“หัวล้านพลอยตาย” สุภาษิตที่ไม่มีในแบบเรียน แต่มีเขียนเป็นนิทาน?

จิตรกรรม สุภาษิต หัวล้านพลอยตาย
จิตรกรรมสุภาษิตหัวล้านพลอยตายบนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร

“หัวล้านพลอยตาย” สุภาษิตนี้มีนิทาน แม้ไม่มีในแบบเรียน

อนุสนธิจดหมายถึงบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมของคุณทิพย์ฉัตร ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2557) ได้ถามถึงภาพและโคลงสุภาษิตที่วัดโสมนัสวิหาร โดยมีประเด็นว่าเคยมีการจัดพิมพ์เผยแพร่โคลงสุภาษิตและจิตรกรรมเหล่านี้หรือไม่ และในตอนท้ายจดหมายได้กล่าวถึงว่า

“ส่วนโคลงสุภาษิตคำพังเพยที่จารึกบนแผ่นหินอ่อนใต้ภาพนี้ก็เป็นสุภาษิตคำพังเพยของไทยรุ่นที่ยังไม่มีในแบบเรียน ถ้าไม่มีข้อมูลในสมองก็คงอ่านและดูภาพเขียนมิเข้าใจเป็นแน่แท้ เพราะแต่ละภาพมิได้ระบุจารึกบอกชื่อสุภาษิตคำพังเพยไว้เลย…”

จากข้อมูลในเว็บไซต์ของวัดโสมนัสวิหาร ได้ระบุว่าจิตรกรรมประกอบโคลงสุภาษิตซึ่งจารึกอยู่บนแผ่นศิลาที่กรอบประตูและหน้าต่าง (บานแผละ) ในพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร มีโคลงสุภาษิตทั้งสิ้น 119 โคลง และระบุเพิ่มเติมด้วยว่าวัดโสมนัสวิหารได้คัดลอกโคลงสุภาษิตทั้งหมดจัดพิมพ์เผยแพร่แล้ว 3 ครั้ง คือ เมื่อปี พ.ศ. 2501, 2530 และ 2545 แต่การพิมพ์สองครั้งแรกมิได้พิมพ์ชื่อสุภาษิตคำพังเพยกำกับไว้ ในการพิมพ์ครั้งที่ 3 จึงได้เพิ่มเติมชื่อสุภาษิตคำพังเพยด้วย ซึ่งในเว็บไซต์ของวัดโสมนัสวิหาร ได้
ลงเผยแพร่โคลงสุภาษิตในพระวิหารจำนวน 100 โคลง [1]

การประดับรูปสุภาษิตคำพังเพยนี้ ปรากฏหลักฐานว่าในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รวมสุภาษิตไทยมาเขียนรูปภาพไว้ที่คอสองฝาผนัง (พระล่อง) ฉนวนที่ทรงบาตรในบริเวณพระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นแห่งแรก [2] ดังปรากฏในโคลงลิขิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนหนึ่งว่า

“…ท้องฉนวนกันมรรคา
ผนังเขียนสุภาษิตบุราณ   เช่นหัวล้านสร้างเมือง
เบื้องทรงบาตพระล่อง    พ้นช่องฉนวนอุทยาน…” [3]

ครั้นทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจึงโปรดให้ขรัวอินโข่งเขียนจิตรกรรมที่ผนังกรอบประตูหน้าต่าง (บานแผละ) พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นช่อง ๆ เรียงกันลงมา อีกทั้งยังโปรดให้จารึกโคลงสุภาษิตไทยลงบนแผ่นหินติดไว้ใต้ภาพ [4] สำหรับการประดับจิตรกรรมสุภาษิตคำพังเพยที่บานแผละพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร ก็น่าที่จะเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน

ในรัชกาลที่ 5 เมื่อแรกเสวยราชสมบัติก็ปรากฏหลักฐานการประดับรูปสุภาษิตคำพังเพยด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการหล่อรูปภาพตะกั่วตามเรื่องสุภาษิต ตกแต่งกระถางต้นไม้ที่ตั้งรายริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย [5]

จะเห็นว่าหลักฐานส่วนใหญ่ระบุว่าการเขียนภาพสุภาษิตคำพังเพยเริ่มในช่วงรัชกาลที่ 4 แต่อย่างไรก็ดีที่เชิงบานหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามก็เริ่มปรากฏจิตรกรรมลายรดน้ำนิทานต่าง ๆ ซึ่งบางภาพเป็นภาษิตด้วย เช่น ถ่อแพไล่เสือ โดยจิตรกรรมลายรดน้ำเหล่านี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาแต่รัชกาลที่ 3 [6]

หัวล้านพลอยตาย

มีประเด็นจากโคลงสุภาษิตลำดับที่ 42 ของจิตรกรรมบนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร เหนือแผ่นหินที่จารึกโคลงนี้ เป็นภาพต้นตาลสูง ที่พื้นด้านล่างสุดมีชายศีรษะล้าน 4 คนนอนทับกันอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นชายคว่ำหน้าอีกคนหนึ่ง และบนสุดเป็นภาพชายศีรษะไม่มีผมกำลังตกลงมาทับผู้ชายทั้ง 5 คนเบื้องล่าง โดยมีร่องรอยว่าผ้านุ่งของชายคนบนสุดเป็นสีเหลือง และโคลงสุภาษิตที่จารึกมีเนื้อความดังนี้

๏ เถนตรงลงเผ่นต้น   ตาลสูง
ถูกเหล่าล้านทั้งฝูง   สี่ม้วย
พลอยตายเพื่อจะพยูง   เถนโง่ นั้นนา
มีใช่การพสมด้วย   ดั่งนั้นพลอยตาย ๚ะ

จิตรกรรมสุภาษิตหัวล้านพลอยตายบนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร

โคลงสุภาษิตบทนี้ในเว็บไซต์ของวัดโสมนัสวิหารระบุว่าคือสุภาษิตคำพังเพย “เถนตรง” แต่หากเปรียบเทียบกับหนังสือโคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2472 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ โปรดให้พิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่ ซึ่งมีการระบุว่าโคลงแต่ละบทนั้นคือสุภาษิตคำใด โคลงสุภาษิต “หัวล้านพลอยตาย” ซึ่งจารึกที่บานแผละหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อความใกล้เคียงกัน โดยกล่าวถึง เถร และหัวล้าน 4 คน ดังนี้

๏ คนซื่อถือเชื่อถ้อย   คำพาล
พลอยพินาศฦๅนาน   น่าเก้อ
เฉกล้านสี่คนหาญ   เข้าช่วย เถรแฮ
ตายเพราะไป่ตรึกเน้อ   เยี่ยงนี้จงระวัง ฯ [7]

เชื่อว่าทุกท่านที่อ่านคงเกิดคำถามสงสัยว่า หัวล้าน 4 คนช่วยเหลือเถรด้วยวิธีใด จึงเป็นที่มาของสำนวนสุภาษิต “หัวล้านพลอยตาย” และสุภาษิตนี้น่าที่จะมีนิทานหรือเรื่องเล่าประกอบ ดังเช่น หัวล้านนอกครู แต่ปัจจุบันสำนวนหัวล้านพลอยตายไม่ปรากฏในหนังสือ ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน หรือแม้แต่ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ก็ไม่ปรากฏสำนวนคำว่า “หัวล้านพลอยตาย” เช่นกัน

เมื่อสืบค้นต่อจาก นิทานวชิรญาณ มีนิทานเรื่องหนึ่งที่มีชื่อตรงกันคือ เรื่องหัวล้านพลอยตาย ของ ขุนมหาวิไชย (จันทร์) ท่านได้เล่าถึงนิทานภาษิตเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

เถรตรงเป็นคนที่เดินไปไหนก็จะเดินไปแต่ทางตรง เมื่อเดินถึงต้นตาลก็ไม่หลบขึ้นปีนไปถึงยอดตาล ขาลงก็จับทางตาลห้อยโหนอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง มีชายคนหนึ่งขี่ช้างมาทางนั้น เถรเห็นก็เรียกให้ช่วย ชายคนนั้นจึงไสช้างเข้าไปช่วย โดยใช้มือยึดเท้าเถรจะลากลงมาที่คอช้าง บังเอิญใบตาลแห้งบนต้นกระทบกันเสียงดังช้างตกใจเลยวิ่งหนีไป คนขี่ช้างจึงต้องเหนี่ยวเท้าเถรห้อยโตงเตงกับทางตาลเข้าอีกเป็น 2 คน

หัวล้าน 4 นาย เป็นเพื่อนรักกัน เดินมาทางนี้พอดี เถรและคนขี่ช้างก็ร้องให้ช่วย หัวล้าน 4 คนก็ถามกลับไปว่า จะให้ช่วยอย่างไร เถรจึงบอกว่าให้ทั้ง 4 คนเอาผ้าผูกคอกันทำเป็นเปลอยู่กลาง จะได้กระโจนลงไปบนเปล หัวล้านทั้ง 4 ก็ทำตาม เถรกระโจนลงมาถูกเปลผ้าอย่างแรงก็ตวัดเอาหัวล้านทั้ง 4 คน ศีรษะกระแทกกันตาย

รายละเอียดของจิตรกรรมสุภาษิตหัวล้านพลอยตาย

เถรกับคนขี่ช้างไม่ตาย แต่ด้วยกลัวความผิด ทั้งสองจึงหามเอาศพหัวล้านทั้ง 4 ศพ ไปทิ้งที่ท้ายสวนของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ครั้นหญิงหม้ายมาสวนพบศพชายหัวล้านทั้งสี่นอนเรียงกันอยู่ ก็กลัวจะเกิดคดีความว่าฆ่าคนตาย จึงออกอุบายนำศพไปซ่อนเสีย 3 ศพ ให้เหลือศพเดียว แล้วไปบอกแก่ทิดสึกใหม่คนหนึ่งให้เอาศพไปเผาเสีย และสัญญาว่าถ้าเผาศพให้ไหม้หมดแล้วจะยอมเป็นภรรยา

ทิดสึกใหม่ดีใจเพราะหมายปองหญิงหม้ายคนนี้มานานแล้ว จึงรีบนำศพไปเผา เมื่อทิดสึกใหม่ลากศพไปพ้นที่นั้นแล้ว หญิงหม้ายก็ไปลากศพที่ 2 มาทิ้งไว้แทนที่ เมื่อทิดเผาศพแรกจนไหม้หมดแล้วก็กลับมาที่สวน ได้เห็นศพหัวล้านคล้ายที่นำไปเผาแล้วนั้นยังนอนอยู่นึกประหลาดใจว่า ผีหัวล้านคงจะกลับมาเกิดได้อีกแน่ ก็ลากเอาศพไปเผาใหม่อีกทยอยกันดังนี้จนครบ 4 ศพ เมื่อเผาศพหัวล้านคนที่ 4 ไหม้เป็นเถ้าหมดแล้ว ก็เดินกลับมาตามทาง

เวลานั้นชายแก่เผาถ่านขายคนหนึ่งศีรษะล้านคล้ายกับหัวล้าน 4 คนที่เผาไปแล้วนั้น ตัวเปื้อนถ่านมอมแมมเดินสวนทางมา ทิดสึกใหม่เห็นเข้าก็คิดว่าผีหัวล้านที่ตนเผาแล้วถึง 4 ครั้ง กลับฟื้นมาจะไปนอนที่เก่าอีก จึงตรงเข้าไปฉวยข้อมือชายแก่แล้วร้องตวาดว่า “หัวล้านนี้ดื้อจริง ข้าเอาไปเผาถึง 4 ครั้งแล้วยังกลับมาได้อีก ดูดู๋ตัวยังเปื้อนถ่านไฟมอกลอกเป็นรอยไฟลนอยู่นี่ แกจะทนไฟไปถึงไหนเล่า”

ชายแก่เผาถ่านไม่รู้สาเหตุตกตะลึงเห็นหน้าทิดสึกใหม่ซึ่งโกรธตนมาก คิดว่าเจ้าภาษีถ่านจะจับไปลงโทษก็สะบัดมือหลุดวิ่งหนีไป ทิดสึกใหม่ก็รีบวิ่งตามไป พอตามทันก็กอดรัดไว้ด้วยมือทั้งสอง ชายแก่จะดิ้นหนีไปทางใดก็ไม่หลุด ชายแก่จึงตะโกนถามขึ้นว่า “โทษข้ามีอย่างไรจึงต้องจับกุมดังนี้?” ทิดสึกใหม่ไม่ตอบ เพราะมั่นใจว่าเป็นผีหัวล้านที่ตนนำไปเผาแล้วกลับมาได้อีก ก็ปลุกปล้ำเอาไปเผาจนได้ หัวล้านเผาถ่านขายมาตายด้วยความคล้ายคลึงกับศพที่เขาเผาแล้ว โดยไม่มีโทษที่ควรตายแต่อย่างใด ท่านจึงได้บัญญัติเรียกว่า “หัวล้านพลอยตาย” [8]

เมื่อค้นต่อไปอีกก็พบว่า ในกัมพูชามีนิทานพื้นบ้านที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันนี้ด้วย จากประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร แปลโดย รองศาสตราจารย์ประยูร ทรงศิลป์ ปรากฏนิทานพื้นบ้านเขมร เรื่องชายหัวล้าน 4 คน ซึ่งตอนต้นเรื่องคล้ายคลึงกับนิทานสุภาษิตเรื่องหัวล้านนอกครูของไทย และตอนท้ายคล้ายคลึงกับเรื่องหัวล้านพลอยตาย แต่เปลี่ยนจากเถรเป็นชายสานสมุกขาย และเหตุที่ช้างหนีไปนั้นเป็นเพราะว่าเมื่อชายขี่ช้างยืนบนหลังช้างพยายามเขย่งตัวขึ้นไปจับขาคนสานสมุก แต่เท้าที่อยู่บนหลังช้างสั่นเหมือนกับสัญญาณบอกให้ช้างเดินไปข้างหน้า ช้างเข้าใจเช่นนั้นจึงเดินออกไป [9]

จากจิตรกรรมสุภาษิตหัวล้านพลอยตายที่วาดบนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหารจะเห็นว่าน่าที่จะวาดขึ้นตามเรื่องราวนี้นั่นเอง ด้วยมีรูปผู้ชายอยู่จำนวน 6 คนตามท้องเรื่อง แต่สำหรับจิตรกรรมบนบานแผละหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะปรากฏเพียงรูปชาย 2 คนนอนคว่ำใต้ต้นไม้ และต้นไม้ก็มีรูปลักษณะที่ไม่ใช่ต้นตาล

สำนวนสุภาษิต “หัวล้านพลอยตาย” จึงเป็นหนึ่งในสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไทยที่ไม่มีในแบบเรียน ซึ่งยากแก่การอ่านและตีความจิตรกรรม สมดังที่คุณทิพย์ฉัตรได้มีจดหมายถึงบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม หากท่านใดสนใจศึกษาโคลงสุภาษิตโบราณ สามารถศึกษาจากหนังสือโคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ในโอกาส สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี 3 ตุลาคม 2556 ซึ่งมีการตีพิมพ์จิตรกรรมสุภาษิตคำพังเพยทั้งหมดของพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่แนะนำว่าควรอ่านประกอบกับฉบับตีพิมพ์คราวก่อน ๆ เนื่องจากการตีพิมพ์ครั้งนี้มิได้พิมพ์ชื่อสุภาษิตกำกับไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน www.watsomanas.com

[2] ดู พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “อธิบาย,” ใน โคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ โปรดให้พิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่).

[3] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. โคลงลิขิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), น. 204.

[4] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “อธิบาย,” ใน โคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 18. (พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), น. 12.

[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ. เพิ่งอ้าง.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 38.

[7] โคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ โปรดให้พิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่), น. 11.

[8] สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. นิทานวชิรญาณ เล่ม 3-4. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556), น. 1354-1357.

[9] ดู ประยูร ทรงศิลป์ แปล. ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร ภาคที่ 1-9. (กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี, 2540), น. 462-471.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “หัวล้านพลอยตาย สุภาษิตนี้มีนิทาน” เขียนโดย ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2561