สำนวนสุภาษิต “ขุนนางใช่พ่อแม่…” ที่เตือนให้อย่าด่วนวางใจใคร

ขุนนางไทย โบราณ
ขุนนางในสมัยโบราณ

สำนวนสุภาษิต “ขุนนางใช่พ่อแม่…” ที่เตือนให้อย่าด่วนวางใจใคร

นิทานชาดกเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ที่ 8 ที่ชื่อ “กัณฑ์กุมาร” เมื่อชูชกที่เดินทางมาขอสองกุมาร (กัณหา และชาลี) จากพระเวสสันดร เพื่อให้ไปเป็นทาสรับใช้นางอมิตตดาภรรยาของตน พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคให้เป็นทานตามที่ชูชกขอ

ทั้งพระองค์ทรงแนะนำว่า“พราหมณ์เอ๋ย ท่านมิอยู่ช้าท่ามัทรีแล้วก็ทำเนา แต่ทว่าจงพาสองกุมารเจ้าเข้าไปสู่สำนักพระอัยกา [พระเจ้าสญชัย เจ้าเมืองพีสี] ให้ท้าวเธอทราบว่าพระนัดตาดวงสวาทเข้าไปสู่พระราชธานี ท้าวเธอก็จะพระราชทานเงินทองของดี ๆ หลากเหลือหลาย ทั้งวัวควายช้างม้าข้าใช้สอยศฤงคารเครื่องบริโภค ตะแกจะมีโชครวยฉุยเสียอีกนะทชี”

ซึ่งน่าเป็นการสมประโยชน์ด้วยกัน เพราะชูชกก็คงได้เงินทองเป็นค่าไถ่ตัวสองกุมาร ไปจ้างทาสทำงาน สองกุมารก็จะไม่ต้องลำบากต่อไป หากชูชกปฏิเสธโดยให้เหตุผลไว้อย่างน่าคิดว่า

“เฒ่าก็ทูลตอบคดีในทันใด ว่าไม่ได้ ไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า ซึ่งจะทรงพระกรุณาไม่เห็นด้วย ฉวยว่าเสียทีสิมิเป็นการ คำบุราณท่านกล่าวไว้แต่ก่อนปลาย ขุนนางใช่พ่อแม่ หินแง่ใช่ตายาย อันจะให้พาสองกุมาร ถ่อกายเข้าไปยังสำนักพระเจ้าปู่ ท้าวเธอก็จะให้มีพระกระทู้ซักถามซ้ำ จะละลักละล่ำว่าหน้าเป็นหลังตกตะลึงลืมตัว ด้วยความกลัวใช่พอดี เธอจะลงเอาว่าข้าทชีนี้ลักพระเจ้าหลานหลวง แล้วจะให้กระทำตามกระทรวงพระราชกิจ

สมเด็จบพิตรท้าวเธอจะลงพระราชทัณฑ์เฆี่ยนด้วยหวาย ถ้ารอดตายตาเฒ่าก็จะยับเยินเป็นฟันสี ไปเมื่อหน้าอีปากกล้ามันแสนคม มันจะข่มด่าเอาเปรี้ยง ๆ ตาเฒ่าก็ไม่อาจจะเถียงสักคำเดียว จะเหลียวหน้าไปหาใคร เมื่อลาภที่จะได้ก็จะกลับเป็นเสีย เมียนี้ก็จะด่า กระหม่อมฉันมาทั้งนี้ด้วยว่ารักนาง หวังจะเอาชีวามาวางไว้ใต้ฝ่าพระบาท แม้มาตรว่าพระองค์ทรงพระราชศรัทธาแท้แล้ว จงเรียกสองพระลูกแก้วมาพระราชทาน ในกาลบัดนี้เกิด” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ใช่เพียง “มหาเวสสันดรชาดก” เท่านั้น “นิทานเทียบสุภาษิต ภาคที่ 7 และภาคที่ 8″ เรื่องที่ 25 ก็ใช้สำนวนดังกล่าวเป็นชื่อเรื่อง เพียงแต่เปลี่ยนท่อนท้ายไปเป็นว่า “ขุนนางใช่พ่อแม่ หญิงแก่ใช่ย่ายาย” เนื้อหาของนิทานสรุปพอสังเขปว่า

นาย ก. ผู้มีอันจะกินที่ไม่ค่อยมีสังคมกว้างขวางเท่าใดนัก ต้องการหาผู้ใหญ่ไว้พึ่งพิง โดยหมายตาไว้ที่คุณพระท่านหนึ่งที่เป็นอธิบดีศาล ต่อมาแม่ค้าแนะนำมีหญิงชราที่รู้จักคุณพระคนดังกล่าว นาย ก. จึงนำสิ่งของไปกำนัลแก่หญิงชราเพื่อขอให้ช่วยแนะนำตนให้กับคุณพระ หญิงชราก็รับปากและแนะนำให้ไปพบคุณพระที่บ้าน วันถัดมา นาย ก. ไปหาคุณพระที่บ้านพร้อมกับของกำนัลต่างๆ และภายหลังก็ยังไปเยี่ยมเยียนพร้อมของฝากอยู่เสมอๆ

วันหนึ่ง บ้านนาย ก. มีคนร้ายเข้าบ้าน เมื่อตามจับคนร้ายหลบหนีไปซ่อนตัวในบ้านท่านขุนผู้เป็นนาย นาย ก. ตามไปจับก็ถูกท่านขุนขู่ว่า พวกเขาบุกรุกบ้านจะเอาผิดนาย ก. จึงถอยออกมาแล้วไปหาคุณพระเพราะหวังจะพึ่งบารมี คุณพระก็รับปากจะดูแลให้ วันรุ่งขึ้นท่านขุนก็ไปหาคุณพระเช่นกัน คุณพระก็ตอบว่า “อ้ายเรื่องอย่างนี้จะว่าเป็นการเบาก็ได้ หรือจะว่าเป็นการรุนแรงก็ได้ ก็แล้วแต่ผู้ที่จะกล่าวขึ้น ในคดีที่จะกล่าวขึ้นในฟ้องของตน เมื่อท่านขุนได้ฟังเข้าดังนั้น ก็ได้เลยหารือให้ช่วยแนะนำร่างฟ้องให้ด้วย”

ฝ่าย นาย ก. ที่วางใจว่าคุณพระจะช่วยตน อีก 15 วันต่อมาก็มีหมายมาถึงบ้านว่า ให้นาย ก. ผู้เป็นจำเลยไปศาลแก้คดีตามหมาย เมื่อไปถึงคุณพระก็ออกนั่งศาล นาย ก. ก็เข้าไปขอประกัน แต่คุณพระว่า ประกันแก้ต่างกันไม่ได้ เพราะเป็นความอาชญา ที่สุดศาลตัดสินว่า การบุกรุกบังอาจเข้าไปจับคนในบ้าน ไม่ได้บอกเจ้าของบ้านก่อน ต้องปรับไหมจำเลยเป็นค่าละเมิด หรือหากจำเลยไปขอขมาโจทก์ ถ้าโจทก์รับขมา จำเลยก็ไม่ต้องเสียค่าปรับไหม

เมื่อน้าชายของนาย ก. ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นในภายหลัง จึงมาสอบถาม และกล่าวเตือนนาย ก. ว่า “เจ้านั้นมีความหลงเชื่อคนเกินไป…การจึงได้เป็นไปถึงเช่นนี้ เจ้าลืมสุภาษิตเสียเอง จะไปโทษเอาใครได้…สุภาษิตที่ท่านได้กล่าวนั้นว่า ขุนนางใช่พ่อแม่ หญิงแก่ใช่ย่ายาย

สำนวนทั้งสอง อาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็เตือนให้ระวังอย่าวางใจใครโดยง่าย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจเพราะ “ขุนนางใช่พ่อแม่”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

มหาเวสสันดรชาดก สำนวนเทศนา 13 กัณฑ์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมะโร ป.ธ.3) ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จังหวัดพระนคร วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2514

นิทานเทียบสุภาษิต ภาคที่ 7 และภาคที่ 8 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายไพบูลย์ (เม่งอู๋) โปตะวณิช ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2508


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2564