ขงจื่อ ปราญ์ผู้ยิ่งในปวศ.จีน กับท่าทีอีหลักอีเหลื่อของพรรคคอมมิวนิสต์

การสอนแบบวิพากษ์เชิงปัญญา ขงจื่อ
ภาพเขียนสมัยราชวงศ์ซ้ง แสดงการสอนแบบวิพากษ์เชิงปัญญาของขงจื่อ

ขงจื่อ (บ้างเรียกขงจื๊อ) ปรมาจารย์จริยธรรรมผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ที่คนไทยรู้จักกันดี

ขงจื่อมีชื่อตัวว่า ชิว แซ่ข่ง มิชชันนารีนิกายเจซูอิตเรียกชื่อเขาเป็นภาษาละตินว่า Confucius (K’ung fu-tsu) หรือ Master K’ung (คำว่า “จื่อ” เป็นคำยกย่องว่าอาจารย์) จึงเป็นที่รู้จักในภาษาละตินนี้ ขงจื่อเกิดวัน 27 ค่ำ เดือน 8 (ตามปฏิทินจันทรคติจีน) เมื่อปีที่ 551 ก่อน ค.ศ. ตรงกับวันที่ 25 กันยายน จึงถือวันนี้เป็น “วันคล้ายวันเกิดขงจื่อ”

Advertisement

ครอบครัวขงจื่อเป็นตระกูลขุนนางแต่ฐานะอยากจน พ่อเขาเป็นคนรัฐซ่งที่อพยพมาอยู่รัฐหลู่ (มณฑลซานตงปัจจุบัน) เมื่อขงจื่ออายุเพียง 3 ขวบ พ่อของเขาก็เสียชีวิต เขาจึงเติบโตจากการอบรมการเลี้ยงดูของมารดาที่เข้มงวดเพื่อให้เป็นผู้มีความรู้ ภายหลังได้รับราชการเป็นขุนนางผู้น้อย ต่อมาเป็นข้าหลวงยุติธรรมอยู่เพียง 3 เดือน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะความผันผวนทางราชการ

เมื่ออายุได้ 30 ปี ขงจื่อ ได้รับยกย่องและมีชื่อเสียง เนื่องจากบ้านเมืองในยุคชุนชิวและจ้านกั่วขณะนั้น จีนแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าต่างๆ ขงจื่อและลูกศิษย์ลูกหาจึงออกเดินทางไปเยือนรัฐต่างๆ ด้วยหวังว่า จะมีผู้ปกครองรัฐรับฟัง หรือเชื่อถือในคําสอนของตน แม้ว่าเจ้าผู้ปกครองรัฐต่างๆ ต้อนรับและให้เกียรติขงจื่อกันเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีผู้ปกครองรัฐคนไหนรับขงจื่อเป็นที่ปรึกษาหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่

ขงจื่อใช้เวลา 14 ปี ตระเวนไปตามรัฐต่างๆ เพื่อเสนออุดมการณ์ของตนเอง

สุดท้ายขงจื่อเดินทางกลับรัฐหลู่บ้านเกิดเมื่ออายุได้ 60 ปีเศษ ­­­­ตั้งสำนักศึกษา ลงมือชำระคัมภีร์และผลิตตำรา มีนโยบายว่า อบรมถ่ายความรู้ผู้ใฝ่ศึกษาทั่วไป โดยไม่เลือกชาติกําเนิดหรือฐานะในสังคม วิชาการที่เปิดสอนมี 6 วิชา ได้แก่ รัฐศาสตร์, ดนตรี, ยิงธนู, ขับรถศึก, เขียนลายมือ และคณิตศาสตร์ เพื่อจะพัฒนาความคิดจิตใจของนักศึกษาให้รอบด้าน

ขงจื่อไม่เพียงเป็นนักการศึกษาและครูคนแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาของจีนที่เปิดโรงเรียนขึ้น แต่ยังเป็น “ครูอาชีพ” คนแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาของจีนที่มีเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากลูกศิษย์

แนวคิดและคำสอนของขงจื่อให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังคำสอนที่รู้จักกันดีว่า “ความสัมพันธ์ทั้งห้า” ได้แก่ บิดา-บุตร, สามี-ภรรยา, พี่-น้อง, เพื่อน-เพื่อน และผู้ปกครอง-ผู้อยู่ใต้การปกครอง ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ในครอบครัว, สังคม และบ้านเมือง

วิธีการสอนของขงจื่อ คือ ถกเถียงและการวิวาทะเชิงปรัชญา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “วิธีการทางปรัชญาของขงจื่อคล้ายกับของโสเกรตีสและพระพุทธเจ้า คือผ่านการสนทนา (dialogue) ที่แตกต่างกันคือของจีน ผู้สนทนาไม่ได้บันทึกออกมาโดยตรง หากแต่บันทึกโดยศิษย์ใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง…” (กำเนิดและความเป็นมาของการปฏิวัติ, สนพ.วิภาษา)

ขงจื่อมีลูกศิษย์ประมาณ 3,000 คน ที่ยกย่องกันว่ามีความรู้ความสามารถเป็นที่ยมรับนับถือทั่วไปมีประมาณ 70 คน ซึ่งได้บันทึกคำสอนของขงจื่อไว้เป็นหลักฐาน ในรูปของคำสนทนาโต้ตอบระหว่างอาจารย์กับศิษย์ โดยขึ้นต้นว่า “อาจารย์กล่าวว่า…” ภายหลังมีการประมวลและเรียงขึ้นเป็นหนังสือมีชื่อว่า “หลุนอี่ว์”

ทวีป วรดิลก เขียนถึงขงจื่อว่า “ในตอนปลายชีวิต ขงจื่อก็ได้เป็นผู้รวบรวมบันทึกพงศาวดารและปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ระหว่างปีที่ 770-476 ก่อน ค.ศ. ที่มีชื่อว่า “ชุนชิว” และก็สันนิษฐานกันด้วยว่า ขงจื่อเป็นบรรณาธิการหนังสือสำคัญๆ ในวรรณคดีจีนอันเป็นที่ยกย่องกันภายหลังซึ่งได้แก่ “ซูจิง” (ตำราประวัติศาสตร์ – Book of History) “ซือจิง” (ตำราว่าด้วยลำนำกวี – Book of Songs) เป็นผู้ตรวจแก้ “อี้จิง” (ตำราว่าด้วยการดนตรี – ตำรานี้ภายหลังสาบสูญไป) และ “หลี้จี” (ตำราว่าด้วยพิธีกรรม – Book of Rites) หนังสือทั้งห้าเล่มนี้ เรียกรวมกันในภาษาจีนว่า “อูจิง” (คัมภีร์ทั้งห้า – Five Classics)” (ประวัติศาสตร์จีน, สนพ.สุขภาพใจ)

ขงจื่อถึงแก่กรรม ปีที่ 479 ก่อน ค.ศ. แม้จะมีลูกศิษย์ของขงจื่อได้แยกย้ายไปเผยแพร่คำสอนขงจื่อตามรัฐต่างๆ แต่ขณะนั้นคำสอนต่างๆ ของขงจื่อก็ยังไม่เป็นที่ยกย่องแพร่หลายเท่าใดนัก จนลูกศิษย์คนสำคัญ คือ เมิ่งจื่อ และ สวินจื่อ เขียนหนังสือว่าด้วยคำสอนของอาจารย์ แนวคิดของขงจื่อ หรือ “ลัทธิขงจื่อ” จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยมีจุดเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. 337-763)

แม้ลัทธิขงจื่อจะมีอายุกว่า 2,000 สองพันปี แต่ก็ถูกท้าทายเป็นระยะเช่นกัน

สมัยราชวงศ์จิ้น จิ๋นซีฮ่องเต้สั่งปิดสำนักขงจื่อ และเผาตำราคำสั่งสอนของขงจื่อให้สิ้นซาก พระองค์ทรงเห็นว่าลัทธิขงจื่อเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอาณาจักร สิ่งที่จิ๋นซีฮ่องเต้ใช้แทนลัทธิฝ่าเจีย (นิตินิยม) ที่ใช้ระบบกฎหมาย หรือตุลาการภิวัตน์เป็นหลักในการบริหาร

ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ประมาณ พ.ศ. 2516 ลัทธิขงจื่อก็ถูกโจมตีอย่างหนัก เกิดปฏิบัติการ “วิพากษ์หลินเปียวและขงจื่อ” เพื่อกำจัดหลินเปียวซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเหมาเจ๋อตุง หากก็เป็นในยุคนี้อีกเช่นกัน ที่กระทรวงศึกษาจีนการรื้อฟื้นคำสอนของขงจื่อ อนุญาตให้เปิดโรงเรียนขงจื่อในกรุงปักกิ่ง

พ.ศ. 2548 ประชาคมโลกสนใจศึกษาภาษาจีนและวัฒนธรรมจีน สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (Office of Chinese Language Council International หรือ Hanban) ได้ก่อตั้งสถาบันสอนภาษาจีนขึ้นทั่วโลก โดยใช้ชื่อว่า “สถาบันขงจื่อ” เหตุที่ใช้นี้เพราะว่า ขงจื่อเป็นทั้งนักการศึกษา นักคิด และนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีน ความคิดและปรัชญาของท่านมีความสำคัญมากและมีอิทธิพลอยู่ทั่วโลก

สถาบันขงจื่อจะจัดตั้งอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนห้องเรียนขงจื่อจะจัดตั้งอยู่ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่ง Hanban จะจัดส่งอาจารย์สอนภาษาจีนและอาจารย์อาสาสมัครชาวจีนไปสอนในสถาบันขงจื่อตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษา ปัจจุบันคาดว่า มีสถาบันขงจื่อใน 134 ประเทศทั่วโลก แยกเป็นสถาบันขงจื่อ 500 แห่ง และห้องเรียนขงจื่อ 1012 แห่ง

พ.ศ. 2553 มีการนำเรื่องงราวของขงจื่อมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ ใช้เงินลงทุนสร้าง 150 ล้านหยวน หรือประมาณ 750 ล้านบาท มีนักแสดงนำเป็นที่รู้จักกันดีคือ โจวเหวินฟะ และออกฉายในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนั้น

สถานีวิทยุซีอาร์ไอของจีนรายงานว่า “ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมาที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘ขงจื๊อ’ เริ่มฉายที่แผ่นดินใหญ่จีน จนถึงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ยอดขายตั๋วทะลุ 38 ล้านหยวนและจะฉายที่ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยในเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาพยนตร์เรื่อง ‘ขงจื่อ’ จะส่งเสริมให้ทั่วโลกชื่นชมวัฒนธรรมจีนมากขึ้น…”

เมษายน พ.ศ. 2554 35 ปี หลังการจากไปของประธานเหมาเจ๋อตุง สำนักข่าวต่างประเทศนำเสนอข่าว “การย้ายอนุสาวรีย์ขงจื่อ” ที่ทำจากสัมฤทธิ์มีสูง 9.5 เมตร น้ำหนัก 17 ตัน เพิ่งมีการนำมาตั้งเมื่อเดือนมกราคมปีเดียวกันนี้เอง โดยตั้งที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน และเผอิญว่า อนุสาวรีย์ขงจื่อที่หน้าพิพิธภัณฑ์นั้น หันหน้าเข้าอนุสาวรีย์ของประธานเหมาเจ๋อตุง ซึ่งตั้งอยู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน

หรือการเผชิญหน้าของ (อนุสาวรีย์) 2 ผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน จะเป็นเหตุของการย้ายในครั้งนั้น

สื่อต่างๆ สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่ได้สาเหตุที่ชัดเจน

ชาวจีนจำนวนมากเข้าห้องแชทข่าวการย้ายอนุสาวรีย์ขงจื่อกันมากมาย เช่น การตำหนิพรรคคอมมิวนิสต์ว่า เป็นการแสดงท่าทีเหยียดหยามขงจื่อ เหมือนที่เคยทำให้เขาเสียชื่อเสียงเมื่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 และไม่เคยกล่าวขอโทษ, บ้างเห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีสิทธิ์ตัดสินขงจื่อและอุดมคติของขงจื่อ, บ้างก็ติดตลกว่า เพราะขงจื่อไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ฯลฯ

ขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการย้ายอนุสาวรีย์ขงจื่อ พวกเขาประกาศว่า “เอาขงจื้อไปทิ้งทะเล! คำสอนของเหมาต่างหากที่ควรยกย่อง เพราะเขาห่วงใยทุกคนไม่ใช่แค่ของชนชั้นสูง”  

กันยายน พ.ศ. 2561 เซี่ยงไฮ้อิสต์ รายงานการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของอนุสาวรีย์ “ขงจื่อ” ที่เมืองฉูฟู่ บ้านเกิดของขงจื่อในมณฑลชานตง ทางตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งโอบล้อมด้วยขุนเขาและป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ของ หลังใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 2 ปี ตัวรูปปั้นสร้างจากทองเหลืองหล่อ มีความสูง 72 เมตร เป็นรูปปั้นขงจื่อที่สูงที่สุดในโลก และเป็นรูปปั้นที่สูงที่สุดในโลกลำดับที่ 16

แม้ขงจื่อจะจากโลกนี้ไปหลายพันปี แต่ชื่อขงจื่อ หรือลัทธิขงจื่อ ยังคงอยู่เป็นที่ยอมรับและทรงพลัง ซึ่งบางครั้งก็เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลจีน แต่บางครั้งก็สร้างความอึดอัดใจแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กุมภาพันธ์ 2547

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กำเนิดและความเป็นมาของการปฏิวัติ, สำนักพิมพ์วิภาษา เมษายน 2556

Beijing’s Confucius statue mysteriously removed. Desert News, Apr 23, 2011

Controversial Confucius statue vanishes from Tiananmen. REUTERS, April 22, 2011

สถาบันขงจื่อในประเทศไทย สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล, เว็บไชต์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เปิดตัวอลังการรูปปั้น “ขงจื๊อ” ใหญ่ที่สุดในโลก-สูงตระหง่าน 72 เมตร. เว็บไซต์ข่าวสด,  27 กันยายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2562