พระอภัยมณี วรรณคดีการเมืองที่สุนทรภู่แต่งสมัย ร.3 เพื่อต่อต้านอะไร?

เครื่องเป่าตระกูลปี่ พรอภัยมณี
พระอภัยมณีเป่า "ปี่" ที่วงเวียนปี่ใหญ่ ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง (ภาพจาก มติชนออนไลน์, วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566)

ในบรรดาผลงานหลายเรื่องของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ “พระอภัยมณี” นับว่าแพร่หลายและเป็นที่รู้จักของผู้คนมากที่สุด แม้เบื้องหน้าอาจมีน้ำหนักเป็นเรื่องราวความรักของตัวละครต่างๆ แต่เบื้องหลังที่แท้จริงคือ เป็นวรรณคดีต่อต้านการล่าอาณานิคมที่เขาแต่งได้อย่างแนบเนียน

แรงบันดาลใจ

สุนทรภู่รับรู้เรื่องการล่าเมืองขึ้นของชาติตะวันตกตั้งแต่เด็ก โดย พ.ศ. 2338 ขณะมีอายุ 9 ขวบ อังกฤษยึดครองลังกาเป็นอาณานิคม และขยายอิทธิพลในแหลมมลายู เมื่อถึงวัยทำงานสุนทรภู่ถือเป็นปราชญ์ในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 2 ย่อมได้รับรู้ข่าวสารบ้านเมืองมากกว่าคนทั่วไป กระทั่งเข้าสู่ต้นรัชกาลที่ 3 เมื่ออังกฤษส่งกองทัพยึดเมืองหงสาวดี พม่ายอมสงบศึก จนต้องเสียดินแดนด้านยะไข่ลงมาถึงพื้นที่ตอนล่างด้านตะนาวศรีทั้งหมดใน พ.ศ. 2368

หุ่นขี้ผึ้ง สุนทรภู่
หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

หลังจากนั้นไม่กี่ปี เขาก็ลงมือเขียนพระอภัยมณี

นักวรรณคดีหลายคนเห็นตรงกันว่า สุนทรภู่น่าจะแต่งเรื่องนี้ขึ้นเมื่อเป็นภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ราว พ.ศ. 2376 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะสุนทรภู่อายุราว 47 ปี ซึ่งการคุกคามของชาติตะวันตกเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

วรรรณกรรมการเมือง

วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนทัศนคติของเหล่าขุนนางและชนชั้นปกครองสยาม รวมถึงสุนทรภู่เองซึ่งเป็นชนชั้นกระฎุมพี ที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีในกรุงเทพฯ ที่มีต่อลัทธิจักรวรรดินิยม การล่าอาณานิคมของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18 ทำให้หวาดระแวงและไม่นิ่งนอนใจในการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ตลอดจนการเข้ามาของคริสต์ศาสนานิกายต่างๆ

ทั้งหมดถูกดัดแปลงปะปนอยู่ในงานของสุนทรภู่

สุนทรภู่กำหนดให้เมืองลังกา มีที่มาจากศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมืองลังกาปกครองโดย “ผู้หญิง” คือนางละเวงวัณฬา เป็นภาพแทนของ “สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ” 

แต่ในวรรณกรรมเขาสลับบทบาทกับสถานการณ์จริง 

พระอภัยมณี
แผนที่แสดงฉากและบ้านเมืองต่างๆ ในผลงานของสุนทรภู่ อยู่ทางทะเลอันดามัน ปรับปรุงใหม่จากข้อเสนอของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2490

โดยให้ไทยเป็นฝ่ายล่าเมืองขึ้น และชวนฝรั่งเข้ารีต เมื่อพระอภัยฯ ทำศึกกับเมืองลังกามานานจนชนะ ได้นางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬาเป็นชายาแล้ว สงครามยุติ, เมืองลังกากลายเป็นเมืองขึ้นฝ่ายไทย ชายาทั้งสองก็ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แต่สุนทรภู่ไม่ได้ใช้คำว่า “ศาสนาพุทธ” หรือ “ศาสนาคริสต์” แต่กลับใช้คำว่า “เข้ารีตไทย” หรือ “ศาสนาข้างฝรั่ง”

แม้คริสต์ศาสนาจะเป็นของแปลกใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่สุนทรภู่ก็เห็นและยอมรับว่า กิจกรรมของบรรดามิชชันนารีในชีวิตจริง นอกจากสอนศาสนาแล้วก็ยังมีการแจกยารักษาโรค, การตั้งสถานศึกษา ฯลฯ ที่เป็นสาธารณประโยชน์

เขาจึงไม่เขียนให้บาทหลวงในเรื่องถูกฆ่าตาย ทุกครั้งจะหนีรอดไปได้ และในตอนจบสังฆราชบาทหลวงก็แก่ชรา ยอมถอดใจที่ไม่สามารถกอบกู้เมืองลังกาได้

“มีความรู้สู้เขาก็ไม่ได้   แกแค้นใจราวกะถูกซึ่งลูกศร

ทั้งตัวแก่เกินการจะราญรอน   สิ้นอาวรณ์เวียงวังเกาะลังกา”

แม้ว่าเป็นวรรณกรรมต่อต้านการล่าอาณานิคม แต่ด้วยฝีมือระดับสุนทรภู่ การต่อต้านจึงไม่ได้ดุดัน หรือทำให้ผู้อ่านเคร่งเครียดแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงศ์เทศ. “วรรณคดีการเมือง ต่อต้านการล่าเมืองขึ้น” ใน, สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลกและชีวิต, กองทุนการแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะจัดพิมพ์ พ.ศ. 2547.

ปติสร เพ็ญสุต. “คริสต์ศาสนาในมโนทัศน์ของสุนทรภู่จากวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี” ใน, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2562.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2568.