หมอสมิทกับนิยายจักรๆ วงศ์ๆ และสุนทรภู่

สิ่งที่เป็นเทคโนโลยีอย่างใหม่ในสังคมไทยต้นรัตนโกสินทร์และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปจากสังคมสมัยเก่าสู่สังคมสมัยใหม่นั่นคือเทคโนโลยีการพิมพ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เข้ามาในสังคมไทยนั้นถูกนำเข้ามาโดยมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ที่ต้องการเผยแผ่ศาสนา และการเผยแผ่ศาสนานั้นเหล่ามิชชันนารีใช้วิธีในการอ่านและพิมพ์หนังสือ ซึ่งมาจากพื้นฐานว่าพระคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่เพียงบันทึกเรื่องราวและข้อบัญญัติทางศาสนาเท่านั้น แต่เป็นหนังสือที่คริสต์ศาสนิกชนที่ดีต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์และตีความ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงสัจจะได้อย่างแท้จริง

ประวัติศาสตร์การพิมพ์ของประเทศไทยนั้น โดยมากจะรู้จัก “หมอบรัดเลย์” เนื่องจากเป็นคนที่มีบทบาทเด่นที่สุดในด้านการพิมพ์ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์โดยนำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์เข้ามาในกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) และยังเป็นผู้ริเริ่มการหนังสือพิมพ์ในสยามคือ บางกอกรีคอเดอ แต่หากพูดถึงหมอสมิทก็อาจจะมีน้อยคนที่รู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่หมอสมิทเป็นผู้ที่ทำให้นิยายคำกลอนจักรๆ วงศ์ๆ เป็นหนังสือยอดฮิตอีกทั้งยังมีส่วนในการทำให้พระอภัยมณีโด่งดังอีกด้วย

หมอสมิท หรือ แซมมวล จอห์น สมิท เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2363 (ค.ศ. 1820) ที่เมืองอินเดีย มีบิดาเป็นชาวอังกฤษและมารดาเป็นชาวโปรตุเกส ด้วยสถานะดังกล่าวทำให้หมอสมิทมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสองของจักรวรรดิอังกฤษเช่นเดียวกับแอนนา ลีโอโนวเวนส์ อย่างไรก็ตามหมอสมิทก้ได้กลายเป็นลูกบุตรธรรมของมิชชันนารีทำให้สถานะทางสังคมของหมอสมิทเลื่อนชั้นขึ้นและมีโอกาสที่ดีในชีวิตมากขึ้น

หมอสมิทเดินทางมายังกรุงเทพฯ ในขณะที่มีอายุได้ 12 ปี มีโอกาสได้รู้จักกับชนชั้นนำสยามในสมัยนั้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้หมอสมิทมีโอกาสไปเรียนอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 14 ปี โดยเรียนหลากหลายวิชาและวิชาการพิมพ์หนังสือ เมื่อกลับมาที่สยามก็ได้อยู่ในสังกัดแบ็พติสท์ที่กรุงเทพฯ ต่อมายังพบว่าเคยเป็นล่ามให้คณะทูตจากปัตตาเวีย (ชาวดัตช์) จึงน่าจะเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ มลายู นอกเหนือจากภาษาโปรตุเกสด้วย

บทบาททางด้านการพิมพ์ของหมดสมิธนั้นโดดเด่นกว่าด้านการเผยแผ่ศาสนา มีหนังสือมากมายที่หมอสมิทเป็นคนจัดพิมพ์ และในหนังสือที่พิมพ์ทั้งหมดของหมอสมิทนั้นมีหนังสือเกี่ยวกับศาสนาคริสต์อยู่เพียง 2 รายการ คือ พระคริษวงษตามมัดธายแลตามโยฮัน กับบุดฉาแลวิสัชนาในสาสนาแท้จริง ที่เหลือเป็นนิราศ สุภาษิต เรื่องพงศาวดาร และนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่ศาสนาอย่างใดเลย

เรื่องที่หมอสมิทนำมาพิมพ์นั้นเป็นหนังสือนิทานกลอนในยุคแรกไม่ว่าจะเป็น โคบุตร สิงหไกรภพ หรือแม้แต่พระอภัยมณี คือเรื่องที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วแต่เดิมจากลักษณะอื่นๆ เช่น การแสดง กลอนสวด ละครนอก การร้องรำทำเพลง ตลอดจนเรื่องเล่าในแบบต่างๆ ในโลกของวรรณกรรมมุขปาฐะ หมอสมิทเพียงถ่ายโอนเรื่องเล่าอย่างเดียวกันจากสื่อจารีตเดิมไปสู่การพิมพ์ เฉกเช่นในปัจจุบันที่เปลี่ยนจากวรรณกรรมไปสู่ละครโทรทัศน์นั่นเอง

ด้วยความที่หมอสมิทนั้นพิมพ์งานนิทานคำกลอนมากมาย โดยเฉพาะงานของสุนทรภู่ดังนั้นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือความสำเร็จ ความนิยมชมชอบและความแพร่หลายในผลงานของสุนทรภู่นั้นเป็นผลมาจากการพิมพ์งานของหมอสมิทด้วยส่วนหนึ่ง เพราะการพิมพ์ทำให้ผลงานของสุนทรภู่แพร่หลายไปในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องพระอภัยมณีที่ทำให้หมอสมิทร่ำรวยขึ้นจากการพิมพ์งานชิ้นนี้

ในช่วงที่นิทานคำกลอนของหมอสมิทขายดีมากๆ นั้นก็มีโรงพิมพ์เกิดขึ้นมากมายเพื่อพิมพ์นิทานแข่งกับหมอสมิท แต่เมื่อหมอสมิทถูกฟ้องร้องและห้ามไม่ให้พิมพ์หนังสือในแนวดังกล่าวอีกต่อไป ก็ได้มีโรงพิมพ์ต่างๆ ในสมัยนั้นเข้ารับช่วงการพิมพ์หนังสือในลักษณะเดียวกับหมอสมิทต่อไป เช่น โรงพิมพ์นายเทพที่ปากคลอง โรงพิมพ์นายศรีบริเวณสะพานหัน โรงพิมพ์พานิชศุภผล และโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ

โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อที่ว่า “โรงพิมพ์วัดเกาะ” เพราะโรงพิมพ์ตั้งอยู่หน้าวัดสัมพันธวงศ์ หรือที่เรียกกันว่าวัดเกาะ โรงพิมพ์แห่งนี้จึงเรียกกันติดปากว่า “โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ” หรือ “โรงพิมพ์วัดเกาะ” และเรื่องที่สร้างชื่อให้กับโรงพิมพ์วัดเกาะนี้ก็คือเรื่องประโลมโลกย์หรือเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทำให้เรื่องแนวนี้ถูกเรียกว่า “นิทานวัดเกาะ” ด้วย

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า “หนังสือวัดเกาะ” มีกำเนิดจากหมอสมิทนี่เอง คุณูปการของหมอสมิทนั้นมิได้มีแต่เพียงเรื่องของการพิมพ์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำให้นิทานคำกลอน นิทานจักรๆ วงศ์ๆ เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทยอีกด้วย และที่สำคัญที่สุด ชื่อเสียงของสุนทรภู่ที่ขจรขจายไปไกลได้นั้นย่อมมีหมอสมิทเป็นแรงผลักดันด้วยอีกส่วนหนึ่ง


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2560