ข้าวที่เกาะแก้วพิสดาร ในพระอภัยมณี

เกาะแก้วพิสดาร

ที่ตั้งของเกาะแก้วพิสดารต้องเอามาจากปากคำของเงือกซึ่งเล่าเป็นกลอนไว้ว่า

อายุข้าห้าร้อยแปดสิบเศษ
จึงแจ้งเหตุแถวทางกลางสมุทร
แม้นจะหนีผีเสื้อด้วยแรงรุทธ
เห็นไม่สิ้นสุดแดนด้วยแสนไกล
แต่โยคีมีมนต์อยู่ตนหนึ่ง
อายุถึงพันเศษถือเพทไสย
อยู่เกาะแก้วพิสดารสำราญใจ
กินลูกไม้เผือกมันพรรณผลา
พวกเรือแตกแขกฝรั่งและอังกฤษ
ขึ้นเป็นศิษย์อยู่สำนักนั้นหนักหนา
ด้วยโยคีมีมนต์ดลวิชา
ปราบบรรดาภูตพรายไม่กรายไป
แม้นพระองค์ทรงฤทธิ์จะคิดหนี
ถึงโยคีเข้าสำนักไม่ตักษัย
เผื่อสำเภาเขาชัดผลัดเข้าไป

ก็จะได้โดยสารไปบ้านเมือง

จากปากคำของนางเงือกนี้ทางหนึ่ง กับเมื่อตอนนางผีเสื้อออกตามพระอภัยไปพบพวกผีพราย มีกลอนว่า “ฝ่ายพวกผีที่อยู่ทิศทักษิณ” อีกทางหนึ่งประกอบกันเข้า ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเกาะแก้วพิสดารอยู่ต่อลงมาข้างใต้ถ้ำนางผีเสื้อยักษ์และคงจะไม่ไกลลี้ลับจากถ้ำนางผีเสื้อนัก เพราะในกลอนแสดงว่าจากถ้ำนางผีเสื้อไปถึงที่ใกล้ที่สุดจะมีมนุษย์อยู่ก็เป็นเกาะแก้วพิสดารทีเดียว

ฉะนั้น เกาะแก้วพิสดารจะต้องกำหนดเอาว่าอยู่กลางทะเลที่จะเข้าช่องมะละกา หากดูตามแผนที่ตรงนี้ก็จะเป็นทะเลใหญ่ไม่น้อย แต่ถ้ายิ่งเลื่อนเกาะสุมาตราลงมาเสียอีกได้ หรือไม่ก็เอาออกเสียจากแผนที่เลย ซึ่งสุนทรภู่อาจจะเดาคาดคะเนเอาว่าไม่มีจริงหรือไม่ก็มีอยู่ไกลไหน ๆ มิรู้ แล้วเลื่อนถ้ำนางผีเสื้อกับเกาะแก้วพิสดารลงมาตาม ๆ กันอีกสักพักหน่อย เกาะแก้วพิสดารก็จะยิ่งอยู่ใน “สมุทรทัยซึ้งซึกลึกหนักหนา” สมตามคาดคะแนมากขึ้น

เรื่องคนโบราณนั้นเป็นสิ่งที่เราคนสมัยใหม่ไม่สามารถรู้ความคิดของเขาได้เลย ให้คิดยังไง ๆ ก็ไม่ถึง สุนทรภู่จึงอาจจะคิดลึกซึ้งพิสดารไปอย่างไรก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะสมมติเอาตามแผนที่จริง ๆ คือให้เกาะแก้วพิสดารอยู่กลางทะเลสุมาตราตอนจะเข้าช่องมะละกาตรงนั้นก็เป็น “สมุทรทัยซึ้งซึกลึกหนักหนา” สำหรับสมัยสำเภาเป็นเจ้าทะเลได้อย่างดี ๆ เหมือนกัน

ในเกาะแก้วพิสดารมีพันธุ์ข้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งพระฤๅษีบอกว่า

“อันเกาะแก้วพิสดารสถานนี้
โภชนาสาลีก็มีถม
แต่คราวหลังครั้งสมุทรโคดม
มาสร้างสมสิกขาสมาทาน
เธอทำไร่ไว้ที่ริมภูเขาหลวง
ครั้นแตกรวงออกมาเล่าเป็นข้าวสาร
ได้สืบพืชยืดอยู่แต่บูราณ

จงคิดอ่านเอาเคียวมาเกี่ยวไป”

ก่อนที่จะแต่งเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับแขกเพียงใดหรือไม่ ไม่รู้ แต่ชอบกลที่นำเอาเรื่อง ข้าว มากล่าวไว้ในตอนนี้

ในอินโดนีเซียนับถือว่า ข้าว เป็นอาหารสำคัญ (เหมือนไทย) จึงมีนิยายและประเพณีเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวซึ่งเขายังถือกันอยู่จนทุกวันนี้ นิยายย่อ ๆ มีว่า

พระพรหม ซึ่งชวาเรียก ปะตาระกาหลา ทรงสร้างนางฟ้าขึ้นนางหนึ่ง มีรูปโฉมงดงาม และจะให้นางเป็นชายา นางไม่ยอม วิญญาณของนางจึงหนีไปจากร่าง

ปะตาระกาหลาทำอย่าไรก็ไม่สามารที่จะให้นางฟื้นขึ้นมาได้ จึงเอาร่างนางมาฝังไว้ที่เกาะชวา

ล่วงมาไม่ช้าก็ปรากฏว่า ณ ที่ตรงหลุมฝังศพนั้นได้เกิดมีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งงอกขึ้น ไม่มีใครรู้จักว่าต้นอะไร

ร้อนถึงปะตาระกาหลาบนฟากฟ้าต้องเหาะมาบอกว่าให้บำรุงรักษาพันธุ์ไม้ไว้ จะตกรวงออกเมล็ดได้เป็นอาหารของมนุษย์สืบไป

ตามนิยายนี้ ข้าว จึงเป็นอาหารสำคัญของชาวอินโดนีเซีย

เรื่องของข้าวสมุทรโคดมในเกาะแก้วพิสดารของสุนทรภู่ก็เป็นนิยายอีกอันหนึ่งเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว การที่นำมาใส่ไว้ตรงเกาะแก้วพิสดาร ซึ่งเท่ากับเป็นหมู่เกาะอินโดนีเซียเกาะหนึ่งนี้จึงดูชอบกลและเหมาะเจาะดีด้วย

[ที่มา : กาญจนาคพันธุ์. ภูมิศาสตร์สุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ 4. พระนคร : บำรุงสาส์น, 2515]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก ‘ข้าวที่เกาะแก้วพิสดาร ในพระอภัยมณี’ ในหนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง : ประชุมคำบอกเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับกำเนิดต้นข้าว” บรรณาธิการโดย สุจิตต์ วงศ์เทศ (มติชน, 2546)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2565