ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ฟ้ารุ่ง ศรีขาว |
เผยแพร่ |
เปิดชีวิตข้าหลวงจากรั้ว “วังบางขุนพรหม” อยู่กับ “เจ้านาย” อย่างไร หลัง 2475
ความสัมพันธ์ของแต่ละลำดับชั้นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจจะเป็นภาพที่คนในยุคสมัยใหม่จินตนาการไปไม่ถึงว่าในอดีตมีวิถีปฏิบัติและความเป็นอยู่กันอย่างไร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง “เจ้านาย” และ “ข้าหลวง” ที่ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ โดยการดูแลกันไปตลอดชีวิต
ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณมณี บุรารักษ์ อายุ 89 ปี (สัมภาษณ์เมื่อ 2 ตุลาคม 2558 –กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม) ข้าหลวงซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่า โอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน กับ หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล นอกจากคุณมณีจะเป็นพี่เลี้ยงหม่อมเต่าแล้ว เธอยังยังเป็นพี่เลี้ยงของ ม.ล. มิ่งมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่านา บุตรคนแรกของหม่อมเต่ากับคุณรัชนี คชเสนีด้วย
บิดาของคุณมณีเป็นคนขับรถและมารดาเป็นข้าหลวง โดยทั้งคู่อยู่ใน วังบางขุนพรหม ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตร ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475
คุณมณีเกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2469 เธอเล่าว่า มารดาตั้งครรภ์ตอนอยู่ในวัง แล้วออกมาคลอดที่บ้านในย่านวิสุทธิกษัตริย์ สมัยนั้นการทำคลอดทำโดยหมอตำแย ตัดสายสะดือด้วยไม้ไผ่ และไม้ไผ่นั้นจะมีการเขียนชื่อเอาไว้ด้วย ส่วนใบแจ้งเกิดสมัยนั้นเป็นแผ่นยาว
มารดาของคุณมณีได้เข้าวังมาเป็นผู้คอยไกวพระอู่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาองค์ที่ 4 หรือ “ท่านพระองค์หญิง 4” ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับ หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร
เมื่อคุณมณีอายุได้ 7 ขวบ เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เธอเล่าว่า ตอนนั้นยังเป็นเด็ก พักอยู่เรือนข้างอู่เรือของทูลกระหม่อมบริพัตร
“วันที่มีเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ตอนนั้นดิฉันเป็นเด็ก ๆ มายืนดูที่ท่าน้ำตอนเช้า เห็นตำรวจ ทหารเรือ ทหารบก เข้ามาในวัง เต็มท่าน้ำเยอะแยะ เราเป็นเด็กก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องอะไร ที่แท้ผู้ใหญ่วุ่นไปหมดเลย… ตอนนั้นดิฉันอายุ 7 ขวบ”
ครอบครัวของคุณมณีเข้ามาอยู่ใน วังบางขุนพรหม ตั้งแต่รุ่นคุณป้า คือ “แม่นมผัน” หรือ “ผัน เพชรทับทิม” ผู้เป็นแม่นมของ “ท่านพระองค์หญิง 4” ส่วนมารดาของคุณมณีชื่อ นางเชื้อ เพชรทับทิม คอยไกวพระอู่ท่านพระองค์หญิง
“แม่ของดิฉันเข้าวังโดยคุณป้าก็คือ ‘แม่นมผัน’ เอาแม่ฉันมาเป็นคนไกวพระอู่ท่านพระองค์หญิงจุไรรัตน ส่วนพ่อดิฉันขับรถในวัง ขับรถให้ระดับหม่อมเจ้า หรือคนไหนจะไปวังอะไรก็เรียกใช้ หรือใครจะไปซื้อของก็เรียกไปได้ แต่ไม่ถึงขนาดขับรถให้พระองค์เจ้านะคะ เพราะต้องมียศมีศักดิ์อีกทีหนึ่ง พ่อก็ไปอยู่ใน วังบางขุนพรหม แม่ไกวพระอู่ พอท่านพระองค์หญิง 4 ท่านโตแล้ว แม่ก็ยังอยู่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ทูลกระหม่อมบริพัตร เสด็จไปประทับที่บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย มีคนตามเสด็จไปเท่าที่จำเป็น ‘แม่นมผัน’ ไม่ได้ตามเสด็จไปทันที แต่ถูกเรียกให้ตามไปทีหลัง เพราะตอนแรกทูลกระหม่อมฯ ท่านเสด็จไปอย่างกะทันหัน”
คุณมณีเล่าถึงหน้าที่ของแม่นมในสมัยนั้นว่า “สมัยนั้นเจ้านายเขาไม่ให้เสวยนมวัวนมควายกันนะคะ เขาต้องเลือกให้เสวยนมคน คนที่จะเป็นแม่นมต้องเป็นคนที่มีเชื้อมีสาย ต้องหาคนดี ๆ มา ตอนนั้นป้า (แม่นมผัน) มีลูก แต่ป้าต้องยกลูกให้พี่น้องเอาไปเลี้ยงเลย ป้าก็มาเป็นแม่นมท่านพระองค์หญิง 4 ถวายนมจากเต้าของป้า ให้ท่านเสวยนมเต้า แล้วป้าก็เอาแม่ดิฉันมาเป็นคนไกวพระอู่ท่านพระองค์หญิง”
ชีวิตของคุณมณี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ต้องกลับไปอยู่บ้านแม่ที่วิสุทธิกษัตริย์
“ก่อนที่ป้ากับแม่จะเข้าวัง ก็มีบ้านอยู่ที่วิสุทธิกษัตริย์ ไม่ไกลจากวังบางขุนพรหม พอหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พ่อกับแม่ก็กลับไปอยู่วิสุทธิกษัตริย์เพราะเป็นคนแถวนั้น ยายเช่าที่พระคลังข้างที่อยู่ตรงนั้น ตอนนี้ก็คือแถว ๆ ใต้สะพานพระราม 8 มีตึกแถวอยู่ข้างหน้า บ้านเราอยู่ข้างใน”
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะทำให้ชีวิตคนธรรมดาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เจ้านายหลายพระองค์ก็ต้องเสด็จไปประทับยังต่างประเทศหลายประเทศ โดยท่านพระองค์หญิง 4 ก็เป็น 1 ในเจ้านายที่ตามเสด็จทูลกระหม่อมบริพัตรไปบันดุงด้วย ต่อมาช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านพระองค์หญิง 4 เสด็จกลับมาเสกสมรสในเมืองไทย ประสูติโอรสและธิดา รวม 4 ท่าน
“ท่านพระองค์หญิง 4 เสด็จกลับมาประทับที่เมืองไทย มาเสกสมรสกับหม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล มีโอรสท่านแรกคือ ม.ร.ว. อายุมงคล โสณกุล ดิฉันก็ยังไม่ได้ไปเล่นด้วย มีแต่พี่สาวไปอยู่กับป้า ไปอยู่เป็นข้าหลวงเด็ก ๆ จนกระทั่งท่านพระองค์หญิง 4 ประสูติโอรสท่านที่ 2 คือ ม.ร.ว. ถวัลยมงคล โสณกุล ดิฉันถึงได้มาบ่อย ๆ มาอยู่กับท่านพระองค์หญิง 4 ประมาณปี 2483 ซึ่งตอนนั้นฉันอายุได้ 14 ปี มาเล่นกับลูกท่านคนที่ 2 คือ ม.ร.ว. ถวัลยมงคล โสณกุล ตัวเล็ก ๆ เพิ่งแรกเกิดได้ 4-5 เดือน กำลังยิ้ม ฉันมาทำให้เธอจ๊ะเอ๋ ยิ้มแก้มบุ๋มทั้ง 2 ข้าง ตอนนั้นท่านพระองค์หญิง 4 ท่านพาไปเที่ยว ไปบางปู ไปเที่ยวปากน้ำอยู่เสมอ ก็เลยติดใจได้ไปเที่ยวทะเล พอจะกลับบ้านท่านก็ประทานเงินให้ 1 บาท ดีใจแทบตาย (หัวเราะ)”
คุณมณีบอกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านพระองค์หญิง 4 ต้องเสด็จไปประสูติธิดาที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี และต้องอพยพไปอยู่หัวหิน ก่อนที่ท่านพระองค์หญิงจะมีคุณเต่า หรือ ม.ร.ว. จัตุมงคลอีกคน… ในช่วงสงครามโลกนี้เองที่คุณมณีได้มาอยู่กับท่านพระองค์หญิง 4
“ตอนท่านพระองค์หญิง 4 ท่านประสูติคุณหนิง หรือ ม.ร.ว. สุมาลยมงคล โสณกุล ท่านต้องไปประสูติที่โรงพยาบาลสมเด็จฯ ณ ศรีราชา เพราะมีสงคราม จากนั้นก็อพยพไปประทับที่หัวหิน ตอนนั้นท่านพระองค์หญิง 4 ท่านทรงชวนดิฉันว่าไปอยู่หัวหินกันไหม ทะเลสวย ดิฉันชอบทะเลอยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจไปด้วย ต่อมาท่านพระองค์หญิงมีคุณเต่า หรือ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ระหว่างที่ประทับอยู่หัวหิน และได้มาประสูติคุณเต่าที่โรงพยาบาลศิริราช ประมาณ 1 เดือนก็เสด็จกลับไปหัวหิน
ตอนแรกพี่เลี้ยงของโอรสธิดาของท่านพระองค์หญิง 4 มีป้าษร (เกษร) กับป้านิล (นิรมล) 2 คนซึ่งเป็นพี่น้องนามสกุล ‘โรจน์แก้ว’ ป้าษรเลี้ยงคุณอายุมงคล แล้วพอมามีคุณถวัลยมงคล ป้าษรก็มาเลี้ยงคุณถวัลยมงคล แล้วส่งคุณอายุมงคลไปให้ป้านิลเลี้ยง พอประสูติคุณหนิง ป้าษรก็มาเลี้ยงคุณหนิงคนเดียว ส่งคุณอายุมงคล กับคุณถวัลย์มงคล ให้ป้านิลเลี้ยงทั้ง 2 คน พอท่านพระองค์หญิงประสูติคุณเต่า ป้าษรบอกว่าขอเลี้ยงคุณหนิงคนเดียวไม่เปลี่ยนแล้ว แต่จะช่วยดูแลให้ โดยให้ดิฉันเป็นคนดูแลคุณเต่า… ตอนกลางคืนฉันเข้าไปนอนมุ้งเดียวกับป้าษร คุณหนิง และคุณเต่าด้วย พอถึงเวลาต้องให้นม หม่อมเจ้าฉัตรมงคลเสด็จมาชงนม แล้วปลุกดิฉันให้เอานมไปให้คุณเต่าดูด
ตอนอยู่หัวหินเป็นช่วงสงครามไม่มีนมกิน ตอนแรกยังมีนมผงสำหรับชงรับประทาน ต่อมามีนมวัวบ้าง แต่พอคนอพยพไปอยู่หัวหินหลาย ๆ บ้าน นมก็พร่องขาด มีแขกมาส่งนมวัว มีน้ำฝนปนมา บางทีก็พบลูกน้ำ มันบอกว่าเป็นลูกนม แต่เราก็ต้องต้มนมทุกประเภทอยู่แล้ว ตอนหลังอยู่ ๆ ไป นมวัวมีน้อยลง คุณเต่าต้องรับประทานนมควาย เวลาชงต้องเติมน้ำครึ่งต่อครึ่งเพราะมันข้นกว่านมวัว แล้วเติมน้ำตาลปี๊บด้วย”
คุณมณีเล่าบรรยากาศตอนเลี้ยงคุณ ๆ ที่หัวหิน ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นใช้สถานที่หัวหินอาศัยอยู่ด้วย ก่อนที่ทหารญี่ปุ่นจะย้ายออกไป
“พอไปอยู่หัวหินยิ่งสนุกมาก ๆ เดินบนถนนที่ขรุขระไปเก็บลูกพุทรา ต้นที่ตอนนั้นยังไม่มีหนอน คุณหนิงร้องให้อุ้ม เธอบอกว่าน้องเนื้ออ่อน ไม่ยอมเดินเพราะเจ็บเท้า ก็เลยต้องอุ้ม แต่คุณเต่า รองเท้าก็ยังไม่ใส่ เดินคลาน 4 เท้าตุบตับ ๆ ไป เป็นที่มาทำให้ท่านพ่อเรียก ‘เต่า’ ตอนแรกทุกคนเรียกว่า ‘คุณสี่’ แต่ก็ไม่ค่อยได้เรียกชื่อนั้นกันเท่าไหร่ ยังไม่ติดปาก
พอตอนเย็นพาคุณ ๆ ลงไปชายหาด เจอทหารญี่ปุ่นพาม้าไปอาบน้ำลงทะเล แล้วเขาไม่นุ่งผ้า เรานั่งกันอยู่ มีป้าษร ป้านิล แล้วก็คุณ ๆ… เราก็อ๊าย อาย ทีนี้ก็ต้องไม่อาย เพราะเราต้องเลี้ยงคุณ ๆ อยู่ชายทะเล แต่ถ้าคนหัวหินมาเดินเล่น ก็อายหนักสิ มีญี่ปุ่นเดิน 3-4 คน จะมาอาบน้ำก็แก้ผ้ามา
แต่ทหารญี่ปุ่นที่เป็นระดับนายร้อยนายพัน เขาเข้าไปอยู่ในบ้านเลยนะ ถ้าบ้านไหนว่างต้องเอาคนเข้าไปนอน ไม่งั้นบ้านใครว่างเขาจะขอเข้าอยู่เลย ส่วนตำหนักของท่านพระองค์หญิง 4 กับท่านชายไม่ว่าง เขาก็ขออยู่ใต้ถุนตำหนัก มีถังน้ำใหญ่ใต้ถุนตำหนัก เขาก็ขึ้นมานอนตรงนั้น เป็นนายทหารนะที่มาอยู่ ส่วนพวกทหารที่ไม่ใช่นายทหารจะอยู่ริมถนนเรื่อยไปเลยกางเต๊นท์นอนใต้ต้นมะขามเป็นแถว ทำกับข้าวกินกัน แต่นายทหารที่เป็นนายร้อยนายพันมาอยู่ใต้ถุน เขาพูดภาษาอังกฤษได้ เขาก็คุยกับเจ้านายของเราได้
ช่วงกลางคืนหม่อมเจ้าฉัตรมงคลประทับอยู่บนตำหนัก ปกติท่านก็ฟังวิทยุข่าวจากต่างประเทศ แล้วสมัยนั้นก็ต้องป้องกันขโมยด้วยการเอาไขควงเจาะขันน็อตให้วิทยุติดกับโต๊ะ วิทยุเครื่องใหญ่มาก แต่ช่วงที่นายทหารญี่ปุ่นอยู่ใต้ตำหนัก ท่านก็คงได้ฟังบ้างไม่ได้ฟังบ้าง เพราะถ้าหากท่านเปิดฟัง ก็ต้องเปิดฟังเบา ๆ เอาพระกรรณไปแนบกับวิทยุ… ทหารญี่ปุ่นอยู่หัวหินไม่นาน ก็เดินทางต่อไปทางใต้”
คุณมณีเล่าต่อไปว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านพระองค์หญิง 4 กับท่านชาย (หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล) พร้อมโอรสธิดา อพยพกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ตอนแรก มาประทับที่บ้านอยู่ในซอยตรอกพระยาพิพัฒน์ ส่วนปากซอยปัจจุบันคือธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ ประมาณ 1-2 ปี จากนั้นจึงมาซื้อบ้านที่ชิดลม คือวังชิดลมจนถึงปัจจุบันนี้
คุณมณีอยู่ในวังชิดลมมาตลอดและแต่งงานเมื่ออายุ 25 ปี โดยตอนนั้นมีโอกาสได้ถวายการ์ดแต่งงานแด่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
“พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นพี่ชายของหม่อมเจ้าฉัตรมงคล ท่านเสด็จมาที่วังชิดลมบ่อย ๆ ตอนนั้นฉันอายุ 25 ปี กำลังจะแต่งงาน ฉันได้ไปที่วังเพชรบุรี ไปถวายการ์ดแต่งงานให้ท่าน ท่านก็รับการ์ด แล้วตรัสว่า ‘จะมางาน แต่ยังต้องไว้ทุกข์นะจ๊ะ’ ฉันแต่งงาน พ.ศ. 2494 จำไม่ได้ว่าช่วงนั้นเจ้านายไว้ทุกข์งานอะไร
ตอนฉันถวายการ์ด อยู่ ๆ ฉันก็ไปคุกเข่าถวายซองจดหมายยื่นให้ท่าน ตอนท่านประทับโต๊ะเสวย ความจริงการถวายการ์ดฉันจะต้องเอาการ์ดใส่พานหรือใส่ถาดไปหมอบกราบถวาย เราอยู่กับเจ้านายมาตั้งนาน แต่กลับไม่ได้คิดอะไร เพราะเคยเจอท่านบ่อย ๆ ใครเขารู้ก็ยังบอกว่า ต้องใส่ถาดไปสิ นี่อยู่ ๆ ควักออกมายื่นให้ท่าน ตอนนั้นฉันไม่ได้คิดอะไร
ตอนฉันแต่งงาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรท่านก็เสด็จมา ส่วนคุณเต่าเป็นคนแจกของชำร่วยเป็นพัดสีต่าง ๆ พัดนี้มีการอบเครื่องหอม โดยคุณสวัสดิ์ ชูโต เธอเป็นคนแก่มากแล้ว เป็นข้าหลวงที่เคยอยู่กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (พระมารดาของทูลกระหม่อมบริพัตร) แล้วตอนนั้นคุณสวัสดิ์ก็มาอยู่กับท่านพระองค์หญิง 4 ที่วังชิดลมด้วย เป็นคนอบพัดให้ ฉันแต่งงานที่วังชิดลม รดน้ำที่นี่
ต่อมาฉันมีลูก 3 คน ลูกสาวฉันเป็นเลขาฯ คุณหนิง (ม.ร.ว. สุมาลยมงคล โสณกุล) สมัยมีโรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน โรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 600-700 คน ตอนนี้คนที่เป็นครูก็อายุ 60-70 ไปแล้วทั้งนั้น แต่ก็อยู่ที่วังชิดลม ในวังชิดลมมีคนอายุรุ่นดิฉันอยู่ 3-4 คน เรียกว่ารุ่นคนแก่ หนึ่งในนั้นมีแม่อู๊ดเป็นข้าหลวงเกิดวันที่ 21 กันยายน 2475 เกิดในวังบางขุนพรหม ระหว่างที่คนในวังต้องเก็บของหลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 จากนั้นแม่อู๊ดและแม่ก็มาอยู่บ้านแม่นมผันที่วิสุทธิกษัตริย์ พอท่านพระองค์หญิง 4 เสกสมรส แม่นมผันพร้อมแม่อู๊ดและแม่ของแม่อู๊ด ก็ไปอยู่กับท่านพระองค์หญิง 4 ตอนนั้นพี่สาวฉันกับแม่อู๊ดได้มาเรียนหนังสือที่ซอยนานาด้วย
สมัยอพยพไปอยู่หัวหินตอนกลางคืนพอท่านพระองค์หญิง 4 เสวยเสร็จ แล้วคุณ ๆ ก็หลับแล้ว ท่านจะมาสอนให้ฉันหัดอ่านเอ บี ซี แล้วก็ผสมตัวอักษรทุกคืน เผื่อวันไหนไปเมืองนอกจะได้เอาไปด้วย ท่านพระองค์หญิงมาสอนเองให้ได้รู้ไว้ แต่พอหลังสงคราม มาอยู่วังชิดลมจนกระทั่งคุณหนิงอายุจะเกือบ 12 ปี ท่านพระองค์หญิงกับท่านชาย ก็พาคุณหนิงกับคุณเต่าไปเรียนเมืองนอก ไปอยู่ได้ระยะหนึ่ง ท่านก็เปิดร้านอาหารที่ประเทศอังกฤษ ชื่อ ‘Siam Rice’ ฉันไม่ได้ไปเพราะว่าตอนนั้นแต่งงานแล้วมีลูก พี่เลี้ยงที่ได้ไปอังกฤษ มีป้านิล ป้าษร ได้ตามเสด็จไปด้วย
ท่านไปอยู่เมืองนอกกระทั่งคุณหนิงเรียนจบ ท่านก็กลับมาพร้อมกัน ตอนนั้นท่านชายเริ่มสุขภาพไม่ค่อยดี มีพยาบาลมาดูแล พวกเราก็เข้าเวรดูแลจนกระทั่งท่านสิ้น”
คุณมณีเล่าถึงโรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน ซึ่งเธอเองได้เห็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญตั้งแต่พิธีเปิดโรงเรียนจนกระทั่งโรงเรียนปิดการเรียนการสอน
“ตอนเปิดโรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จมาเปิดโรงเรียน เพราะท่านกับท่านพระองค์หญิง 4 ชอบกันมากเลย เวลามีงานสำคัญงานประจำปี ก็เชิญเสด็จท่านมาโรงเรียน
ตอนที่เริ่มเปิดโรงเรียน ท่านพระองค์หญิง 4 ท่านเห็นว่าลูกสาวเรียนมาทางนี้ และคนในบ้านก็มีมาก จะได้มีงานทำจึงเปิดเป็นโรงเรียน แต่โรงเรียนเปิดได้ 45 ปี ขึ้นปีที่ 46 ก็เลิกการเรียนการสอน คนเสียดายกันจะตาย อยากเอาลูกหลานมาเรียน”
คุณมณีบอกว่า ทุกวันนี้ยังใช้ชีวิตอยู่ในวังชิดลม โดยได้รับการดูแลจาก ม.ร.ว. สุมาลยมงคล โสณกุล ธิดาของท่านพระองค์หญิง 4
“คุณหนิงท่านดูแลฉันนะ ฉันไปหาหมอทีค่าใช้จ่ายราคาสูง ท่านก็ดูแล ท่านบอกว่า มณีเลี้ยงน้องฉันมา เลี้ยงลูกให้ฉัน แล้วยังเลี้ยงหลานดูแลหลานให้ฉัน… ให้มณีไปโรงพยาบาลสมิตติเวช แพงก็ไม่เป็นไร จะได้ไม่ต้องคอยนาน… ตอนแรกฉันไปโรงพยาบาลตำรวจ ต้องตื่นแต่เช้า กว่าจะเสร็จก็เกือบบ่ายโมงบ่ายสองโมง ต้องรอนาน คุณหนิงเธอก็เลยบอกให้ไปโรงพยาบาลสมิตติเวช
ตอนนี้คุณหนิงไม่ให้ฉันทำอะไรทั้งนั้น พอจะทำ คุณหนิงก็บอกว่าไม่เอา คนแก่แล้ว ไม่ให้ใช้… ปลดชราแล้ว ไม่ต้องใช้ นอนที่นี่ อยู่ที่นี่… ในวังชิดลมจะมีอาหารให้รับประทานทุกคน”
ไม่เพียงคุณมณีเท่านั้น ที่ได้รับการดูแลตลอดชีวิต แม้จะไม่ได้อยู่ในวัยทำงานแล้ว แต่ข้าหลวงทุกคนก็ได้รับการดูแลจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ
“ช่วงบั้นปลายชีวิตของแม่นมผัน (แม่นมท่านพระองค์หญิง 4) แม่นมผันอยากจะไปอยู่บางแค ท่านพระองค์หญิง 4 ท่านก็ไปปลูกเรือนให้อยู่ ท่านพระองค์หญิงตั้งชื่อ เรือนเพชรทับทิม ตั้งตามนามสกุลแม่นมผัน… เจ้านายท่านก็ต้องไปเยี่ยม ไปอยู่ได้หลายปี พอแม่นมผันไม่สบาย ท่านก็ไปรับกลับมาอยู่ที่วังชิดลม อยู่ได้หลายเดือนก็เสียชีวิต ท่านพระองค์หญิงรักแม่นมมาก รักอย่างกับแม่เลย
ส่วนพี่เลี้ยงอีก 2 คนของโอรสธิดาของท่านพระองค์หญิง 4 ก็อยู่วังชิดลมจนวาระสุดท้ายของชีวิต ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล เสียชีวิตที่โรงพยาบาล”
ส่วนชีวิตที่ วังบางขุนพรหม ในวัยเด็ก คุณมณีเล่าว่า ตอนนั้นเป็นเด็ก เคยเข้าไปดูคุณข้าหลวงร้อยดอกไม้ เพราะงานดอกไม้จะมีทุกวัน นั่งร้อยดอกไม้ในศาลาใหญ่ ๆ 2 ศาลา มีแต่คนมาขอดอกไม้ งานบวช งานแต่ง ก็มาขอในวัง เขาไม่มีที่ซื้อ ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ทุกอย่างมีหมด ข้าหลวงนั่งเต็มศาลาริมสนามเกือบ ๆ ริมน้ำ ใกล้จะถึงตำหนักน้ำของทูลกระหม่อมฯ เราก็ไปนั่งดู ไปเด็ดก้านมะลิ ได้ดอกจำปา ดอกจำปีมา เป็นเด็กไปซน ตอนนั้นมีเด็กหลายคน เป็นลูกข้าหลวง ลูกคนรถ
“เวลาเข้าไปในสวนดอกไม้จะถูกเจ๊กไล่ เจ๊กเป็นคนดูแลสวนไล่เอ็ดเด็ก ๆ ตวาดเสียงดัง ๆ เขากลัวจะไปตกสระน้ำ มีร่องต้นไม้ด้วย สวนใหญ่ยาวไปถึงวังเทเวศร์ ที่เดี๋ยวนี้มาสร้างเป็นแบงก์ชาติ แต่ก่อนเป็นสวนทั้งนั้น กุหลาบก็มีแยะ ทูลกระหม่อมฯ ท่านปลูกกุหลาบด้วย มีสระใหญ่และก็สระรอบ ในวังมีน้ำคดเคี้ยว มีต้นโศกข้างทางเต็มทางเข้าประตูวัง
ส่วนเรื่องอาหารการกินในวัง จะมี ‘ห้องเครื่อง’ ใญ้ใหญ่แยกออกไปตรงท้ายตำหนักทางริมน้ำ หุงข้าวกระทะใหญ่ ๆ ทีละ 3 กระทะ ใช้ไม้พาย แล้วคนในวังทุกคนไปเอากับข้าวที่นั่นมารับประทาน เอาปิ่นโตไปใส่กับข้าว ทุกครอบครัวมีปิ่นโต เอาปิ่นโตไปไว้แล้วเขียนชื่อที่ปิ่นโต เขาจะจัดกับข้าวใส่ปิ่นโตให้ ส่วนข้าวสวยก็ไปตักเอาเอง ถึงเวลาก็ไปเอาปิ่นโต ของใครก็ของคนนั้น บางทีก็มีไข่เจียวและกับข้าว 2-3 อย่าง วันหนึ่งหมดข้าวไปกี่กระทะไม่ทราบ คนหุงข้าวเขาขายข้าวตังด้วย เราไปกับผู้ใหญ่ ตามเขาไปทางห้องเครื่อง เอาปิ่นโตไป ยังนุ่งกางเกงกับเสื้อติดกัน เคยถ่ายรูปตรงกรงนกอยู่หน้าออฟฟิศของทูลกระหม่อมฯ มี 2-3 กรง กรงใหญ่ ๆ
เจ้าหน้าที่ในห้องเครื่องก็โอ้โหมันเยอะแยะเหลือเกิน 20-30 คนเต็มไปหมด และยังมีกุ๊กบนตำหนักทูลกระหม่อมฯ แต่อยู่ชั้นล่างของตำหนัก เรียก ‘เจ๊กเย็น’ เขาเป็นคนจีนที่ทำกับข้าวฝรั่ง สำหรับเครื่องคงจะมีทั้งกับข้าวไทยกับข้าวฝรั่ง เล่ากันว่า เวลาตั้งเครื่องขึ้นถวายต้องเตรียมหมูหวานไข่เค็มในเครื่องทุกครั้ง
ในห้องเครื่อง คนตำน้ำพริกก็ตำแต่น้ำพริก คนย่างปลาดุกก็ย่างปลาดุกอย่างเดียวเลยไม่ต้องทำอย่างอื่น นอกจากเครื่องของเจ้านายแล้ว ยังมีเครื่องของหม่อมเจ้าที่มาถวายตัวมาเล่ามาเรียนที่วังบางขุนพรหม มาเรียนหนังสือรุ่น ๆ เดียวกับพระโอรสพระธิดาของทูลกระหม่อมฯ ตอนนั้นทูลกระหม่อมฯ ก็ช่วยดูแลเจ้านายหลายพระองค์ เหมือนคนสมัยโบราณต้องเอาคนเข้าวัง อย่างกับเข้ามหาวิทยาลัย มาเรียนบ้าง มาร้อยดอกไม้ มาปักสดึง มาฝึกให้ทำทุกอย่างเป็น เรียนภาษาอังกฤษด้วย
เจ้านายได้เรียนหนังสือที่ ‘บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้’ หม่อมเจ้าที่ทรงอุปการะไว้ก็เข้ามาเรียน ในวังบางขุนพรหม ส่วนเด็กเล็ก ๆ จะได้เรียนกับครูบุญรอด สอนหนังสือเด็กเล็ก ฉันได้ไปเรียนกับครูบุญรอดอยู่เหมือนกัน แล้วก็ออกมาเรียนหน้าวังบางขุนพรหม ตรงหัวมุมวัดเอี่ยม”
“เคยเห็นทูลกระหม่อมบริพัตร ตอนท่านดำเนินในสนาม ทูลกระหม่อมฯ นุ่งสนับเพราเจ๊ก กางเกงสีขาว คงไม่ใช่ผ้าแพร สวมเสื้อกุยเฮง กางเกงจีน แต่ไม่เคยเห็นเวลาท่านทรงกอล์ฟ สนามกอล์ฟอยู่หลังตำหนักใหญ่ เขาไม่ให้เด็กเข้าไปหรอก เป็นเด็กเดี๋ยวจะไปเล่นซน ไปกันที 2-3 คน
แล้วมีอยู่งานหนึ่งฉันจำไม่ได้ว่างานอะไร มีเจ้านายท่านเคยมาโปรยทานให้คนในวัง จำได้ว่าเคยไปเก็บสตางค์ด้วย ไม่รู้งานอะไร
อยู่ที่วังแค่อายุ 7 ขวบ ขึ้นตำหนักยังไม่เคยขึ้น แค่โผล่หน้าไปอัฒจันทร์เวลามีหนังฉายในตำหนัก ฉันเป็นเด็กก็ไปแอบดูเจ้านายกับข้าหลวงดูหนัง มีของว่างเสวย ถ้าผู้ใหญ่มาเจอะ ก็ไล่ ไม่ให้เด็กมาเจี๊ยวจ๊าวเพราะเจ้านายประทับอยู่”
หลัง 24 มิถุนายน 2475 ทูลกระหม่อมบริพัตรเสด็จประทับที่บันดุงเป็นเวลา 12 ปี พระองค์สิ้นพระชนม์ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2487 และมีการเชิญพระศพกลับมาเมืองไทย มีพิธีพระราชทานเพลิงพระศพที่พระเมรุท้องสนามหลวง (เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493)
คุณมณีเล่าถึง “วันบริพัตร” อันตรงกับวันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของทูลกระหม่อมบริพัตร ว่า จะมีงานทำบุญเลี้ยงพระที่สำนักงานบริพัตรทุกปี ในสำรับที่ถวายพระต้องมี “หมูกระจก” เป็นมันหมูแข็ง ๆ ต้มน้ำ หั่นเป็นสี่เหลี่ยมแล้วชุบแป้งทอด จิ้มน้ำพริกเผาปรุงด้วยน้ำปลาบีบมะนาวแล้วคนให้เข้ากัน เล่ากันว่าท่านโปรดเสวย ต้องมีเสมอ และมีแกงหนังหมู ที่เล่ากันว่าเป็นของที่โปรดเสวยด้วย เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ไปสั่งอาหารมาเลี้ยง
“ตอนคุณเต่า (ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล) เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 7 พฤษภาคม 2541-30 พฤษภาคม 2544) คนในวังชิดลมได้ไปชมวังบางขุนพรหม แล้วป้าษร ป้านิล เคยอยู่วังบางขุนพรหมมาก่อน ก็ไปดูด้วยกัน
ตอนฉันเป็นเด็ก ๆ ไม่เคยขึ้นไปบนตำหนักเลย ได้แค่แอบดูอยู่ด้านนอกตอนหนังฉายที่อัฒจันทร์ในตำหนักเท่านั้น วันที่คุณเต่าเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ฉันเพิ่งได้ขึ้นไปดูบนตำหนัก” คุณมณีกล่าว
ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยยังคงหมุนไปไม่หยุดนิ่ง เรื่องราวในทุกความทรงจำยังทรงคุณค่าน่าจดจำอยู่เสมอ ผู้เขียนหวังว่าการบันทึกเรื่องราวในอดีตจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจสิ่งที่เคยเกิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงบางส่วนที่รอการเติมเต็มจากเรื่องราวในมุมอื่น ๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลังชีวิตผกผันของ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สู่การออกจากไทยหลังปฏิวัติ 2475
- สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ “เจ้าฟ้าปัญญาดี” ความหวังของรัชกาลที่ 5
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2562