น้ำอ้อย น้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้”

จะเห็นว่า คำอธิบายดังกล่าวที่อาจาย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ได้พูดถึงนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงได้ว่าแท้จริงแล้วชื่อ “เมรี” นั้นเกี่ยวข้องกับข้อสันนิษฐานจริงหรือไม่? 

แต่ในแง่ของคนเขียนก็อาจได้แรงบันดาลใจมาจากคำเหล่านี้ก็เป็นได้…ใครจะรู้…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.facebook.com/southasianlanguageschula/photos/1143349589059966

ธัชกร นันทรัตนชัย, ชุติมา มณีวัฒนา. (2564). ที่มาของวาทกรรม “เมรีขี้เมา” ในสังคมไทย. การประชุมวิชาการและนําเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 (น. 607-616). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/character-detail.php?n_id=3233

www.silpa-mag.com/culture/article_111625


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 8 มกราคม 2567