เผยแพร่ |
---|
พงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น (บางเรียก ชิดก๊กไซ่ฮั่น) ตัวละครสำคัญหนึ่งในเรื่องชื่อ เตียวเหลียง เสนาธิการคนสำคัญของหลิวปัง (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น) เป่าปี่ห้ามทัพฌ้อปาอ๋อง ขณะที่วรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ พระอภัยมณีตัวเอกในเรื่องก็มีความสามารถในการการเป่าปี่ และเคยใช้เป่าปี่ห้ามทัพเช่นกัน
นอกจากนี้เนื้อหาเพลงปี่ที่เตียงเหลียง-พงศาวดารจีน กับพระอภัยมณี-วรรณคดีไทย ใช้ยังคล้ายกันอยู่หลายส่วนอีกด้วย
ไซ่ฮั่น เป็นวรรณกรรมที่แพร่หลาย แม้คุณค่าทางวรรณคดีไม่โดดเด่นเท่ากับสามก๊ก แต่เพราะมีเนื้อเรื่องที่กระชับชัดเจน, ใช้ภาษาเรียบง่าย, บทกวีที่แทรกไพเราะเหมาแก่เนื้อเรื่อง เช่น เพลงปี่ของเตียวเหลียง นอกจากนี้ยังโดดเด่นที่เนื้อหาของไซ่ฮั่น เป็นกลศึกหรือชั้นเชิงการบริการ การใช้คนและภูมิปัญญาอื่นๆ ที่แปลกแตกต่างจากเรื่องสามก๊ก สำหรับการแปลเป็นฉบับภาษาไทยนั้น ชื่อตัวละคร, สถานที่ และคำทับศัพท์ภาษาจีนทั้งหมดใช้ภาษาฮกเกี้ยนถิ่นเอ้หมึง เช่นเดียวกับเรื่องสามก๊ก แต่มีการปรับให้สะดวกในการออกเสียงของคนไทย
เตียวเหลียง วางแผนเป่าปี่เพื่อให้ทหารของฌ้อปาอ๋อง หมดกำลังใจในการต่อสู้ ระลึกถึงครอบครัวบ้านละทิ้งหน้าที่มาเข้ากับฝ่ายตน ก็เป่าปี่ลอยลมไปยังกองทัพของฌ้อปาอ๋อง ที่มีเนื้อหาว่า
“เดือนยี่ฤดูหนาวหน้าน้ำค้างตกเย็นทั่วไปทั้งสี่ทิศ จะดูฟ้าก็สูง แม่น้ำก็กว้าง ฤดูนี้คนทั้งปวงได้ความเวทนานัก ที่จากบ้านมาต้องกระทำศึกอย่างนั้น บิดามารดาแลบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยื่นคอคอยอยู่แล้ว ถึงมีเรือกสวนแลไร่นาก็ทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดกระทำ เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกัน ก็อุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข
น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ป่วยเจ็บล้มตายเสียหาได้เห็นใจบิดามารดาไม่ แลตัวเล่าก็ต้องกระทำศึกอยู่ฉะนี้ ถ้าเจ็บป่วยล้มตายก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว บุตรภรรยาแลญาติพี่น้องก็มิได้ปฏิบัติรักษากันเป็นผีหาญาติมิได้ ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งไรก็มีแต่ฆ่าฟันกัน กระดูกแลเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้งดูสังเวชนัก
ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์มีสติปัญญาอยู่ทุกคน เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด ท่านไม่รู้หรือม้านั้นเป็นแต่ชาติสัตว์เดียรัจฉาน ถ้าผู้ใดพาไปจาโรงแลมิได้ผูกถือกักขังไว้ ก็ย่อมกลับคืนถิ่นที่อยู่ของตัว อันเป็นประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตายก็ย่อมให้อยู่ที่บ้านของตัว พร้อมบิดามารดาแลญาติพี่น้องจึงจะดี…”
ส่วนเพลงปี่ของพระอภัยมณีที่เป่ายุติทัพของนางละเวงนั้น สุนทรภู่แต่งเป็นคํากลอนว่า
“พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสําเนียงปี่ พวกโยธีทั้งทวนชะเวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหลับทับกันเอง เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป
จังหรีดหริ่งสิงสัตว์สงัดเงียบ เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าพฤกษาไสว
น้ำค้างพรมลมสงัดไม่กวัดไกว ทั้งเพลิงไฟโทรมซาบไม่วาบวูฯ”
ถ้าบอกว่าสุนทรภู่ยืมไอเดียจากพงศาวดารจีน แล้วสุนทรภู่ทราบว่าเนื้อเรื่องพงศาวดารไซ่ฮั่นได้อย่างไร สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงอธิบาย ว่า
“…หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กแปลในรัชกาลที่ 1 ทั้ง 2 เรื่อง เป็นต้นว่าสังเกตเห็นได้ในเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่ง ซึ่งสมมติให้พระอภัยมณีมีวิชาชํานาญการเป่าปี่ ก็คือเอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดูคําเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับค่าเพลงปี่ของพระอภัยมณีก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าถ่ายมาจากกันเป็นแท้ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ 1 สุนทรภู่เป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง [ทรงเป็นผู้อำนวยการแปลไซฮั่น] คงได้ทราบเรื่องไซ่ฮั่นมาแต่เมื่อแปลที่วังหลัง”
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ข้อมูลจาก :
พงศาวดารจีนไซ่ฮั่น ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบ พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยาอภัยสงคราม ( จอน โชติดิลก ) ณ เมรุพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กําหนดงานวันที่ 9 พฤศจิกายน 2508
กรมศิลปากร. ชิดก๊กไซ่ฮั่น, คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2545
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2563