ความในพระทัยกรมพระนครสวรรค์ กับข่าวลือว่าทรงคิดกบฏชิงราชบัลลังก์

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์พินิต

“—จะทรงใช้สอยในราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะฉลองพระเดชพระคุณในราชการสิ่งนั้นทุกอย่าง แต่ขอพระราชทานเลิกคิดขบถเสียที เพราะได้รับหน้าที่นี้มา 15 ปีแล้ว เบื่อเต็มที—“

เป็นพระดำรัสความในพระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ตรัสกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาก่อนจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อันสืบเนื่องจากข่าวลือที่เกิดขึ้นตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าจะทรงคิดกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดข่าวลือดังกล่าว น่าจะเกิดจากการที่ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีพระปรีชาสามารถในการปฏิบัติพระภารกิจในทุกหน้าที่ที่ทรงได้รับมอบหมาย ประกอบกับพระจริยวัตรอันงดงาม นับแต่เป็นพระราชโอรสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงภาคภูมิพระทัยว่าทรงเรียนเก่ง ครั้งทรงศึกษาวิชาทหารบกในประเทศเยอรมนี ทรงเป็นที่สรรเสริญของครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์ม จักรพรรดิเยอรมัน ถึงกับมีพระราชหัตถเลขาชมเชยความสามารถของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งทรงภาคภูมิพระทัยและมั่นพระทัยในพระราชโอรสพระองค์นี้

ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับหลายตอน เช่น ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระชนนีในพระราชโอรส ความว่า

“—เกือบรับประกันได้ว่าลูกเราคนนี้ไม่เสียคนเลยเป็นอันขาด หลักแหลมมั่นคงมาก ควรจะดีใจได้เป็นแท้—” และทรงมีถึงพระราชโอรสว่า “—เมื่อดิ้นไปไม่ไหวก็มีความหวังใจอยู่ในลูกว่าจะมาช่วยแบกหามความลำบากของพ่อเมื่อเวลาแก่ แลโทรมลงพอให้เป็นที่เบาใจบ้าง—“ และก็มิได้ทรงผิดหวังเพราะเมื่อพระราชโอรสพระองค์นั้นทรงสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณใต้เบื้องพระยุคลบาท ก็ทรงสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ลุล่วง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

เช่น เมื่อกองทัพเรือมีปัญหา ต้องการการแก้ไขอย่างมากและทันที อันเนื่องมาแต่การแตกแยกกันของนายทหารเรือรุ่นเก่าที่ไม่มีประสงค์จะให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นในกองทัพเรือ และนายทหารเรือรุ่นใหม่ ที่เห็นสมควรจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีการบริหารและวิทยาการซึ่งล้าสมัย ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเหตุให้กิจการกองทัพเรือดำเนินไปอย่างล่าช้าไม่ราบรื่น สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงตระหนักพระทัยถึงพระคุณสมบัติและพระปรีชาสามารถในการปกครองคน การประสานประโยชน์อย่างนุ่มนวลและเด็ดขาดของพระราชโอรสพระองค์นี้เป็นอย่างดี จึงโปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งก็ทรงสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงด้วยดี ทำให้ทหารเรือทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างตื่นตัวปฏิบัติตามแนวทาง และหลักเกณฑ์ที่เห็นได้ชัดเจนว่านำมาซึ่งประโยชน์และสมรรถภาพของกองทัพเรือ

ในระหว่างที่ทรงบริหารกิจการทหารเรือ ยังทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจพิเศษสำคัญต่าง ๆ ทั้งราชการบ้านเมืองและการส่วนพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตจึงเป็นพระราชโอรสที่ทรงรอบรู้กิจการของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทรงสามารถที่จะแสดงความเห็นในนโยบายการบริหารประเทศได้อย่างเฉียบคมถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น ทรงถวายความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ควรที่จะผูกมัดอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่งระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งต่างกำลังแข่งขันกันขยายอิทธิพลเข้าครอบครองสยาม ทั้งไม่เสียทางไมตรีและยังเป็นการคานอำนาจ ทำให้ประเทศทั้งสองไม่กล้าผลีผลามในการเข้ายึดครองสยาม ถือเป็นวิถีทางการทูตที่ถูกต้องตามหลักสากลและเป็นวิเทโศบายที่แยบยลนำมาซึ่งคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

พระกรณียกิจในพระราชโอรสพระองค์นี้ เป็นที่พอพระราชหฤทัยในทุก ๆ เรื่อง จนถึงแก่ทรงออกพระโอษฐ์เรียกพระราชโอรสพระองค์นี้ว่าทรงเป็น “หัวใจของพ่อ”

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้านายแห่งวังบางขุนพรหม

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจสำคัญแทนพระองค์ ทั้งงานบ้านเมืองและงานส่วนพระองค์ สำหรับงานบริหารบ้านเมืองโปรดให้กลับมาปฏิบัติงานในตำแหน่งเสนาธิการทหารบกแทนจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ซึ่งเสด็จทิวงคตกะทันหัน ในตำแหน่งนี้ ทรงใช้ทั้งประสบการณ์และความรู้ที่ทรงศึกษามาโดยตรงปฏิบัติพระภารกิจต่าง ๆ กว้างขวางยาวนาน พัฒนากองทัพบกให้เจริญตามแนวทางของอารยประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์และวิทยาการสมัยใหม่ อันจะเป็นผลต่อความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงของประเทศ

นอกจากงานด้านการทหารแล้ว ยังทรงปฏิบัติพระภารกิจด้านพลเรือน เช่น ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกกาชาด และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไปของพระมหากษัตริย์ และยังโปรดให้ปฏิบัติพระราชภารกิจสำคัญแทนพระองค์ เช่น การต้อนรับพระราชอาคันตุกะคนสำคัญของบ้านเมืองจนทรงเป็นที่ยอมรับของบรรดาทูตานุทูตของประเทศต่าง ๆ

พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติตลอด 2 รัชสมัย ทั้งด้านการทหารและพลเรือนดังกล่าว นำความเจริญมาสู่หน่วยงานที่ทรงดูแลบังคับบัญชา และสืบเนื่องกันเป็นความมั่นคงของประเทศชาติ ทำให้ทรงเป็นที่เคารพยกย่องในหมู่ทหาร หมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และหมู่ชาวต่างประเทศ อีกทั้งยังทรงบริบูรณ์ไปด้วยอำนาจราชศักดิ์ เพราะทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทพระองค์หนึ่ง ประกอบกับพระบารมีอันเนื่องมาแต่น้ำพระทัยที่โอบอ้อมอารี พระจริยวัตรที่นุ่มนวลแต่เด็ดขาด เข้มแข็ง

ความดีงามดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่อีกส่วนหนึ่งกลับเป็นผลร้ายต่อพระองค์เอง เพราะทำให้เกิดการเพ่งเล็งและเกิดเป็นข่าวเล่าลือว่าพระบารมีของพระองค์ น่าจะถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมิได้ทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทลำดับต้น ๆ แต่เพราะทรงมีอำนาจราชศักดิ์ พระบารมี พระปรีชาสามารถ ตลอดจนประสบการณ์ในการบริหารประเทศกว้างขวาง ในขณะที่องค์รัชทายาทตามพระราชประเพณีขณะนั้นเหลือเพียงสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ยังมีพระชนมายุน้อย ประสบการณ์การบริหารประเทศยังไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้เกิดข่าวลือว่า จะทรงคิดขบถชิงราชสมบัติ

แม้จะทรงเสียพระทัยกับข่าวลือ แต่ก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป จนสิ้นแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงถือเป็นโอกาสในอันที่จะกราบบังคมทูลปรับความเข้าพระทัย ถวายความจริงในพระทัยให้ทรงทราบถึงความจงรักภักดีและทรงลงท้ายคำกราบบังคมทูลว่า

“—ขอพระราชทานเลิกคิดขบถเสียที เพราะได้รับหน้าที่นี้มา 15 ปีแล้ว เบื่อเต็มที่—“

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เบื้องหลังชีวิตผกผันของ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สู่การออกจากไทยหลังปฏิวัติ 2475

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ย้อนเหตุบุกจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็นคณะราษฎร 2475


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2564