เบื้องหลังชีวิตผกผันของ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สู่การออกจากไทยหลังปฏิวัติ 2475

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์พินิต เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี เป็นพระราชโอรสที่ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดและทรงมีพระจริยวัตรอันงดงาม และทรงเป็นพระราชโอรสองค์สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคาดหวังให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

โดยสยามในขณะนั้น ต้องเผชิญกับปัญหาการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิตะวันตก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่า สยามกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย จึงทรงพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้สยามต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงทราบถึงปัญหาสภาพบ้านเมืองหลายด้านยังไม่ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งอาจทำให้สยามต้องตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบต่างชาติ หนึ่งในนโยบายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงใช้ในการพัฒนาสยามให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศ คือส่งพระราชโอรสไปศึกษาที่ต่างประเทศ เพื่อนำวิทยาการในด้านต่างๆ กลับมาพัฒนาสยามให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงยิ่งขึ้น และพระราชโอรสที่ทรงส่งไปนั้นมี กรมพระนครสวรรค์พินิต รวมอยู่ด้วย ทรงได้ไปศึกษาวิชาการทหารบกในประเทศเยอรมนี

รับราชการในกองทัพ

กรมพระนครสวรรค์พินิต ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษา เมื่อเสด็จกลับมายังสยาม ทรงเข้ารับราชการทหารทั้งในกองทัพบกและกองทัพเรือ และทรงประกอบพระกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่วงการทหาร ทั้งทหารบกและทหารเรือ จนได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในที่สุด

อย่างไรก็ดี ถึงแม้กรมพระนครสวรรค์พินิต จะทรงศึกษาและปฎิบัติหน้าที่ทางการทหารได้อย่างดีเยี่ยม จนสามารถปฏิรูปกองทัพเรือให้มีความทันสมัย ขจัดหนี้สิน และแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในได้ตามพระประสงค์ก็ตาม

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กรมพระนครสวรรค์ฯ กับการปฏิรูปกองทัพเรือ ทรงขจัดหนี้-ทุจริต-ความขัดแย้งภายใน

แต่ปรากฏข้อมูลอีกด้านในภายหลังว่า การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ทรงทำตามพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมราชชนก ส่วนพระประสงค์ของพระองค์เอง สิ่งที่พอพระทัยคือ “…อยากจะเรียนดนตรี…”

กรมพระนครสวรรค์พินิต ทรงมีความฝักใฝ่และหลงใหลในการดนตรีมาตั้งแต่วัยเยาว์ ดังข้อเขียนของพระยาภูมีเสวินที่ว่า

“…เจ้านายที่ทรงคุณวุฒิและเก่งในซอสามสาย มิใช่ใครอื่น คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต (วังบางขุนพรหม) นี้เอง พระองค์ทรงเล่าเรียนวิชาซอสามสายนี้พร้อมกับข้าพเจ้าจากเจ้าเทพสุกัญญา (บูรณพิมพ์) พระองค์ทรงมีฝีพระหัตถ์ในการเล่นซอสามสายจัดว่าเป็นดีเยี่ยม ทรงบรรเลงได้อย่างถูกต้องหาตัวจับได้ยากทีเดียว…”

และมิใช่แค่ดนตรีไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อครั้งเสด็จไปศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในยุโรป ทรงมีพระชันษาเพียง 13 ปี ทรงศึกษาวิชาการทหารอย่างหนักทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ยามใดที่ทรงมีเวลาว่างก็จะทรงเรียนดนตรีเป็นการผ่อนคลายความเคร่งเครียด จนสามารถอ่านและเขียนโน้ตสากลถึงทรงพระนิพนธ์เพลงสากลได้

เมื่อเสด็จกลับมารับราชการในกองทัพบกและกองทัพเรือ แม้จะทรงยุ่งอยู่กับงานราชที่หนักหน่วง แต่ยามใดที่ทรงมีโอกาสพักผ่อนก็ทรงมีความสุขกับการทรงดนตรี อีกทั้งยังมีการรวบรวมนักดนตรีฝีมือดีและก่อตั้งเป็นวงพิณพาทย์วังบางขุนพรหมขึ้นมา ผู้คนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงวัง ล้วนกล่าวขานกันว่า เสียงดนตรีในวังที่ดังแว่วมาในยามค่ำคืนไพเราะยิ่งนัก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ความในพระทัยกรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับข่าวลือทรงคิดกบฏชิงราชบัลลังก์

ปฏิวัติ 2475

เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะปฏิวัติระแวงว่า พระองค์จะเป็นภัยอันตรายเมื่อก่อการ เพราะทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีพระบารมี เป็นที่เคารพรักของผู้คนทั้งทหารและพลเรือน ดังนั้น เมื่อลงมือก่อการขึ้นจึงได้เข้าควบคุมพระองค์และแจ้งความประสงค์ให้เสด็จออกจากแผ่นดิน

ทั้งนี้ เอกสารหลายแห่งระบุว่า ก่อนถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายรัฐบาลทราบความเคลื่อนไหวของคณะราษฎร พล.ต.ท. พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ พร้อมกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่วังบางขุนพรมเพื่อกราบทูลเรื่อง

พระยาอธิกรณ์ถวายบัญชีรายชื่อผู้สมคบคิดเป็น “กบฏ” แต่จากบันทึกบอกเล่า ครั้งนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ในฐานะประธานอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ทรงเชื่อรายงาน

เมื่อคณะราษฎรดำเนินการยึดอำนาจในรุ่งเช้า ภายหลังพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร พระยาทรงสุรเดช หนึ่งในผู้ก่อการของคณะราษฎรออกคำสั่งให้ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นำกำลังทหารราว 50 นาย มุ่งหน้าจากพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต สู่วังบางขุนพรม เพื่อควบคุมตัวเจ้านายเป็นตัวประกัน

เมื่อกลุ่มทหารฝ่ายคณะราษฎรนำกำลังเข้าภายในพระตำหนักได้แล้ว เล่ากันมาว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ในฉลองพระองค์ชุดบรรทม ทรงมีรับสั่งหลังทรงเห็นพระประศาสน์พิทยายุทธว่า

“เอ๊ะ! อีตาวันแกก็เป็นกบฏกับเขาด้วยรึ?” (วัน หมายถึงพระประศาสน์พิทยายุทธ)

เหตุการณ์ในพระตำหนักเป็นไปอย่างตึงเครียด ทั้งสองฝ่ายเจรจาต่อรองกันยาวนาน เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ทรงบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าขอเวลาไปเปลี่ยนฉลองพระองค์เสียก่อน ร.ท. ขุนเรืองวีรยุทธ ทหารหนุ่มฝ่ายคณะราษฎร ไม่ทราบว่าคิดอย่างไร กลับยกปืนกลขึ้นแล้วหันไปทางสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ และโพล่งขึ้นว่า “ไม่ได้!”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ จึงหันพระวรกายไปทางปากปืนกล ยืดพระอุระ และมีพระสุรเสียงรับสั่งดังก้องว่า

“เอ้ายิง ยิงซี ยิง!”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ย้อนเหตุบุกจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็นคณะราษฎร 2475

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ภายหลังคลี่คลายลงได้ ครั้งนั้น กรมพระนครสวรรค์พินิตทรงถูกคุมพระองค์ไปไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และได้เผยความในพระทัยต่อพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ ว่า

“…การที่ทรงทำราชการมาถึง 3 รัชกาลนั้น มิใช่ใฝ่สูงอยากเป็นใหญ่ แม้การที่ได้ไปเรียนทหารมา ก็ไม่ได้เลือกเรียนเอง แท้จริงอยากจะเรียนดนตรี แต่ขัดพระบรมราชโองการไม่ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ จึงขอไปเสียจากเมืองไทย…”

และก่อนที่พระองค์จะทรงเสร็จออกนอกแผ่นดิน ทรงได้ตรัสกับ นายนราภิบาล (ศิลป์ เทศะแพทย์) เลขานุการส่วนพระองค์ ว่า

“…ผู้ก่อการเขาถามฉันว่า พวกเด็กๆ ที่ร่วมก่อการเขาเหนื่อยกัน ฉันจะมีอะไรให้เขาบ้าง ฉันก็เลยประชดไปว่า ฉันมีแต่บ้าน อยากได้ก็เอาไปซิ เขาเลยเอาจริงๆ…”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดชีวิตข้าหลวงจากรั้ววังบางขุนพรหม อยู่กับ “เจ้านาย” อย่างไร หลัง 2475

ประทับที่บันดุง เกาะชวา

เมื่อทรงเสร็จไปประทับ ณ เมืองบันดุง เกาะชวา พระองค์ไม่ได้ละเลยความฝักใฝ่ในการดนตรี เพราะ ณ พระตำหนักที่ประทับใหม่ สิ่งมีค่าที่ทรงนำไปและโปรดให้ส่งตามไป คือเครื่องดนตรีทั้งไทยและสากล และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับทรงดนตรีเหล่านั้น

นอกจากนี้แล้ว เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ซึ่งเสด็จไปเฝ้าเยี่ยมพระองค์ ทรงเล่าถึงพระอาการขณะกำลังทรงดนตรีไว้ว่า

“…ทูลกระหม่อมลุงกำลังประทับทรงฆ้องวงอยู่ ที่ติดตานี้ก็เพราะได้เห็นสีพระพักตร์ หรือจะให้อธิบายให้เห็นได้ชัดก็ต้องใช้ภาษาฝรั่งว่า Expression บนพระพักตร์เท่านั้น ทำให้รู้สึกซึ้งใจ เป็นลักษณะหน้าคนที่กำลังสุขสบายและเพลิดเพลิน แสดงว่าลุงของข้าพเจ้ามีความสุข…”

ครั้งทรงมีพระชันษาครบ 60 เมื่อพ.ศ. 2484 พระโอรสธิดาถวายของขวัญวันประสูติ ด้วยการรวบรวมเงินจ่ายเป็นค่าเดินทางให้นักดนตรีเก่าจากวังบางขุนพรหม จำนวน 5 คน โดยสารเรือจากกรุงเทพฯ มายังประเทศชวา

เล่ากันว่าครั้งนั้นทรงพระเกษมสำราญเป็นที่สุด ทรงดนตรีตั้งแต่เช้าจนค่ำ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่นักดนตรีชุดนี้อยู่ในประเทศชวา ความสุขดังที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในพระดำรัส ซึ่งตรัสในเวลานั้นว่า

“…เล่นดนตรีสนุกจริงๆ อดอยากมานานแล้ว…” และ “…ไม่ได้เล่นพิณพาทย์ถึงใจอย่างนี้มานานแล้ว และคงจะเป็นครั้งสุดท้าย…”

ทั้งวัตรปฏิบัติและพระดำรัสทั้งหมดทั้งมวลนี้ แสดงถึงน้ำพระทัยที่รักการดนตรีของพระองค์ ดังความในพระทัยที่ตรัสกับหัวหน้าคณะผู้ก่อการที่ว่า

“…แท้จริงอยากจะเรียนดนตรี แต่ขัดพระบรมราชโองการไม่ได้…”


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “กรมพระนครสวรรค์ฯ กับการปฏิรูปกองทัพเรือ ทรงขจัดหนี้-ทุจริต-ความขัดแย้งภายใน.” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 14 มิ.ย. 2564. เข้าถึงเมื่อ 16 มิ.ย. 2564. < https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_40004>

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับความในพระทัยเมื่อขอไปเสียจากเมืองไทย.” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2558

“ย้อนเหตุบุกจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็นคณะราษฎร 2475”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 21 มี.ค. 2564. เข้าถึงเมื่อ 16 มิ.ย. 2564. < https://www.silpa-mag.com/history/article_34588>

“ ‘…ฉันมีแต่บ้าน อยากได้ก็เอาไปซิ เขาเลยเอาจริงๆ…’ พระดำรัส กรมพระนครสวรรค์วรพินิต”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 4 มิ.ย. 2561. เข้าถึงเมื่อ 16 มิ.ย. 2564. < https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_989>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2564