คณะทูตสยามของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถูกราชสำนักชิงตำหนิ ทำผิดธรรมเนียม หวังแต่ประโยชน์การค้า 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเครื่อง ชุดจีน จีน คณะทูตสยามของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ภาพหน้าปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2560

ไม่ตำหนิ แต่… ราชสำนักชิง ระบุ คณะทูตสยามของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรี กลับมองหาแต่ผลประโยชน์การค้า หวังผลกำไรอย่างเดียว

ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ราชสำนักสยามได้ส่งทูตไปยังแผ่นดินต้าชิง เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักชิงสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง นัยสำคัญประการหนึ่งคือเพื่อให้ราชสำนักชิงรับรองสถานะของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี พระราชอาณาจักรแห่งใหม่หลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลายไปเมื่อ พ.ศ. 2310 และอีกนัยหนึ่งคือการไป “จิ้มก้อง” ครั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์การค้าอันมากมายมหาศาลในแผ่นดินต้าชิง

จักรพรรดิเฉียนหลง

คณะทูตสยามของสมเด็จพระเจ้าตากสิน (ชุดสุดท้ายในรัชกาล) มีพระยาสุนทรอภัยเป็นราชทูต ออกเดินทางจากกรุงธนบุรี เมื่อวันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน 7 จ.ศ. 1143 ปีฉลูตรีศก หรือตรงกับวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2324 ใช้เวลาในการเดินทาง 33 วัน จึงมาถึงเมืองกวางตุ้ง 

Advertisement

นอกจากพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการที่จะถวายแด่พระจักรพรรดิจีนแล้วนั้น คณะทูตยังมี 1. เครื่องราชบรรณาการนอกรายการ, 2. ของขวัญ ที่เตรียมไว้สำหรับกำนัลขุนนางและพ่อค้าจีน และ 3. สินค้า นัยว่านำมาค้าขายแลกเปลี่ยน เพื่อหาเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ราชสำนักชิงไม่พอใจ เพราะถือเป็นเรื่องผิดธรรมเนียม ไม่สมควรปฏิบัติ

ดังปรากฏใน จดหมายเหตุรัชกาลเกาจง (เกา จงสือลู่) บรรพ 1137 ลงวันที่ 7 กันยายน 2324

กรณีเครื่องราชบรรณาการนอกรายการ ราชสำนักชิงชี้แจงว่า

“สำหรับเครื่องราชบรรณาการนอกรายการ ซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน…”

“สิ่งของนอกเหนือรายการที่แจ้งมา อันได้แก่ ไม้ฝาง แลงาช้าง เป็นต้นนั้น เป็นเครื่องราชบรรณาการนอกรายการ บารมีราชสำนักจีนแผ่ไพศาลเหนืออาณาประเทศในใต้หล้า แต่ละประเทศควรถวายเครื่องราชบรรณาการเท่าใดล้วนมีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ใช่ว่าจักเพิ่มเติมเองตามอำเภอใจ”

กรณีของขวัญ ราชสำนักชิงชี้แจงว่า

“สำหรับของขวัญที่เตรียมจักนำไปกำนัลส่วนราชการต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติ…”

“ของขวัญสำหรับกำนัลกรมพิธีการ สำนักข้าหลวงใหญ่กวางตุ้ง กว่างซี ที่ว่าการมณฑลกวางตุ้ง แลบรรดานายห้าง…ยิ่งเป็นเรื่องไร้เหตุผล แสดงว่าไม่ทราบธรรมเนียมปฏิบัติ ราชสำนักจีนเคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบ บรรดาขุนนางน้อยใหญ่ทั้งในแลนอกราชสำนัก มีหรือที่จักรับของกำนัลจากประเทศท่าน…หากทางฝ่ายเรากราบบังคมทูลแทนท่านตามที่แจ้งมา รังแต่จักเพิ่มความผิดให้ท่านโทษฐานไม่รู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร จึงแจ้งให้ทราบอย่างแจ่มชัดตามนี้…”

กรณีสินค้า นัยว่านำมาค้าขายแลกเปลี่ยนเพื่อหาเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ราชสำนักชิงชี้แจงว่า

“แต่ไหนแต่ไรมาเมื่อขุนนางต่างชาติที่เข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการเดินทางถึงประเทศจีนแล้ว ราชสำนักจีนมีค่าใช้จ่ายแลเสบียงในการเดินทางทั้งหมดให้เป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจำหน่ายสินค้า เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้สอย…”

โดยสรุปแล้ว ทั้งเครื่องราชบรรณาการนอกรายการ ของขวัญ และสินค้า เหล่านี้นั้น คณะทูตสยามนำไปยังแผ่นดินต้าชิงก็เพื่อประโยชน์ทางการค้าทั้งสิ้น แต่เครื่องราชบรรณาการนอกรายการก็ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ ของขวัญสำหรับกำนัลก็ดูเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และขัดต่อธรรมเนียมเช่นกัน สินค้าที่จะนำไปขายโดยอ้างว่าเพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายนั้น เรื่องนี้ราชสำนักชิงก็มีค่าใช้จ่ายและเสบียงให้อยู่แล้ว 

ภาพ “พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

ไม่เพียงเท่านี้ ราชสำนักชิงยังตำหนิฝ่ายสยามจากเรื่องการขอใบอนุญาตบรรทุกสินค้าไปค้าขายที่เซี่ยเหมินและหนิงปอ และเรื่องการขอให้พวกพ่อค้าจีนช่วยหาไต้ก๋งสำเภาสำหรับติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เครื่องราชบรรณาการนอกรายการที่ราชสำนักชิงรับไว้มีแค่งาช้าง กับนอระมาด (นอแรด) เครื่องราชบรรณาการนอกรายการชิ้นอื่น ๆ อนุญาตให้นำไปขายได้ และให้ยกเว้นการเก็บภาษี 

“ส่วนสินค้าของประเทศดังกล่าวที่จักนำออกจำหน่ายที่กวางตุ้งนั้น ถ้าหากให้นำกลับไปก็รังแต่จักสร้างความลำบากในการเดินทาง ไม่ได้รับผลประโยชน์อันใด แลยังไม่เห็นอกเห็นใจคนซึ่งอยู่ในดินแดนอันไกลโพ้น สินค้าจำนวนนี้ควรปล่อยให้จำหน่ายกันเองที่กวางตุ้ง ไม่จำเป็นต้องให้ทางราชการจัดการ อีกประการหนึ่ง…”

ด้วยเพราะเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งฝ่ายสยามกระทำผิดธรรมเนียมปฏิบัติหลายประการ จึงทำให้ราชสำนักชิงกล่าวตำหนิ (?) สยามว่า

“ประเทศท่านเพิ่งขออนุญาตเข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการ กลับมองหาแต่ผลประโยชน์ทางการค้า เพื่อหวังผลกำไรถ่ายเดียว หาได้แสดงถึงความจงรักภักดีที่ท่านมีต่อราชสำนักจีนไม่ ฝ่ายเราเห็นว่าประเทศท่านอยู่ถึงต่างแดนอันไกลโพ้น คงไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมปฏิบัติของจีน จึงไม่ได้ตำหนิติเตียน เพียงแต่บอกกล่าวตามความจริงให้ทราบไว้ ต่อไปควรมีความนบนอบอ่อนน้อมมากกว่านี้ แลปฏิบัติตามกฎระเบียบของขุนนางอย่างเคร่งครัด จักละเมิดมิได้…”

อย่างไรก็ตาม คณะทูตสยามของสมเด็จพระเจ้าตากสินชุดนี้ได้ทำหน้าที่เจริญสัมพันธไมตรีกับแผ่นดินต้าชิงเป็นอย่างดี เมื่อคณะทูตเดินทางกลับถึงสยาม ก็ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินถูกสำเร็จโทษแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์, “โอละพ่อ! กรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทูลขอพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงจีน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 45 : ฉบับที่ 10.

ต้วนลีเซิง. แปลโดย ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี. “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับจักรพรรดิจีน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 7 : ฉบับที่ 1.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2567