“เอ๋งติ๋งห้าว” วรรรกรรมล้อเลียนเสียดสี “สุภาษิตสอนหญิง” ที่ต้องเป็นลูก-แม่-เมียที่ดี

หน้าปก หนังสือ เอ๋งติ๋งห้าว
เอ๋งติ๋งห้าว

ขณะที่ขนบและความเชื่อควบคุมผู้หญิงด้วยคำสอนว่า “ต้อง…” สารพัด เพื่อเป็นลูก, เมีย, แม่ที่ดี ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ถึงขนาดมีแฮนด์บุ๊กชื่อ “สุภาษิตสอนหญิง” แต่ในรัชกาลที่ 5 ก็มีผู้แต่ง “เอ๋งติ๋งห้าว” ขึ้นคัดค้านคำสอนเดิมๆ แบบทีเล่นทีจริง โดยใช้กลอนตลกขบขัน แต่รับรองว่าเจอเข้าจริงก็คงจุกเหมือนกัน

ขณะที่ สุภาษิตสอนหญิง (บ้างเรียกสุภาษิตสอนสตรี) เป็นหนังสือที่แต่งช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อลูกสาวผู้ดีมีตระกูล (บ้างว่าใช้สอนหญิงสาวที่ทั่วไปด้วย) โดยสอนพวกเธอเรื่องกิริยาในชีวิตประจำวัน, เรื่องคู่ครองและความรัก, การมีครอบครัว ฯลฯ ว่ามีข้อห้าม หรือข้อควรปฏิบัติ อย่างไร

ส่วน เอ๋งติ๋งห้าว เป็นวรรรณกรรมล้อเลียน ผู้แต่งชื่อนายเสม เป็นพี่เลี้ยงกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2435 ในรัชกาลที่ 5 เนื้อหาแบบวรรณคดีจักรๆ วงศ์ๆ ที่พบเห็นอยู่ทั่วไป แต่ที่น่าสนใจคือสำนวนโวหารแหวกแนวจากที่เคยมี และใช้ความเปรียบเทียบหรือขยายความที่ไม่เข้ากับความจึงออกแนวตลกขบขัน ขณะเดียวกันก็ล้อเลียนวรรณกรรมอื่น และสังคม ไปพร้อมกัน

ดังเช่นเนื้อหาตอนหนึ่งใน “เอ๋งติ๋งห้าว” ที่แม่สอนลูกสาวก่อนแต่งงาน ที่ตรงข้ามกับ “สุภาษิตสอนหญิง” แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ว่า

ว่าสองเจ้าจะมีคู่อยู่ด้วยผัว   จงฝากตัวอยู่กับเขานะเจ้าหนา

เวลาค่ำสุริยนสนธยา   ชวาลาไต้จุดอย่าจุดมัน

ทั้งที่นอนหมอนเล่าอย่าเป่าปัด   ให้ผัวจัดจึงค่อยนอนคิดผ่อนผัน

ปวดท้องเยี่ยวกะลารองของสำคัญ   ให้จอมขวัญผัวรักสรงพักตรา

แม้นตัวเมื่อยจงเอาพลองเข้าลองเคล้น   ตีแก้เส้นเมื่อยชักดีหนักหนา

ครั้นเช้าตรู่สุริย์แสงแดงขึ้นมา   แม่แก้วตาจงปลุกผัวอย่ามัวนอน

จงใช้ให้ต้มแกงแต่งสำรับ   ตามตำรับจงจำคำแม่สอน

แม้นผัวโกรธแก้วตาอย่าอ้อนวอน   ทำเป็นงอนตั้งปึ่งจึงจะดี

แม้นผัวว่าเจ้าจงด่าอย่าละปาก   เขาว่าน้อยด่าให้มากอย่าถอยหนี

ยามสบายเจ้าจงลองเอาพลองตี   สองสามทีให้ผัวนอนผ่อนสำราญ

เมื่อยามผัวหิวข้าวเจ้าอย่านิ่ง   จงนอนกลิ้งผัวเรียกหาก็อย่าขาน

ทำอย่างนี้ผัวต้องรักแทบดักดาน   คงประทานรางวัลให้ด้วยไม้พลอง

ปวดท้องตดลูกยาอย่าตดทิ้ง   เจ้าจงวิ่งขึ้นไปตดรดขมอง

ให้ผัวดมเล่นสนุกแก้จุกท้อง   แม่สอนสองงามขำจงจำไว้

ส่วนลูกสาวบ้านไหน หรือแม่นางคนใด หลังอ่าน เอ๋งติ๋งห้าว แล้วเอาไปปฏิบัติจริงมากน้อยเท่าไหร่ และมีผลลัพธ์เช่นใด เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. เซ็กส์ดึกดำบรรพ์ ของบรรพชนไทย. สำนักพิมพ์นาตาแฮก. พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2560

ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร. “เอ๋งติ๋งห้าว : สุดยอดของความหรรษา” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566