ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 26 มิถุนายนเป็นวันเกิดของ สุนทรภู่ อาลักษณ์ที่มีความสามารถเชิงกวี สุนทรภู่มีผลงานแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับมากมาย โดยเฉพาะผลงานเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่คือ “พระอภัยมณี” เมื่อปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม จึงถือเอาวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสุนทรภู่” เป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย
“พระอภัยมณี” ซึ่งมีเค้าโครงเรื่องสนุก จินตนาการล้ำยุค ตัวละครจากหลากหลายชนชาติ ฯลฯ ตัวเอกของเรื่องคือพระอภัยมณีมีความสามารถในวิชาปี่ พระอภัยเป่าปี่หลายต่อหลายครั้งเพื่อการศึก, เกี้ยวสาว ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึวกันมากมาย
สมชาย พุ่มสอาด ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวจำนวนครั้งที่พระอภัยเป่าปี่และอธิบายเหตุที่เป่า เขียนไว้ใน บทความชื่อ“ปี่พระอภัย” โดย ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2527 ที่หลายท่านว่าพระอภัยเป่าปี่ 10 ครั้ง แต่สมชาย พุ่มสอาด ค้นคว้าและสรุปว่าพระอภัยเป่าปี่ 13 ครั้ง
ซึ่งขอคัดย่อและเรียบเรียงมานำเสนออีกครั้งเพื่อระลึกถึงสุนทรภู่
เป่าปี่ครั้งที่ 1
พระอภัยเป่าปี่ครั้งแรกตอนเรียนวิชากับท่านศาสตราจารย์ดร.ทิศาปาโมกข์อธิการบดีแห่งจันตคาม University หลังจากที่ฟัง Lecture ภาคทฤษฎีแล้วอาจารย์ก็พาไปเรียนภาคปฏิบัติ
“แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่ ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น
แต่เสือช้างกลางไพรถ้าได้ยิน ก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง”
เป่าปี่ครั้งที่ 2
เมื่อพระอภัยมณีและศรีสุวรรณถูกขับไล่ออกจากเมืองมาพบกับ 3 พราหมณ์ซึ่งสงสัยว่าไปเรียนทำไม่วิชาปี่ พระอภัยจึงอธิบายให้ฟังว่า
“ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้ปี่เล่าเป่าไปให้ได้ยิน ก็จุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง”
ส่วนเพลงปี่ที่ใช้ก็กล่าวว่า
“ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย ยังไม่เคยได้ชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย”
ผลก็คือทั้งคณะหลับกันหมดส่วนนางผีเสื้อสมุทรที่ได้ยินแล้วไม่หลับเพราะไม่ใช่มนุษย์ครุฑเทวดาและสัตว์ 4 เท้า แต่เป็นอมนุษย์ จึงไม่เข้าข่าย
เป่าปี่ครั้งที่ 3
ตอนที่ 14 เมื่อนางผีเสื้อสมุทรตามอาละวาดด้วยความแค้นที่พระอภัยหนีมาจึงเที่ยวทำร้ายผู้คน พระอภัยต้องเป่าปี่ให้นางขาดใจตาย ก่อนที่จะเป่าปี่พระอภัยบอกให้พรรคพวกของตนเอาน้ำลายมาอุดหู ตัวเองก็ลาเพศฤษี เพื่อจะได้ไม่ทุศีล แล้วเริ่มภาวนาคาถาอาคมตามตำรับไสยเวทก่อนจะลงมือเป่าปี่
“แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วจับใจ สอดสำเนียงนิ้วเอก วิเวกหวาน
พวกโยคีผีสางทั้งนางมาร ให้เสียวซ่านวาบวับจับหัวใจ”
ฝ่ายนางผีเสื้อสมุทรเมื่อได้ยินเพลงปี่
“แต่เพลินฟังนั่งโยกจนโหงกหงุบ ลงหมอบซุบซวนซบสลบไสล
พอเสียงปี่ที่แหบหายลงไป ก็ขาดใจยักษ์ร้ายวายชีวา”
เป่าปี่ครั้งที่ 4
ตอนที่ 18 พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรนเป่าปี่เรียกสินสมุทร
“พระเป่าปี่เปิดเสียงสำเนียงเอก เสนาะดังฟังวิเวกกังวานหวาน
ละห้อยหวนครวญเพลงบรรเลงลาน โอ้สงสารสุริย์ฉายจะบ่ายคล้อย
ที่คลาดแคล้วแก้วตามาว้าเหว่ ท้องทะเลแลเปล่าให้เศร้าสร้อย
ป่านนี้น้องสองคนกับลูกน้อย จะล่องลอยไปอยู่หนตำบลใด
สินสมุทรไม่มาหาบิดาเลย พ่อจะเชยใครเล่าเจ้าพ่ออา”
สินสมุทรได้ยินเสียงปี่ก็รู้ทันทีว่าพ่อเรียกหา ก็รีบเดินทางมาทันที
เป่าปี่ครั้งที่ 5
ตอนที่ 27 เป็นการเป่าปี่เพื่อจับเจ้าละมานที่อาสามาตีเมืองเพราะหวังในตัวนางละเวงพระอภัยทราบข่าวก็สั่งให้ตีกรงเหล็กรอไว้ขังเจ้าละมานเมื่อยกทัพมาถึงว่าแล้วพระอภัยก็เป่าปี่
“หยิบปี่แก้วแล้วชูขึ้นบูชา พอลมมาเพลาเพลาทรงเป่าพลัน
เปิดสำเนียงเสียงลิ่วถึงนิ้วเอก หวานวิเวกวังเวงดังเพลงสวรรค์
ให้ชื่นเฉื่อยเจื่อยแจ้วถึงแก้วกรรณ เหล่าพวกฟันเสี้ยมฟังสิ้นทั้งทัพ
ยืนไม่ตรงลงนั่งยิ่งวังเวก เอกเขนกนอนเคียงเรียงลำดับ
เจ้าละมานหวานทรวงง่วงระงับ ล้มลงหลับลืมกายดังวายปราณ”
เหตุการณ์ตอนนี้มีบางท่านว่าคล้ายประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 ตอนจับตัวเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์มาขังไว้ที่สนามหลวงเนื่องจากคิดขบถ
เป่าปี่ครั้งที่ 6
ตอนที่ 30 พระอภัยตีเมืองลังกา นางละเวงวางกลดักพระอภัย พระอภัยเสียทีแต่เมื่อตั้งสติได้ก็หยิบปี่ขึ้นมาเป่าแก้สถานการณ์
“ตกพระทัยในอารมณ์ไม่สมประดี จึงทรงปี่เป่าห้ามปรามณรงค์
วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น คนขยั้นยืนขึงตะลึงหลง
ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแงคอย
……..
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่ พวกโยธีทิ้งทวนชนวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหงับทับกันเอง เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป”
เป่าปี่ครั้งที่ 7-9 (เป่าปี่ 3 ครั้ง)
ตอนที่ 31 พระอภัยเป่าเรียกนางละเวง
“แล้วนึกได้วิชาพฤฒาเฒ่า จะลองเป่าปี่ประโลมนางโฉมศรี
ให้งามสรรพกลับมาให้พาที แล้วทรงปี่เป่าเกี้ยวประเดี๋ยวใจ”
พอนางละเวงได้ฟังเพลงปี่ก็
“คิดกำหนัดอัดอั้นหวั่นวิญญาณ์ นั่งนึกน่าจะใคร่ปะพระอภัย
เธอพูดดีปี่ดังฟังเพราะ จะฉอเลาะลูบต้องทำนองไหน”
แล้วนางละเวงก็มาหาพระอภัย พอนางละเวงมาถึงพระอภัยก็วางปี่เข้าคว้าไขว่ นางละเวงพอรู้สึกตัวก็ขับม้าหนีไป พระอภัยเป่าปี่อีก นางก็ไม่กลับมาเหนื่อยไปเอง
เป่าปี่ครั้งที่ 10
พระอภัยก็เป่าปี่ปลุกทัพถ้าไม่เป่าปี่มีหวังยุ่งชุลมุนกันตายเพราะคนทั้งสองทัพตกจำนวนแสนมาหลับกันหมดถ้าหากจะปล่อยให้ตื่นเองคนละทีสองทีก็อาจเหยียบกันตายไม่รู้ว่าชาวฝรั่งชาวไทยคนจะสับสนน่าดูจะบังคับบัญชากันไม่ติดนางละเวงจึงขอร้องให้พระอภัยปลุกทัพคือให้ตื่นก่อนกำหนดโดยการเป่าถอนอำนาจปี่
“ดำริพลางทางลงแล้วทรงปี่ เรียกโยธีไพร่นายทั้งซ้ายขวา
ให้วาบแว่วแก้วหูรู้วิญญาณ์ ต่างลืมตาตกใจทั้งไพร่นาย”
เป่าปี่ครั้งที่ 11
ตอนที่ 35 นางยุพาผกาทำอุบายให้พระอภัยเป่าปี่ ตอนติดท้ายรถเข้าเมืองลังกา
“พระฟังคำรำลึกพอนึกได้ ดีพระทัยที่จะชมประสมสอง
หยิบขี้ผึ้งที่เธอทำขึ้นสำรอง โยนให้ย่องตอดบ้างทั้งธิดา
อันปรอทหยอดหูสู้ไม่ได้ มันเหลวไหลเข้าในหนังในมังสา
แล้วแลดูสุริยนพอสนธยา หยิบปี่มาเป่าเพลงวังเวงใจ”
พอนางหลับหมดพระอภัยก็ปลอมตัววเป็นนางละเวงนั่งรถเข้าลังกาสบายไป
เป่าปี่ครั้งที่ 12
ตอนที่ 44 ชั้นลูกหลาน พระอภัย ศรีสุวรรณ เกิดรบทัพชุลมุนวุ่นวาย พระอภัยจึงเป่าเรียกนางละเวงและกองทัพทังหมด
“แล้วพระองค์ลงจากม้าที่นั่ง ขึ้นหยุดยั้งอยู่บนเนินเชิงเทินผา
คิดรำพึงถึงลูกสาวเจ้าลังกา หยิบปี่มาเป่าดังเป็นกังวาน
แต่ไม่ให้ไพร่พลผู้คนหลับ ให้วาบวับแว่วเพลงวังเวงหวาน
วิเวกโหวยโหยไห้อาลัยลาน โอ้ดึกป่านนี้แล้วแก้วกลอยใจ”
เรื่องร้อนถึงพระฤษีเกาะแก้วพิสดารต้องมาเทศน์โปรดจนเกิดความสามัคคีกันแก่ทัพทั้ง 2 ว่า
“กูคนซื่อถือสัตย์จะตัดสิน ให้หายสิ้นโมโหที่โทษา
ด้วยแรกเริ่มเดิมนั้นนางวัณฬา จะลวงฆ่าพระอภัยเสียให้ตาย
ข้างโน้นมีปี่เป่าเป็นเจ้าเล่ห์ ฝ่ายข้างนี้มีเสน่ห์เหมือนนึกหมาย
แต่สตรีดีกว่าจึงพาชาย ให้หลงตายติดขังอยู่วังใน”
เป่าปี่ครั้งที่ 13
ตอนที่ 61 พระอภัยเป่าปี่ครั้งสุดท้ายเนื่องจากลูกหลานเกิดรบกันอีก ร้อนถึงพระอภัยต้องเป่าปี่จับ
วลายุกาวายุพัฒน์หัสกัน
“ฝ่ายองค์พระอภัยเห็นใกล้คํ่า จึงวักน้ำลูบปี่อธิษฐาน
เป่าเสียงสูงฝูงคนเหลือทนทาน ก้องกังวานวาบวับเสียวจับใจ”
แน่นอนการเป่าปี่แต่ละครั้งแสดงถึงความรู้ความสามารถของพระอภัยซึ่งสมชายพุ่มสอาดอธิบายไว้ว่า
“อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ ในระดับแรกเป็นความรู้ในทางปฏิบัติจริงๆ นั่นก็คือ ความชำนาญในการเป่าปี่หรือดีดพิณ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับการรบพุ่งและการนี้ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ดี คือ ปี่ที่เป่า เพราะเสนาะเสียง ยินสำเนียงถึงไหนก็ใหลหลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จอันแรกนี้ย่อมขึ้นกับความรู้ในระดับที่สอง นั่นก็คือ ความรู้ในเล่ห์กลโลกาห้าประการ คือ รูป รส กลิ่น เสียง เคียงสัมผัส เพื่อว่าจะได้ เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคนได้…”
อ่านเพิ่มเติม :
- ความสงสัยใหม่เกี่ยวกับพระอภัยมณี
- พระอภัยมณีได้นางเงือกเป็นเมีย “รักที่ฉาบฉวยหรือยั่งยืน”?
- พระอภัย เป่าปี่ : เพลงปี่ของพระอภัยมณี สุนทรภู่ยืมไอเดียจากพงศาวดารจีนไซ่ฮั่น ?!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2560