ความสงสัยใหม่เกี่ยวกับพระอภัยมณี

หุ่นขี้ผึ้งชุด “พระอภัยมณี” ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

ความนำ

หนังสือพระอภัยมณีเขียนขึ้นมาในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเลียนแบบ (และบางตอนล้อเลียน) วรรณกรรม “มหากาพย์” ของอินเดีย มันเป็นนิยายประดิษฐ์ Fiction ที่เกิดจากจินตนาการ Imagination, ค่อนไปทางแนวเหนือจริง Surrealism, หาเป็นแนวสมจริง Realism ไม่ได้ ดังนั้นใครพยายามอ่านพระอภัยมณีเหมือนเป็นประวัติศาสตร์ก็ต้องคว้าน้ำเหลวและสมควรถูกหาว่าสติไม่ใคร่จะดี

ผมเองก็ยอมรับว่า พระอภัยมณีไม่ใช่ประวัติศาสตร์แน่ (จึงหวังว่าท่านผู้อ่านคงไม่เห็นว่าผมฟุ้งซ่าน) แต่เมื่ออ่านระหว่างบรรทัดผมจับได้ว่า พระอภัยมณีสะท้อนเค้าภูมิศาสตร์จริงและประวัติศาสตร์จริงในบางตอน

Advertisement

ในบทความนี้ผมจะพยายามแสดงเค้าภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์จริง แต่ก่อนจะเข้าเรื่องต้องไหว้ครูก่อน

1. เรื่องภูมิศาสตร์ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยแสดงด้วยหลักฐานน่าเชื่อถือว่าเรื่องในพระอภัยมณีว่าด้วยการท่องสมุทรนั้นล้วนแต่เกิดในอ่าวเบงกอล/ทะเลอันดามัน/มหาสมุทรอินเดีย นี่เป็นการแย้มประตูสงสัยให้ผมขั้นแรก

2. อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ได้แสดงด้วยหลักฐานเต็มประดาว่า สุนทรภู่เป็นพราหมณ์เมืองเพชรบุรี นี้เป็นการแย้มประตูสงสัยอีกขั้นหนึ่ง เพราะเท่าที่ผมศึกษามาพราหมณ์เมืองไทยไม่ได้มาจากเมือง “รามราช” (ในพาราณสี) ดังที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐาน แต่มาจากแคว้น “รามนาฎ” Ramanad ในอินเดียใต้ที่คุมถนนพระรามและการคมนาคมไปมาทั้งหมดระหว่างเกาะลังกาและแผ่นดินใหญ่

ไหว้ครูแล้วผมขอเข้าเรื่องดังนี้

ศึกเมืองผลึก-ลังกาเกิดสมัยใด?

เราพออนุมานได้ไหมว่า “ลังกา” ในพระอภัยมณีคือเกาะศรีลังกาที่รู้จักกันทุกวันนี้? ส่วน “เมืองผลึก” น่าจะอยู่ในอุษาคเนย์ “ผลึก” เป็นรหัส หมายถึง “ภูเก็จ” (“เก็จ” ภาษาทมิฬ แปลว่า “ผลึก”) หรือ “นครศรีธรรมราช” (หาดทรายแก้ว) หรือตรงกับ “กรุงรัตนา” (รัตนโกสินทร์)?

สุนทรภู่ทำงานอยู่ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่จักรวรรดิอังกฤษ (เพียงฝ่ายเดียว) มาเบียดชิดชายแดนสยาม ฝรั่งชาติอื่น เช่น โปรตุเกสและดัตช์ไม่เกี่ยว และฝรั่งเศสเพิ่งมาท้าทายในรัชกาลที่ 5 (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19)

เป็นไปได้ไหมว่า เรื่องพระอภัยมณีสมมุติว่าเกิดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ? และนางละเวง วัณฬา เจ้าเมืองลังกา คือพระนางวิกตอเรีย? ก็เป็นไปได้ แต่ผมว่าเป็นไปยาก เพราะในบทว่าด้วยศึกลังกานั้นมี “ฝรั่ง” หลายชาติหลายภาษาและมีแม่ทัพ “แขก” ที่บางคนชื่อฟ้องว่าเป็น “ทมิฬ” และบางคนชื่อฟ้องว่าเป็น “ชวา”

“ภาพ” ดังกล่าวนี้ดูไม่ตรงกับลังกาที่ตกเป็นของอังกฤษแต่ฝ่ายเดียวอยู่แล้วในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และโดยมากจะสงบเรียบร้อย ไม่มีศึกใหญ่ ในทางตรงกันข้ามบท “ศึกลังกา” ในพระอภัยมณีสะท้อนสถานการณ์ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์และก่อนหน้านั้นเล็กน้อย) ที่ชาวดัตช์แย่งชิงลังกาจากชาวโปรตุเกส ในสงครามยืดเยื้อนั้นชาวโปรตุเกสใช้กำลังพลจากอินเดียและชาวดัตช์ใช้กำลังพลจากชวา (ฝรั่งเศสยังพยายามชิงเมืองท่าบ้าง แต่ไม่สำเร็จ)

ผมไม่อยากชวนใครให้อ่านพระอภัยมณีเป็นประวัติศาสตร์ แต่เป็นไปได้ไหมว่า สุนทรภู่ยังครอง “ความทรงจำ” (มุขปาฐะ) หรือเคยเห็นความบันทึกในเอกสารที่สาบสูญหายไปเสียแล้ว?

บทบาทของ “บาทหลวง” และ “สังฆราช”

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 บรรดา “บาทหลวง” (สมณะในศาสนาโรมันคาทอลิก) ในสยามล้วนมีบทบาทสงบเรียบร้อย คือประกอบศาสนกิจให้บรรดาเข้ารีตชาวจีน ญวน เขมร ในรัชกาลที่ 3 ท่านสังฆราช Pallegoix ยังเป็นพระสหายของเจ้าฟ้ามงกุฎแลกเปลี่ยนความรู้ทางภาษา ฯลฯ

แต่ในพระอภัยมณี “บาทหลวง” มีบทบาทร้ายกาจคล้ายในยุคที่โปรตุเกสครองลังกา (ค.ศ. 1581-1656) นั่นคือบาทหลวงจะส่งเสริมการแผ่อำนาจจักรวรรดินิยม เทศนาปลุกใจทหารเวลาออกรบ ชักชวนให้ทำลายศาสนาอื่น และปกครองชาวบ้านที่เข้ารีต

ดังนี้ดูเหมือนกับว่า บทบาทของ “บาทหลวง” ในพระอภัยมณีจะเหมาะกับสมัยอยุธยาตอนกลางมากกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ราชสตรีครองลังกา

สุนทรภู่ว่า ลังกาปกครองโดยราชสตรีนามว่า “นางละเวง วัณฬาราช” ชื่อนี้ฟังคล้าย “เอฬาราช” (ราชบุรุษชาวทมิฬที่ครองลังการาวสมัยคริสตกาล) ในประวัติศาสตร์ลังกามีสตรีขึ้นครองราชย์ถึง 4-5 ราย คือ

1. ราวสมัยคริสตกาล พระนางอนุลาวางยาพระราชสวามีแล้วยกชู้ (ทหารอกสามศอก) มาเป็นคู่ครองถึง 4 ราย 3 รายแรกถูกวางยา รายที่ 4 เก็บนางอนุลาเสียก่อน

2. ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 พระเจ้านิสสังกมัลละสิ้นพระชนม์โดยไม่มีโอรสจึงเชิญพระมเหสีนางลีลาวดีและนางวัลยาณวดีขึ้นครองราชย์ผลัดกันชั่วระยะหนึ่ง

3. ครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 16-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ลังกาแตกเป็นหลายก๊ก เมืองท่าส่วนใหญ่ตกในมือโปรตุเกส ปี ค.ศ. 1557 พระเจ้าธรรมบาลเข้ารีตในนาม Dom Juan ก็รบกันไปมาจนราวปี 1591 โปรตุเกสยกหลานสาวท่าน คือนาง Dona Catharina (เจ้าหญิงสิงหลที่เข้ารีต) ให้เป็นราชสตรีครองลังกา ต่อมาพระนางตกอยู่ในมือพระเจ้าวิมลธรรมสุริยะซึ่งอภิเษกให้เธอเป็นพระมเหสีแล้วรบสู้โปรตุเกสจนสวรรคต ในปี ค.ศ. 1604 แผ่นดินจึงตกแก่หลานชายที่ทรงผนวชอยู่ จึงลาสิกขาแล้วอภิเษกกับ Dona Catharina แล้วรบโปรตุเกสอีกต่อไป

4. ราชสตรีที่ครองลังกาคนสุดท้ายคือพระนางเจ้าวิกตอเรีย (ครองราชย์ ค.ศ. 1837-1901) ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธลังกาเพราะมีนโยบายให้ข้าราชการอังกฤษเคารพธรรมนิยมประเพณีพื้นเมืองและไม่เบียดเบียนพุทธศาสนา

ถ้าจะให้ผมเดาว่า นางละเวง วัณฬา ของสุนทรภู่เป็นใคร ผมว่าน่าจะได้แก่นาง Dona Catharina (ครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 16) มากกว่าใครอื่น จะเป็นพระนางเจ้าวิกตอเรียได้ยาก

ความส่งท้าย

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พระอภัยมณีไม่ใช่ประวัติศาสตร์จริงแน่ๆ แต่สะท้อนภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างคร่าวๆ ในบางตอน ว่าอีกนัยหนึ่งท่านสุนทรภู่น่าจะมีแหล่งความรู้ (จะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือนิทานที่เล่าสืบกันมาแต่ปัจจุบันไม่เหลือให้เราได้เห็นได้ฟัง) แล้วท่านใช้จินตนาการผูกเป็นเรื่องการผจญภัยของพระอภัยมณี มิตรสหายและคู่รัก

ในบทความนี้ผมได้แต่แย้มประตูเพียงเล็กน้อย ขอชวนท่านที่รักวรรณกรรมชิ้นเอกนี้ให้พิจารณา “ภูมิศาสตร์” อย่างถี่ถ้วนโดยเทียบกับแผนที่ทั้งสมัยใหม่และโบราณ นอกนี้นักภาษาศาสตร์อาจจะพิจารณาชื่อบุคคลแปลกๆ เช่น เป็นไปได้ไหมว่า บาทหลวง “ปีโป” จะเป็นฝรั่งเศส Pipeaux? หรือ “ยองตอด” จะเพี้ยนมาจาก Jean d’ Arc? และทำไมนางยักษิณีใจโหดจะต้องเป็น “ผีเสื้อสมุทร”? ในลังกามีนิทานชาวบ้านอธิบายว่า ยักษ์กลายชาติเป็นผีเสื้ออย่างไร, และห่างฝั่งบ้าน Ahangama เพียง 100 เมตร มีเกาะน้อยๆ เรียกว่า Yakkinige Duwa (เกาาะนางยักษ์)

ขอให้น้องๆ นักปราชญ์รุ่นใหม่ช่วยติดตามเรื่องเหล่านี้ เพราะผมแก่แล้วกำลังหมดน้ำยา

เพิ่มเติมเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2565