ท่าทีจีนต่อสถานะกษัตริย์ของ ‘พระเจ้าตากสิน’ ใน ‘ชิงสือลู่’ ใช้เวลาสิบปีกว่าจีนจะยอมรับ

พระเจ้าตากสิน

ท่าทีจีนต่อสถานะกษัตริย์ของ ‘พระเจ้าตากสิน’ ใน ‘ชิงสือลู่’ ใช้เวลาสิบปีกว่าจีนจะยอมรับ

หลากหลายเอกสารที่บันทึกเหตุการณ์ช่วงของการเสียกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยธนบุรีมีข้อมูลที่น่าสนใจ น่าศึกษา แตกต่างกันไป ‘ชิงสือลู่’ เป็นอีกหนึ่งเอกสารที่ให้ข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็น ‘สถานะ’ พระมหากษัตริย์ของพระเจ้าตากสิน ที่มีส่วนสำคัญต่อราชบัลลังก์กรุงธนบุรีและการเมืองไทยสมัยนั้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

‘ชิงสือลู่’ เป็นเอกสารพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ชิง ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยา ไว้ตามเอกสารหมายเลข 53 วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2311 ว่า ทราบข่าวว่าประเทศเซียนหลัว (หมายถึงไทย) กำลังทำศึกกับพวกฟานพุงลาย (หมายถึงพม่ากลุ่มหนึ่ง) ถูกแม่ทัพนายกองฟานพุงลายตีจนกรุงแตกเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2310) ส่วนองค์พระมหากษัตริย์ทรงหลบหนีไปอย่างไร้ร่องรอย บัดนี้ได้ให้นายทหารตำแหน่งอิ๋วจี สืบเสาะหาข้อเท็จจริงแล้วนั้น ได้ความว่าอย่างไร แม้จนบัดนี้ยังมิได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบเลย เมื่อไม่นานมานี้ได้ทราบมาว่า เหมี่ยนเตี้ยนทรชน (หมายถึงพม่า) ได้ผนวกเอาเซียนหลัวแล้ว ในหนังสือที่เหมี่ยนเตี้ยนทรชนส่งไปถึงแม่ทัพเมื่อวันก่อนก็กล่าวถึงการเข้าครองเซียนหลัวแล้วเช่นกัน…และขณะนี้เซียนหลัวอาจถูกรุกรานเป็นครั้งคราว หรือถูกเหมี่ยนเตี้ยนทรชนทยอยผนวกแล้วก็ไม่แน่ชัด”

Advertisement

ต่อมา เอกสารหมายเลขข้อ 54 วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2311 ซึ่งได้ความจากการสืบข่าวเหตุการณ์ในไทยมาแล้วว่า

“กันเอินซื่อเดิมเป็นคนต่ำต้อยในประเทศจีน ระเหเร่ร่อนไปอยู่ดินแดนชายทะเล มีสถานภาพเป็นขุนนางแห่งประเทศเซียนหลัว บัดนี้ประเทศนั้นถูกตีแตก กษัตริย์หายสาบสูญ กลับบังอาจฉวยโอกาสที่ประเทศตกอยู่ในอันตรายและปั่นปวนยุ่งเหยิงคิดตั้งตนเป็นใหญ่ และหวังได้รับตราตั้งโดยมิชอบ เพื่อเป็นเครื่องมือตั้งตนเหนือผู้อื่น มิได้สํานึกถึงพระกรุณาธิคุณและน้ำพระทัยของเจ้านายเก่า อีกทั้งมิได้สืบหาองค์รัชทายาทเพื่อกอบกู้ชาติ และโจมตีศัตรู”

‘กันเอินซื่อ’ หมายถึงพระเจ้าตากสิน เรียกทับศัพท์จากคำว่า ‘กำแพงเพชร’ เนื่องจากทรงเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาก่อน รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าตากสินทรงต้องการสร้าความชอบธรรมให้กับพระองค์เอง ในฐานะผู้สืบทอดอำนาจต่อจากกรุงศรีอยุธยา จึงหวังได้รับตราตั้งจากจีนเป็นสิ่งยืนยันและค้ำจุนพระราชอำนาจที่กำลังสร้างขึ้น และยังอาจใช้เป็นเครื่องมือในการปราบก๊กหรือชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถอ้างว่าได้รับความชอบธรรมจากจีน 

ทว่า จีนกลับต่อต้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง ปัญหาสำคัญที่ราชสำนักชิงยกเป็นข้ออ้างในการรับรองสถานะพระมหากษัตริย์ของพระเจ้าตากสิน คือความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ จีนยึดมั่นในเรื่องการสืบสายเลือดของราชวงศ์เดิม ซึ่งเห็นได้จากการตำหนิพระเจ้าตากสินที่ไม่ยอมสืบหารัชทายาทหรือยกเชื้อสายเจ้าราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกครั้ง

พระเจ้าตากสิน ภาพหน้าปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2560

เมื่อพระเจ้าตากสินทรงขับไล่กองทัพอังวะออกไปสำเร็จแล้ว ก็ต้องเร่งปราบชุมนุมต่าง ๆ ที่แต่เดิมเคยอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา ให้มาอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ ขณะที่ราชสำนักชิงยังคงให้ขุนนางสืบข่าวและรายงานเหตุการณ์ในไทยมายังจีน ซึ่งจากความพยายามในการสร้างพระราชอำนาจของพระเจ้าตากสินในการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น กำจัดรัชทายาทแห่งกรุงศรีอยุธยา และจากการสืบข่าวของขุนนางจีนเอง ทำให้ราชสำนักชิงเริ่มมีท่าทีอ่อนลง ดังความในเอกสารหมายเลข 58 วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2312 ว่า

“หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา เรื่องผลการสืบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ของประเทศเซียนหลัว เข้าใจว่ารัชทายาทของตระกูลเจ้าคงจะตกต่ำอย่างที่สุด แนวโน้มของสถานการณ์ได้ถูกกันเอินซื่อครอบงำแล้วอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องยากลำบากที่จะหวังให้ฟื้นขึ้นมาอีก และความขัดแย้งภายในคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม”

การติดต่อระหว่างพระเจ้าตากสินกับราชสำนักชิงนั้น ต้องติดต่อผ่านผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง-กวางซี คือ หลี่ซื่อเหยา’ ซึ่งมีหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลก่อนถวายต่อจักพรรดิ ซึ่งพระองค์ก็มักเห็นชอบตามที่หลี่ซื่อเหยากราบทูล

ต่อมา เอกสารหมายเลข 64 วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314 กล่าวถึงการขอพระราชทานตราตั้งอีกครั้ง ในเอกสารนี้ น้ำเสียงของราชสำนักชิงดูอ่อนลง ไม่แข็งกร้าวเหมือนแต่ก่อน ดังความในเอกสารว่า

“เมื่อหลายปีก่อนพีอย่าซิน (หมายถึงพระเจ้าตากสิน) ส่งคนมามอบหนังสือให้หลี่ซื่อเหยา ขอให้กราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานตราตั้ง เนื่องจากหลี่ซื่อเหยาเห็นว่า หลังจากเซียนหลัวแตกสลายแล้ว เขาได้ทําลายราชสกุลเจ้าและฉวยโอกาสเข้ายึดครองโดยมิชอบ จึงปราศจากความชอบที่จะได้รับพระราชทานตราตั้งและเคยแจ้งให้ทราบถึงการปฏิเสธ ครั้นในปีนี้ได้อ้างเหตุการณ์จับกุมฟานพุงลายทรชนผู้ทรยศ และยังคงมุ่งหวังที่จะได้รับพระราชทานตราตั้ง ซึ่งก็ได้ปฏิเสธคําขอไปอีกด้วย

ปฏิเสธที่แม้ว่าจะชอบด้วยเหตุผล แต่ก็ดูจะเกินเลยไป ชาวเกาะและดินแดนใกล้ทะเลอยู่ไกลโพ้น ไม่รู้จักคุณธรรม จริยธรรม การแย่งชิงราชบัลลังก์ เปลี่ยนแซ่ (ราชสกุล) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นนิตย์ อาทิ แซ่จิง แช่ม่อ แซ่หลี แห่งประเทศอันหนาน (เวียดนาม) ก็เปลี่ยนกษัตริย์บ่อยครั้ง ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เกิดในเซียนหลัวแห่งเดียวเท่านั้น…นอกจากนี้ เมื่อเหมี่ยนเตี้ยนทรชนรุกที่เซียนหลัวจนแตก พีอย่าซินถือเหตุล้างแค้น และอาศัยโอกาสที่เป็นใจโดยมิได้มีร่องรอยชัดแจ้งในเรื่องช่วงชิงราชบัลลังก์…

นอกจากนี้ ยังร้องขอพระราชทานตราตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า โดยหวังพึ่งกรุณาธิคุณ จึงแสดงให้เห็นว่า ให้ความสำคัญและยกย่องราชสำนักจีน จึงขออย่าได้เคร่งครัดในความเห็นครั้งก่อน ๆ และปฏิเสธ อย่างไร้เยื่อใยจนสุดกู่ ส่วนสาเหตุความเป็นมาแห่งการเปลี่ยนแปลงผู้ครองราชย์บัลลังก์ อันที่จริงไม่มีความจำเป็นต้องติดยึดและยุ่งเกี่ยวกับสถานะเดิม…ต่อแต่นี้ไปหากทางพีอย่าซินไม่มีคนมาอีกก็แล้วไป แต่ถ้าหากได้แต่งทูตมาขอพระราชทานตราตั้ง และประสงค์จะส่งเครื่องราชบรรณาการต่อไป ก็ไม่จำเป็นที่จะยืนกรานปฏิเสธดังเช่นแต่ก่อน ขอให้สังเกตว่า หากมาด้วยความจริงใจโดยแท้ก็จะกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบและให้พระราชทานตราตั้ง”

จิตรกรรมพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

จะเห็นได้ว่า ท่าทีของจีนดูอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดหากเทียบกับเอกสารชิงสือลู่ พ.ศ. 2311 ทั้งนี้ ราชสำนักชิงคงจะได้พิจารณาเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น โดยคำนึงถึงสังคมและบริบทการเมืองในไทยว่า การชิงราชบัลลังก์หรือการก้าวขึ้นสู่อำนาจของขุนนางหรือคนธรรมดานั้นถือเป็นเรื่องปกติ ดังความที่ว่า ชาวเกาะและดินแดนใกล้ทะเลอยู่ไกลโพ้น ไม่รู้จักคุณธรรม จริยธรรม การแย่งชิงราชบัลลังก์…เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นนิตย์” 

ประกอบกับความพยายามของพระเจ้าตากสินที่ส่งคณะราชทูตไปยังราชสำนักชิงหลายครั้งอยู่เนือง ๆ คงทำให้จีนเห็นถึงความตั้งใจจริงของพระเจ้าตากสิน ก็คงใจอ่อนอยู่บ้าง ดังความว่า “นอกจากนี้ ยังร้องขอพระราชทานตราตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า โดยหวังพึ่งกรุณาธิคุณ จึงแสดงให้เห็นว่า ให้ความสำคัญและยกย่องราชสำนักจีน” 

และคงมีปัจจัยสำคัญอีกสองประการที่ทำให้ราชสำนักชิงยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระเจ้าตากสินและยินดีจะพระราชทานตราตั้งให้ คือ ประการแรก การที่พระเจ้าตากสิน ซึ่งทรงเป็นผู้นำชุมนุมแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถพิชิตชุมนุมอื่น ๆ ได้เกือบทั้งหมด และสถาปนาอำนาจขึ้นจนกลายเป็น ‘เบอร์ 1’ มีความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจต่อจากกรุงศรีอยุธยามากที่สุด และประการที่สอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กรุงธนบุรีกลายเป็น ‘เบอร์ 1’ ในละแวกนี้นั้น ชีวิตและผลประโยชน์การค้าของชาวจีนในไทยจึงต้องอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตากสิน ราชสำนักชิงจึงไม่อาจปฏิเสธพระราชอำนาจของพระเจ้าตากสินได้อีกต่อไป

เอกสารฉบับต่อมา จีนเปลี่ยนการขานพระนามพระเจ้าตากสินเป็น ‘เจิ้งเจ้า’ มายถึง ‘กษัตริย์เจิ้ง’ หรือ ‘แต้อ๋อง’ (แซ่แต้ เป็นแซ่เดิมของพระเจ้าตากสิน) เสมือนเป็นการยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์ และยินดีที่จะขอพระราชทานตราตั้งให้ตามที่ร้องขอ หลังจากพยายามมาหลายครั้งหลายคราว ดังเอกสารหมายเลข 70 วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2320 ว่า

“ท่านได้ประหัตประหารทรชนเพื่อแก้แค้นทดแทนให้แก่นายเก่าแห่งเซียนหลัว จึงได้รับการยกย่องเชิดชูจากบุคคลทุกฝ่ายในแผ่นดิน ประกอบกับทางราชสกุลเจ้าปราศจากรัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติ ท่านจึงเข้ารับหน้าที่ว่าราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ท่านยังมีจิตใจฝักใฝ่ราชสำนักจีนและแสดงความสัตย์ชื่อจริงใจหลายครั้งหลายหน สมควรยกย่องเชิดชู ต่อไปถ้าหากมีการร้องขอสิ่งใด ก็น่าจะพิจารณาจัดการให้ตามสมควร…

กรณีที่อาณาราษฎรของประเทศ (เซียนหลัว) มีเจตนาอย่างแรงกล้าในการยกย่อง (ให้ขึ้นครองราชย์) กอปรกับราชสกุลเจ้าปราศจากรัชทายาท จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานตราตั้ง ดังนี้แล้ว สำนักข้าหลวงใหญ่นี้ ก็จะนำความกราบบังคมทูลองค์จักรพรรดิให้แก่ท่านอย่างแน่นอน พร้อมกับรอคอยที่จะได้รับพระราชทานอีกชั้นหนึ่งด้วย”

จากความในเอกสารแสดงว่า ราชสำนักชิงมีท่าทีจะพระราชทานตราตั้งแก่พระเจ้าตากสิน เมื่อ พ.ศ. 2320 หลังจากที่พระองค์เสด็จปราบดาภิเษกเมื่อ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 นับเป็นเวลานานถึงเกือบ 10 ปี กว่าที่จีนจะยอมรับว่าพระเจ้าตากสินมีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์

ภาพจิตรกรรมภายในตำหนักเก๋ง พระราชวังเดิม แสดงเหตุการณ์เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เกณฑ์ไพล่พลมาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรีและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

แต่พระเจ้าตากสินไม่เคยได้รับ ‘ข่าวดี’ จากคณะราชทูต เนื่องจาก .. 2324 ราชสำนักชิงพึ่งยอมรับสถานะกษัตริย์ของพระเจ้าตากสิน และยอมรับเครื่องราชบรรณาการ ปีถัดมา .. 2325 เรือคณะราชทูตของกรุงธนบุรีแล่นกลับมาถึงไทยพร้อมกับสิ่งของมีค่าเต็มลำเรือ แต่เวลานั้นก็ผลัดแผ่นดินเสียแล้ว

การผลัดแผ่นดินใหม่นี้ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงต้องเผชิญปัญหาการยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ดังที่พระเจ้าตากสินเคยทรงเผชิญมาก่อนเช่นกัน รัชกาลที่ 1 ทรงตระหนักดีว่าคงเป็นการยากที่ราชสำนักชิงจะยอมรับการเปลี่ยนกษัตริย์พระองค์ใหม่ ทั้ง ๆ ที่จีนพึ่งจะยอมรับสถานะของพระเจ้าตากสินไปได้ไม่นาน และไม่ใช่เรื่องดีแน่หากต้องใช้ระยะเวลานับสิบปีเพื่อให้ราชสำนักชิงยอมรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

รัชกาลที่ 1 จึงมีพระราชสาส์นฉบับแรกส่งไปยังราชสำนักชิง ใน .. 2325 ระบุว่า พระองค์เป็น ‘พระราชโอรส’ ของพระเจ้าตากสิน โดยทรงเล่าว่า พระบิดาประชวรถึงแก่สวรรคต ส่วนพระองค์คือ ‘เจิ้งหัว’ (แต้ฮั้ว-ภาษาแต้จิ๋ว) ผู้ได้รับการมอบหมายจากพระราชบิดาให้ปกครองดูแลอาณาประชาราษฎร์สืบไป

และในรัชกาลต่อมาก็ยังใช้แซ่แต้เช่นเดียวกับพระเจ้าตากสินสืบมา คือ รัชกาลที่ 2 แต้ฮก (เจิ้งฝอ-ภาษาจีนกลาง), รัชกาลที่ 3 แต้ฮุด (เจิ้งฝูภาษาจีนกลาง), รัชกาลที่ 4 แต้เม้ง (เจิ้งหมิงภาษาจีนกลาง), รัชกาลที่ 5 แต้เจี่ย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธีระ แก้วประจันทร์. (กรกฎาคม-สิงหาคม, 2555). เกร็ดความรู้จากประวัติศาสตร์ : ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 14 การเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเอกสารชิงสือลู่ของจีน. ศิลปากร. ปีที่ 55 ฉบับที่ 4.

ปรามินทร์ เครือทอง. (มีนาคม, 2558). ตามติดปฏิบัติการพระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีฯ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 ฉบับที่ 5, จาก www.silpa-mag.com/history/article_40561

เอกชัย โควาวิสารัช. (2560). ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. ตอนที่ 1, เรื่อง “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน จริงหรือไม่”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 38 ฉบับที่ 7, จาก www.silpa-mag.com/history/article_42065


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2563