“รัฐบาลที่เลวร้ายยิ่งกว่าเสือ…” สุภาษิตขงจื๊อ

ขงจื๊อ นักปราชญ์ ภาพวาด จีน รัฐบาล ข่มเหง ประชาชน

ขงจื๊อ เป็นนักปราชญ์จีน แม้จะผ่านกาลเวลามานาน แต่คำสอนของ “ขงจื๊อ” ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

…วันหนึ่งหลังจากทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส (ชื่ออาจารย์ขาน) เล่านิทานให้พวกเด็กวัดฟัง วันนั้นนิทานที่ท่านเล่าเป็นนิทานที่เกี่ยวกับปรัชญาจีน เนื้อหาของนิทานเรื่องนั้นผู้เขียนยังจำได้ดี ท่านเล่าว่า เมื่อสมัยที่นักปราชญ์ ขงจื๊อ ยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งท่านขงจื๊อพร้อมด้วยคณะศิษย์เดินทางมุ่งหน้าไปยังรัฐแห่งหนึ่งชื่อว่า “รัฐชี้”

การเดินทางจะต้องผ่านป่าไม้และภูเขาจำนวนมาก พอไปถึงเชิงเขาไท้ซัวก็ได้ยินเสียงของสตรีนางหนึ่ง เป็นเสียงร่ำไห้เหมือนคนกำลังเสียอกเสียใจ ท่านขงจื๊อจึงหยุดรถม้าพินิจฟังเสียงนั้นอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพูดกับลูกศิษย์ว่า

“หญิงผู้นั้นร่ำไห้คร่ำครวญน่าสงสารยิ่งนัก นางคงได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสเป็นแน่ทีเดียว คงมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นแก่นาง”

ศิษย์คนหนึ่งนามว่าจื๊อกัง ขออนุญาตไปสอบถามสาเหตุ

หญิงผู้นั้นสะอื้นพลางเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ศิษย์ท่านขงจื๊อฟังว่า “เมื่อไม่นานมานี้ น้าชายคนหนึ่งของฉันถูกเสือขบตาย หลังจากนั้นไม่นานสามีที่รักของฉันก็ถูกมันขบกินเสียอีก วันนี้สัตว์ดุร้ายตัวนั้นก็คาบเอาลูกชายวัยน่ารักของฉันไปกินเสียอีกคน”

จื๊อกังปลอบนางให้คลายทุกข์ แล้วกล่าวว่า “ในเมื่อที่นี่มีอันตราย แล้วทำไมเจ้าไม่ย้ายไปอาศัยที่อื่นเสียเล่า ขืนอยู่ที่นี่ต่อไปเดี๋ยวเสือก็กลับมากินเจ้าเสียอีกคน”

นางตอบว่า “ถึงอย่างไรฉันก็จะไม่ย้ายไปที่อื่นแน่นอน”

“ทำไมไม่ย้ายล่ะ” จื๊อกังถามด้วยความฉงน

“ก็เพราะว่ารัฐบาลที่นี่ไม่เคยกดขี่ ไม่เคยเอาเปรียบประชาชนเลย”

จื๊อกังกลับไปรายงานให้ท่านขงจื๊อผู้เป็นอาจารย์ฟัง

ท่านปรัชญาเมธีขงจื๊อจึงกล่าวสุภาษิตให้คณะศิษย์ฟังว่า “เธอทั้งหลายจงรับรู้ไว้เถิด รัฐบาลที่กดขี่เอาเปรียบเหยียบย่ำประชาชนนั้น เป็นรัฐบาลที่เลวร้ายยิ่งกว่าเสือ”…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “‘รัฐบาลที่เลวร้ายยิ่งกว่าเสือ…’ สุภาษิตขงจื๊อ กับคำถามแรกของปี 2546” เขียนโดย พระอรุณ พุทฺธินนฺโท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2560