ย้อนเหตุบุกจับเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็นคณะราษฎร 2475

เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์

ย้อนเหตุบุกจับ “เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์” เมื่อทหารไว้พระทัยกลายเป็น คณะราษฎร 2475

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทย โดยคณะราษฎรนั้นได้วางแผนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2467 ซึ่งมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรได้มอบหมายให้ พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้วางแผนการ “ยึดอำนาจโดยพลัน” มีแผนการหนึ่งที่สำคัญคือการจับพระบรมวงศานุวงศ์เป็น “ตัวประกัน” แต่แผนการนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด

เค้าลางเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

ก่อนถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายรัฐบาลทราบความเคลื่อนไหวของคณะราษฎร โดย พล.ต.ท. พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ พร้อมด้วยกองกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งมาเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (29 มิถุนายน 2424 – 18 มกราคม 2487) ที่วังบางขุนพรหม เพื่อกราบทูลให้ทรงทราบเรื่อง

กรมพระนครสวรรค์ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

พระยาอธิกรณ์ประกาศ ถวายบัญชีรายชื่อผู้สมคบคิดเป็น “กบฏ” ต่อบ้านเมือง แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ในฐานะประธานอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มิทรงเชื่อรายงานของอธิบดีกรมตำรวจ และทรงทัดทานอย่างแข็งขันที่มิให้พระยาอธิกรณ์ประกาศไปจับกุมตัวคนเหล่านั้น ทรงเกรงว่าจะทำให้เกิดความบาดหมางแตกร้าวในหมู่ทหาร กระนั้นตำรวจกลุ่มดังกล่าวยังคงถวายอารักขาอยู่ที่วังบางขุนพรหม จนถึงเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เมื่อคณะราษฎรดำเนินการยึดอำนาจประเทศในรุ่งเช้าวันนั้น หลังพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร ณ ลานพระราชวังดุสิตแล้วนั้น แผนการสำคัญขั้นต่อไปคือการจับพระบรมวงศานุวงศ์เป็นตัวประกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพะวักพะวงห่วงใยพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ที่ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ของราชวงศ์และบ้านเมือง

พระยาทรงสุรเดชจึงออกคำสั่งให้ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) หนึ่งในสี่ทหารเสือ นำกำลังทหารราว 50 นาย ประกอบด้วยนักเรียนนายร้อย นักเรียนนายดาบ และทหารเรือบางส่วน พร้อมด้วยรถเกราะและรถปืนใหญ่ มุ่งหน้าจากพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต สู่วังบางขุนพรหม

อย่างไรก็ตาม พระประศาสน์พิทยายุทธ ทราบดีว่า ตำรวจจากสถานีตำรวจบางขุนพรหมที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวังนั้นเป็นกำลังสำคัญในการถวายอารักขา หากบุกไปที่วังตรง ๆ อาจทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นได้ ท่านจึงมุ่งไปที่สถานีตำรวจบางขุนพรหม พร้อมเชิญ ร.ต.ท.ชิต สาตราโรจน์ สารวัตรประจำสถานีขึ้นรถเกราะมุ่งหน้าสู่วังบางขุนพรหม

สี่ ทหารเสือ คณะราษฎร
สี่ทหารเสือคณะราษฎร: (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พระประศาสน์พิทยายุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาฤทธิอัคเนย์

บุกจับ “เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์”

เมื่อขบวนมาถึงวัง ฝ่ายตำรวจที่อารักขาวังจึงเปิดประตูให้เข้ามาทันทีอย่างง่ายดาย หาได้รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงแต่ประการใด ขณะนั้นเอง พ.ต.อ. พระยาอาสาพลนิกร ตำรวจที่ถวายอารักขาในวัง ได้ออกมาจากพระตำหนักแล้วชักปืนพกยิงใส่ฝ่ายคณะราษฎรไปสามนัด จากนั้นปืนกลบนรถถังก็ยิงสวนจนพระยาอาสาพลนิกรรีบหลบหนีไปในพระตำหนัก

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวาย ไม่มีใครทราบว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น และไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดการปฏิวัติ ช่วงแรกชาววังหรือแม้แต่ชาวบ้านละแวกนั้นคาดเดากันว่า มีคนร้ายบุกวังหมายมุ่งทำร้ายสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ และทหารที่เข้ามาที่วังนั้นก็เพื่อถวายอารักขา แต่เหตุแท้จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นเลย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ทรงบันทึกเหตุการณ์ในเช้าวันนั้นว่า

“ข้าพเจ้านอนอยู่ในห้อง ซึ่งมองเห็นแม่น้ำ ถูกปลุกขึ้นเพราะเสียงปืนหลายนัด ลุกขึ้นไปที่เฉลียงเล็กหน้าห้องเจ๊กคนสวน 2 คน ที่สนามหญ้าใกล้ตำหนัก จึงตะโกนถามว่า ‘ใครเข้ามายิงนกถึงที่นี่’ คนสวนบอกว่า ‘ไม่ใช่ยิงนก’ ข้าพเจ้าออกวิ่งไปทางสะพานถึงเฉลียงตำหนักใหญ่ เห็นแม่ยืนอยู่ตรงช่องสุดท้ายของเฉลียง เยี่ยมดูอยู่องค์เดียว ไม่มีข้าหลวงสักคน ที่ห้องข้าพเจ้าก็เหมือนกัน ยิ่งไม่มีใครขึ้นมาเลย เห็นคนใส่ยูนิฟอร์มทหารบ่าแดงกลุ่มใหญ่ยืนอยู่ริมสนาม แม่และข้าพเจ้าก็ดูไม่ออกว่าเป็นทหารเหล่าไหน…”

“…โดยความสัตย์จริงแล้วไม่ได้รู้สึกกลัวมากมายอะไร หรือจะตกใจจนชาก็ไม่ทราบ เขาคะยั้นคะยอก็เลยเดินลงสะพานน้ำตามๆ กันไป แม้แต่เด็จย่า…ก็มีหอกปลายปืนจ่อเดินขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผย”

ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร ที่ ปารีส
ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ บางส่วน ที่ปารีส ปี ๒๔๗๐ คนที่ ๔ จากซ้ายคือ นายปรีดี พนมยงค์, ขวาสุดคือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (ป. พิบูลสงคราม), ที่ ๒ จากขวาคือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี

ฝ่ายเจ้านายในวังบางขุนพรหม รวมทั้งข้าราชบริพาร และตำรวจ ราวร้อยคนมารวมตัวกันที่พระตำหนัก จากนั้นพระประศาสน์พิทยายุทธพร้อมทหารจึงนำกำลังเข้าสู่พระตำหนัก ขณะที่คณะราษฎรฝ่ายทหารเรือได้นำกำลังปิดล้อมทางแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ด้านหลังวัง ทหารเรืออีกจำนวนหนึ่งจึงขึ้นจากท่าเรือมาสมทบ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ในฉลองพระองค์ชุดบรรทม กางเกงแพรจีนและเสื้อกุยเฮง เมื่อทรงเห็นพระประศาสน์พิทยายุทธจึงมีรับสั่งว่า “เอ๊ะ! อีตาวันแกก็เป็นกบฏกับเขาด้วยรึ?” (วัน หมายถึงพระประศาสน์พิทยายุทธ) จากนั้นพระประศาสน์พิทยายุทธจึงกราบทูลให้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ทั้งหลายที่ทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้หวังมุ่งประทุษร้ายพระราชวงศ์ แต่จะขอเชิญพระองค์ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ มิทรงยินยอม พระประศาสน์พิทยายุทธจึงกราบทูลเชิญให้ออกมาเจรจากันที่สนามหญ้าหน้าพระตำหนัก ซึ่งพระองค์ก็ทรงยินยอม กระนั้นก็ดี พระองค์ยังคงยืนกรานไม่เสด็จไปตามคำกราบทูล และทรงไม่ยินยอมฟังเหตุผลใด ๆ ทันใดนั้นเอง

พระยาอธิกรณ์ประกาศ กระชากปืนคอลท์ 9 ม.ม. ออกมาหมายสังหารพระประศาสน์พิทยายุทธ แต่ทหารฝ่ายคณะราษฎรคือ ร.อ. หลวงนิเทศกลกิจ เห็นเข้าก่อนจึงขัดขวางได้ทัน ทหารคณะราษฎรคุมตัวและยึดอาวุธพระยาอธิกรณ์ประกาศได้สำเร็จ

การเจรจายังไม่ยุติจนเวลาล่วงเลยไปนานมากแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ทรงบ่ายเบี่ยง โดยทรงอ้างว่าจะขอเวลาไปเปลี่ยนฉลองพระองค์เสียก่อน แต่พระประศาสน์พิทยายุทธไม่ยินยอม เนื่องจากเกรงกลัวว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ จะกลับพระทัย แล้วรับสั่งให้ฝ่ายอารักขาของพระองค์นำปืนกลหลายกระบอก (ที่มีข่าวลือว่าทรงเตรียมการไว้รับมือการก่อกบฏ) มาต่อสู้ ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น

ช่วงเวลาที่เจรจาต่อรองกันอยู่นั้น ร.ท. ขุนเรืองวีรยุทธ ทหารหนุ่มฝ่ายคณะราษฎรดันเลือดร้อนหรืออย่างไรไม่ทราบได้ เห็นว่าเวลาล่วงเลยไปนานมากแล้ว จึงยกปืนกลขึ้นเตรียมยิงแล้วหันไปทางสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ พร้อมกับร้องออกมาว่า “ไม่ได้!”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ จึงหันพระวรกายไปทางปากปืนกลนั้น ยืดพระอุระอย่างท้าทาย และมีพระสุรเสียงรับสั่งอย่างกึกก้องว่า

“เอ้ายิง ยิงซี ยิง!”

หลวงนิเทศกลกิจ จึงรีบระงับห้ามปรามทหารหนุ่มผู้นั้น พร้อมกล่าวว่า “ทำบ้าไปได้ไอ้ขุน” เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ทรงเห็นว่าต่อรองไม่สำเร็จ จึงทรงยินยอมเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคมแต่โดยดี พร้อมด้วยหม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร พระชายา

เมื่อเสด็จถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ได้พบพระยาพหลพลพยุหเสนา ทรงมีรับสั่งว่า “ตาพจน์ก็เอากับเขาเหมือนกันรึนี่!?” ครั้นเสด็จผ่าน ร.อ. หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) ก็ทรงมีรับสั่งว่า “ตาเจือ อ้อ! แกด้วยหรือนี่…?” ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบุคคลที่พระองค์ไม่ทรงคาดคิดมาก่อนว่าจะกระทำการนี้

รวมไปถึงพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นทหารคนโปรดของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ จนพระองค์เคยตรัสขอตัวเอาไปเป็นนายทหารประจำพระองค์ทีเดียว แต่ปรากฏว่าพระยาทรงสุรเดชไม่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านเลยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ เหตุผลนั้นพระยาทรงสุรเดชเคยกล่าวกับคุณหญิงของท่านด้วยเหตุที่ไม่ไปเข้าเฝ้าว่า “ไม่ได้ เดี๋ยวท่านจะด่าเอา!”

นอกจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ที่ถูกจับไปเป็น “ตัวประกัน” แล้ว ยังมีเจ้านายพระองค์อื่น ๆ และบุคคลสำคัญในรัฐบาลอีก เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี, พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, พลตรี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (สวัสดิ์ บุนนาค) เสนาธิการทหารบก เป็นต้น

เมื่อคณะราษฎรได้ตัวประกันคนสำคัญมาไว้ในมือหมดแล้ว จึงได้ออกประกาศว่า “ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงษานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงษานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย” 

แม้จะไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดในการปฏิวัติในวันนั้น แต่ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช นำมาสู่ความร้าวฉานที่ยากจะประสานและประนีประนอมระหว่างทั้งฝ่าย “คณะราษฎร” และ “คณะเจ้า” พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ ต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ เสด็จไปประทับที่พระตำหนักในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย และสิ้นพระชนม์ที่นั่น เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เสทื้อน ศุภโสภณ. (2535). ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช. กรุงเทพฯ: ครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง.

อริย์ธัช  แก้วเกาะสะบ้า. (2562). ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2562, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2562