ตามหา “บ้านสุนทรภู่” กวีเอกรัตนโกสินทร์ ที่เคยอยู่ฝั่งธนฯ

หอนั่ง พระตำหนักปลายเนิน เชื่อว่า เป็น บ้านสุนทรภู่
หอนั่ง ในตำหนักปลายเนิน ที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านเดิมของสุนทรภู่ (ภาพประกอบจาก https://db.sac.or.th ถ่ายเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2555)

บ้านสุนทรภู่ กวีเอกรัตนโกสินทร์ อยู่ที่ไหนในฝั่งธนบุรี?

เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2529) คนไทยฉลอง “200 ปี สุนทรภู่” ไปแล้ว มาถึงปีนี้ (พ.ศ. 2530) คนไทยฉลอง “ปีท่องเที่ยวไทย”

Advertisement

และถ้าหากต้องการไปเที่ยว “บ้านกวี” จะไปเที่ยวที่ไหน?

จะไป “กุฏิสุนทรภู่” ที่วัดเทพธิดาราม หรือจะไป “บ้านสุนทรภู่”?

บ้านสุนทรภู่ ที่พระตำหนักปลายเนิน?

บังเอิญไป บ้านชุมสายฯ ในวันหนึ่งกลางฤดูร้อน และได้เบาะแสมาว่าที่พระตําหนักปลายเนินมีหอนั่ง ซึ่งเคยเป็น “บ้านสุนทรภู่”

“หลายปีก่อนโปรเฟสเซอร์วอลเตอร์ เวลลา (Professor Walter Vella) มีจดหมายมาบอกผมว่า ‘บ้านสุนทรภู่’ ปัจจุบันอยู่ที่วังคลองเตย คือหอนั่งในตําหนักปลายเนิน ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และบอกว่าจะเขียนบทความตีพิมพ์ต่อไป ไม่ได้บอกรายละเอียดอะไร ก็พอดีถึงแก่กรรมเสียก่อน” ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา สูบไปป์เล่าให้ฟังสนุกๆ

“ผมไม่ค่อยได้สนใจ จนกระทั่ง รัฐบาลฉลอง ‘200 ปี สุนทรภู่’ เลยขอให้ คุณบุหลง ศรีกนก เจ้าหน้าที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ช่วยค้นเอกสารในหอสมุดแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณบุหลงก็ส่งภาพถ่ายหนังสือของ ก.ศ.ร.กุหลาบ มาให้ผมดูเป็นหลักฐาน” ดร.สุเมธ ยื่นกระดาษซีรอกซ์ภาพถ่ายจากไมโครฟิล์ม รหัส ส. 57 ม้วนที่ 5 ให้อ่านทั้งหมด 5 แผ่น

กระดาษ 5 แผ่น เป็นสําเนาหนังสือสยามประเภท สุนทโรวาทพิเศษ ออกวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 เล่มที่ 5 ตอนที่ 14 วันที่ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 123 ตั้งแต่หน้า 93-97 ซึ่ง ก.ศ.ร. กุหลาบ ปัญญาชนสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกตีพิมพ์ไว้เกี่ยวกับ “ประวัติท่านขุนสุนทร (ภู่) ว่าเปนอย่างไร?” โดยสัมภาษณ์ “บุตรคนใหญ่ชื่อนายพัดๆ ยังอยู่ทุกวันนี้มีอายุศม์ 86 ปี ยังมีกําลัง แขงแรงพอจะไปไหนไปได้ สติก็ยังดี ปกติอยู่มาก พอถามได้ใจความตามที่ลงมานี้บ้าง” ในขณะนั้น

ประวัติของพ่อที่ลูกซึ่ง “หาเป็นนักปราชญ์เช่นบิดาไม่” เล่าให้ ก.ศ.ร.กุหลาบ ฟังแล้ว “ได้จดหมายเหตุไว้ทุก สิ่งทุกประการ โดยพิศดารวิตถารมากมายหลายเล่มสมุดไทย แต่เสียใจจะนํามาลงให้หมดไม่ได้ ด้วยเป็นเรื่องยืดยาวมากมายนัก” มีข้อความบางตอนแสดง ถึงบ้านสุนทรภู่ดังนี้

หน้า 94 “…ขุนสุนทร (ภู่) เปนบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง ที่เปนสะเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี มารดาชื่อใดไม่ทราบถนัด…”

หน้า 95  “…เมื่อในรัชกาลที่ 2-กรุงเทพฯ โน้นนั้น ท่านขุนสุนทร (ภู่) เปนผู้โปรฎปรานมากนัก ได้พระราชทานที่บ้านหลวงให้อยู่ (คือที่วังกรมขุนราชสีหวิกรม (-หรือ-) จะว่าที่บ้านพระยาราชมนตรี (ภู่) ที่ริมท่าช้างก็ได้)…”

และ หน้า 96 “…ถึงรัชกาลที่ 3–จึงมีรับสั่งว่าดังนี้ “อ้ายภู่มันฬ้อพ่อกูเล่น เช่นเพื่อนของมันได้ ทั้งมันร้องตะโกนทูลข้ามหัวกูไปด้วย จะเลี้ยงมันไว้ไม่ได้ ให้ถอดเสียจากกรมพระอาลักษณ์” ที่บ้านก็ไล่เสียไม่ให้อยู่ต่อไปในที่นั้นๆ จึงพระราชทานให้พระยาราชมนตรี (ภู่) ข้าหลวงเดิมอยู่ต่อมาจนทุกวันนี้ เป็นบ้านบุตร, หลาน, เหลน, พระยาราชมนตรี (ภู่) อยู่ทั่วไปทุกแห่ง เพราะฉะนั้นท่านขุนสุนทร (ภู่) จึ่งต้องบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ไปจําพรรษาอยู่วัดเลียบก่อน ภายหลังแต่งหนังสือกลอน เรื่องพระอภัยมะณีถวายพระจ้าวลูกเธอพระองค์จ้าววิลาศๆ ได้เปนกรมหมื่นอับศรสุดาเทพๆ รับสั่งอาราธนาให้พระสุนทร (ภู่) ไปอยู่วัดเทพธิดาราม ถวายเงินเดือนๆ ละชั่งค่าแต่งหนังสือ เรื่องพระอภัยมะณีถวาย หลายสิบเล่มสมุดไทย…”

ย้อนวันวาน บ้านสุนทรภู่อยู่ฝั่งธนฯ

สถาปนิกสยามผู้ออกแบบตึกเชลล์ อาคารหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ศูนย์รังสิต นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และแม้กระทั่งโรงเรียนสอนคนตาบอด เคาะไปป์พร้อมกับคอมเม้นท์ว่า

“ประวัติศาสตร์ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนไว้ที่อื่นนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเคยรับสั่งไว้ว่าเชื่อไม่ได้ ถือว่ายกเมฆหลายตอน แต่ในเรื่องของสุนทร (ภู่) ผมว่าน่าจะเชื่อได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ในสมัยไล่เลี่ยกัน และเป็นเรื่องซึ่งสอบปากคําจากนายพัด บุตรชายคนโตของขุนสุนทร (ภู่) โดยตรง”

และว่า

“หลังจากขุนสุนทร (ภู่) ถูกริบบ้านและที่ดินที่ฝั่งธนบุรีแล้ว พระยาราชมนตรี (ภู่) ซึ่งเป็นต้นสกุลภมรมนตรี ก็ได้ย้ายบ้านข้ามฟากมาปลูกขึ้นใหม่ตรงประตูท่าพระริมฝั่งแม่น้ำ สําหรับที่ดินเดิมได้สร้างวัดคฤหบดีขึ้น”

“วัดคฤหบดีอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก เข้าทางสถานีตํารวจนครบาลบางยี่ขัน เป็นที่เก็บอัฐิพวกภมรมนตรี และชุมสายฯ ที่เกี่ยวกันเพราะ” ดร.สุเมธ ฟื้นความหลัง

“พระยาราชมนตรี (ภู่) มีลูกสาว 2 คน ผู้พี่เป็นกวีดังชื่อ คุณพุ่ม หรือ “บุษบา ท่าเรือจ้าง” ผู้น้องเป็นหม่อมน้อยเดิมในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (ศิริวงศ์) ๆ สิ้นพระชนม์แล้ว รัชกาลที่ 3 มีพระราชดําริว่า หม่อมน้อยนี้เป็นผู้ได้ทรัพย์สมบัติมหาศาลจากพระยาราชมนตรี (ภู่) ถ้าไม่จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็จะตกไปเป็นของคนอื่นเสีย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหม่อมในกรมขุนราชสีหวิกรม (ชุมสายฯ)”

“ในสมัยกรมขุนราชสีหฯ ทรงว่างานช่างสิปป์หมู่ที่วังท่าพระ ปัจจุบันคือ บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ท่านจะประทับส่วนใหญ่ที่บ้านขุนสุนทร (ภู่) คืออยู่กับพ่อตาของท่าน คือพระยาราชมนตรี (ภู่) เพราะอยู่ริมแม่น้ำ นอกกําแพงเมืองชิดกับเขตวังท่าพระ เรียกว่า บ้านท่าช้าง ทรงมีเรือนแพด้วย เย็นสบายกว่าวังท่าพระ มีประตูทะลุถึงกันกับวังและทั้งสองบริเวณ คือวังท่าพระและบ้านท่าช้าง ถือว่าเป็นบริเวณเดียวกัน คุณปู่และพี่น้องคุณปู่ของผมเกิดเติบโตในบ้านพระยาราชมนตรี (ภู่) หรือในบ้านที่ปลูกขึ้นติดๆ กันในบริเวณนี้”

ดร.สุเมธ ชี้แจงสาเหตุที่ทําไมบ้านขุนสุนทร (ภู่) หรือ บ้านพระยาราชมนตรี (ภู่) จึงถูกย้ายไปอยู่บ้านปลายเนิน วังคลองเตยว่า

“ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเวนคืนที่บ้านดังกล่าว ท่านทวดหม่อมเจ้าประวิช ถวายฎีกาจนสิ้นชีพตักษัยก็ไม่สําเร็จ ต้องขายบ้านแล้วโยกย้ายกระจัดกระจายไป ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงซื้อบ้านหลังนี้ คือ บ้านท่าช้าง ซึ่งเดิมเป็นบ้านของขุนสุนทร (ภู่) อยู่ฝั่งธนบุรีตรงกันข้าม โดยซื้อต่อจากคนอื่นอีกที แล้วนําไปปลูกไว้ที่วังคลองเตย แต่ทรงดัดแปลงบางส่วน ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า หอนั่ง”

“ที่ทรงซื้อบ้านหลังนี้ไว้คงเป็น เพราะว่าทรงมีความผูกพันกับบ้านสมัยพระองค์ประทับว่างานช่างสิปป์หมู่ต่อจากกรมขุนราชสีหฯ ตลอดทั้งพระยาราชมนตรี (ภู่) ก็เป็นพ่อตาของกรมหมื่นมาตยาฯ ด้วย แต่ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงทราบหรือเปล่าว่าเดิมเป็นบ้านของขุนสุนทร (ภู่) เพราะคิดว่าไม่เคยพระนิพนธ์ไว้เลยในสาส์นสมเด็จ” ดร.สุเมธ สันนิษฐานถึงจุดประสงค์การซื้อบ้านไปปลูกใหม่ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็น “ลูกเขย” ของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์

ดร.สุเมธ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “บ้านสุนทรภู่” ว่า คงถูกดัดแปลงอย่างน้อย 2 ครั้ง ตอนที่ย้ายมาจากฝั่งธนบุรี ก็ต้องถูกดัดแปลงถูกถอดเป็นชิ้นๆ พอมาปลูกใหม่ก็คงถูกดัดแปลงอีกชั้นหนึ่ง บ้านไทยนี่มันถอดเป็นชิ้นๆ ได้ รื้อเอามาทั้งหลังได้สบาย แล้วประกอบใหม่ ต้องทูลถามหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ เพราะว่าท่านประสูติที่นี่ ตอนที่ย้ายมามันคงเป็นไม้ชิ้นส่วนต่างๆ กองพะเนิน ดีไม่ดีท่านคงทัน ท่านคงรู้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ทรงดัดแปลงอย่างไร”

ไม่ว่าหอนั่ง พระตําหนักปลายเนิน จะเป็นบ้านสุนทรภู่หรือไม่ และบ้านสุนทรภู่จะอยู่ที่ไหนก็ตาม จนบัดนี้ “201 ปีสุนทรภู่” แล้ว

ประเทศไทยก็ยังไม่เห็นมี “บ้านกวี” ให้ประชาชนเข้าชม! และ “กุฏิกวี” หรือ “กุฏิสุนทรภู่” ก็กําลังชํารุดทรุดโทรม

จะทํายังไงกันดีล่ะ?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2565