“เมียพระราชทาน” มาทีหลัง แต่มาแรง แม้แต่ “เมียหลวง” ยังต้องหลบ!

เกี้ยวผู้หญิง ผู้ชาย พูดคุย
ภาพประกอบเนื้อหา - ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

“ภรรยาพระราชทาน” หรือ “เมียพระราชทาน” เป็นธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งในราชสำนักสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ใดทำความดีความชอบ จงรักภักดี เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ก็จะพระราชทานผู้หญิงเป็นบำเหน็จรางวัล หญิงนั้นได้ชื่อว่าเป็น “นางพระราชทาน” หรือ “เมียนาง” นั่นเอง

เมียพระราชทาน มีมาแต่อยุธยาตอนต้น 

เรื่องนี้ กาญจนา ธีรศาศวัต เขียนบทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน พ.ศ. 2528 โดยยกหลักฐานและเอกสารต่างๆ มาให้เห็นภาพเมียพระราชทานชัดขึ้น เช่น กฎหมายตราสามดวง กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ผู้ใดชนช้างมีไชย แลข้าศึกขาดหัวช้าง บำเหน็จได้พานทอง ร่มคันทอง คานหามทอง แลเมียนาง” [1]

ธรรมเนียมการพระราชทานหญิงให้เป็นรางวัลนี้ ยังปรากฏหลักฐานในวรรณคดีหลายเล่ม เรื่องแรกคือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีที่แต่งด้วยบทกลอนชิ้นแรกของไทย ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา มีข้อความตอนแรกเกี่ยวกับการสร้างโลก การสาบแช่งผู้ทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนตอนท้ายให้พรผู้จงรักภักดี และกล่าวว่า ผู้ใดที่ซื่อสัตย์ พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานสิ่งต่างๆ เป็นรางวัล พร้อมกับคำที่ว่า “ใครซื่อเจ้าเติมนาง” เพราะฉะนั้นย่อมเชื่อได้ว่า ธรรมเนียมอย่างนี้ในสมัยอยุธยาตอนต้นก็มีใช้แล้ว

วรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งเนื้อเรื่องได้มาจากสมัยอยุธยา และหลายๆ ตอนมาเขียนกันในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พระไวย บุตรชายของขุนแผนกับนางวันทอง ได้ นางสร้อยฟ้า พระราชธิดาเจ้าเชียงใหม่มาเป็น “เมียนาง” หรือ เมียพระราชทาน เพราะสามารถรบชนะพระเจ้าเชียงใหม่

ส่วนเรื่อง ราชาธิราช สมิงนครอินทร์ ทหารเอกผู้หนึ่งของพระเจ้าราชาธิราชทำศึกชนะ สามารถประหารชีวิตมังมหานรธาได้ พระเจ้าราชาธิราชโปรดให้ นางอุตละ หยิบหมากในพานพระศรีมาประทานให้ ภายหลังสมิงนครอินทร์แกล้งลองพระทัยว่าชอบนางอุตละ พระเจ้าราชาธิราชก็พระราชทานให้ พร้อมกับตรัสว่า

“ทุกวันนี้ตัวเราก็เป็นกษัตริย์ใช่จะไร้พระสนมเสมอนางอุตละนี้ก็หามิได้ แม้นจะหาสตรีที่มีลักษณะรูปงามให้ยิ่งกว่านางอุตละนี้ก็ได้ดังความปรารถนา แต่จะหาข้าทหารมีฝีมือเข้มแข็งดุจสมิงนครอินทร์นี้หายากนัก” [2]

ภายหลังสมิงนครอินทร์ได้คืนนางอุตละไป พร้อมทั้งขอขมานางด้วย

การที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานนางเป็นรางวัลแก่ข้าราชการผู้ประกอบความชอบ กาญจนาได้นำมุมมองของ ศิลป์ พิทักษ์ชน หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เคยวิจารณ์เรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง โองการแช่งน้ำ มาเสนอด้วยว่า

“เสร็จแล้วก็หยอดทีเด็ดเข้าให้ว่า ใครซื่อเจ้าเติมนาง ทีเด็ดอันนี้คือใครซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน ท่านจะพระราชทาน ตัวอ่อน ๆ เพิ่มเติมให้เป็นรางวัล สำหรับอยู่งานนวดเฟ้นข้างในจวน นี่คือวัฒนธรรมหรือนัยหนึ่งรูปแบบชีวิตของศักดินา ผู้หญิงของสังคมศักดินาก็คือเครื่องมือบำบัดความใคร่อันมีชีวิตเป็นเสมือนทรัพย์สิน สิ่งของที่หยิบยื่นให้กันเป็นรางวัล หน้าที่ของเธอก็คือบำเรอความสุขทางกามารมณ์ให้แก่ชาย ไม่ผิดอะไรกับโสเภณี ผิดกันแต่ว่า เป็นโสเภณีผูกขาดที่ไม่สําส่อนเท่านั้น” [3]

จิตร ภูมิศักดิ์ มองเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นลักษณะดูถูกสตรีเพศของศักดินา ที่นำผู้หญิงมาเป็นรางวัลเหมือนทรัพย์สินเงินทอง และเอาผู้หญิงไปเพื่อบำเรอความสุขทางกามารมณ์ หญิงจึงมีลักษณะไม่ต่างไปจากโสเภณีผูกขาด

เมียนาง กับมิติทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม กาญจนาบอกว่า เมื่อวิเคราะห์เรื่องนี้โดยละเอียด หาหลักฐานต่างๆ มาประกอบ จะเห็นได้ว่า เมียพระราชทาน ไม่ใช่เรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทำไปอย่างสนุกๆ ไม่มีสาระ นึกจะยกผู้หญิงให้ไปบำเรอกามารมณ์ของใครก็ได้ แต่กลับเป็นนโยบายในการบริหารระดับชาติเลยทีเดียว

สิ่งที่พอจะเป็นหลักฐานยืนยันว่า การพระราชทานนางมี “การเมือง” แอบแฝงอยู่ด้วยแน่นอนนั้น มีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าจะนำมาพิจารณาได้ดังนี้

ประการแรก หญิงที่พระเจ้าแผ่นดินนำมาพระราชทาน เป็นนางข้าหลวงที่มาถวายตัวรับใช้อยู่ตามตำหนักมเหสี เจ้าจอม และพระสนมต่างๆ หญิงเหล่านี้มักเป็นลูกคหบดี ข้าราชการ ซึ่งปรารถนาจะให้ลูกได้รับการศึกษาอบรมแบบชาววัง เพราะฉะนั้นจึงมักจะส่งธิดาเข้าไปถวายตัวเป็นนางข้าหลวงอยู่กับเจ้านาย พระองค์หญิง หรือท่านผู้ใหญ่ในพระราชวังตั้งแต่ยังเยาว์วัย ข้าราชการที่ถวายธิดาเป็นนางข้าหลวงคนหนึ่งหรือสองคนแล้ว ก็นิยมส่งธิดาผู้น้องเข้าไปศึกษาอบรมด้วย [4]

หญิงเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในเรื่องการประกอบอาหาร เย็บปักถักร้อย ขับร้องและฟ้อนรำ มีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าจอมของพระเจ้าแผ่นดิน นางพระราชทาน หรือลาออกไปแต่งงานตามฐานะสกุล ซึ่งย่อมเป็นที่หมายปองของชายสกุลสูง ด้วยถือว่ามีคุณสมบัติของกุลสตรี

สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน การโปรดหญิงคนใดขึ้นเป็นเจ้าจอม นอกจากจะเป็นการชอบพอพระทัยของพระองค์เองแล้ว ย่อมหมายถึงการผูกความจงรักภักดีของครอบครัวนั้นต่อพระองค์ด้วยอีกประการหนึ่ง การจะยกหญิงคนใดให้ข้าราชการผู้ใด อาจใช้หลักการอันเดียวกันคือ เป็นการผูกพันให้เกิดความจงรักภักดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

ประการที่สอง พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่นิยมพระราชทานพระมเหสี เจ้าจอม หรือพระสนมของพระองค์แก่ผู้ใด ด้วยมีประเพณีถือกันว่าอะไรที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์แล้ว ใครไปใช้ร่วมย่อมเป็นเสนียดจัญไร จึงพระราชทานได้แต่นางข้าหลวงในตำหนักของพระชายาต่างๆ เท่านั้น หญิงเหล่านี้พอเริ่มเติบโตก็ถูกส่งมาอยู่ในวัง ได้รับการฝึกปรือกล่อมเกลาความจงรักภักดี เมื่อถูกส่งไปอยู่กับใคร ก็อาจโน้มน้าวให้คนที่อยู่ใกล้มีแต่ความจงรักภักดียิ่งๆ ขึ้นไป

เมียพระราชทาน ที่แม้แต่ “เมียหลวง” ยังต้องหลบ

เมียพระราชทาน หรือ เมียนาง มีกฎหมายรับรองสถานภาพ ดังที่กาญจนายกตัวอย่างว่า ใน พระอัยการลักษณะผัวเมีย ซึ่งเป็นกฎหมายตราขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้แบ่งภรรยาไว้ 3 ประเภท [5]

เมียกลางเมือง หมายถึง เมียหลวง ได้แก่ “หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย”

เมียกลางนอก หมายถึง เมียน้อย (อนุภรรยา) ซึ่งได้แก่ “ชายขอหญิงมาเป็นอนุภรรยา หลั่นเมียหลวงลงมา”

เมียกลางทาสี หมายถึง เมียที่เป็นทาส ได้แก่ “หญิงใดมีทุกข์ยากชายช่วยไถ่ได้มา เป็นหมดหน้าเลี้ยงเป็นเมีย” รองลงมาจากเมียน้อย

นอกจากนี้ ใน กฎมณเฑียรบาล ยังกล่าวถึงภรรยาอีกประเภทหนึ่งคือ เมียพระราชทาน หรือ เมียนาง ซึ่งมีตำแหน่งและฐานะสูงกว่าเมียกลางเมือง (เมียหลวง) แต่ถือศักดินาเท่าเมียหลวง ผู้ที่ได้รับพระราชทานเมียนาง จะเอาไปขายเป็นทาสแก่ผู้ใดไม่ได้ ส่วนเมียหลวง เมียน้อย หรือเมียทาส สามีมีสิทธิที่จะเอาไปขายได้ นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติให้ถูกทำนองคลองธรรม จะทุบตีทารุณอย่างเมียอื่นไม่ได้ มีบทลงโทษไว้ว่า

“อนึ่งเมียแห่งตนนั้น ท้าวพญา ประสาทให้แก่ตน ถ้าแลษัตรีนั้นผิดประการใดแต่ตีด่าให้หลาบ ปราบให้กลัว อย่าให้ล้มตายเสียรูปทรงษัตรีนั้นไป ถ้าหมีได้ทำตามโทษสามสถาน” [6]

แสดงว่าถึงชายใดมีเมียหลวงอยู่ก่อน ถ้าได้เมียพระราชทานมาแล้ว เมียพระราชทานก็จะอยู่ในฐานะที่เหนือเมียทั้งปวง

หากสามีตาย มีบทบัญญัติไว้ว่า เมียพระราชทานจะได้รับมรดกมากกว่าเมียประเภทอื่นๆ คือ

“ภริยาอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้ได้ทรัพย์ 3 ส่วนกึ่ง ภริยาอันสู่ขอมีขันหมาก บิดามารดายกให้ได้ทรัพย์ 3 ส่วน เหตุภริยาอันพระราชทานให้นั้นสูงศักดิ์กว่า ภริยาอันมีขันหมากบิดามารดายกให้ อนุภริยาได้ทรัพย์ 2 ส่วนกึ่ง ภริยาทาสให้ปล่อยเป็นไท” [7]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กาญจนา ธีรศาศวัต. ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน พ.ศ. 2528

เชิงอรรถ :

[1] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 คุรุสภา 2515. หน้า 90.

[2] เจ้าพระยาคลัง (หน). ราชาธิราช. แพร่พิทยา 2515. หน้า 366

[3] ศิลป์ พิทักษ์ชน. “โองการแช่งน้ำ”. ศิลปวรรณกรรมสมัยศักดินา หน้า 113-114.

[4] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 42 พระประวัติบุคคลสำคัญ. บรรณาคาร 2509. หน้า 509-526

[5] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 พิมพ์ครั้งที่ 2 คุรุสภา 2515. หน้า 206.

[6] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 116.

[7] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 3 พิมพ์ครั้งที่ 2 คุรุสภา 2515. หน้า 26-27.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566