กรมพระนครสวรรค์ฯ กับการปฏิรูปกองทัพเรือ ทรงขจัดหนี้-ทุจริต-ความขัดแย้งภายใน

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์พินิต

“—พวกหัวหน้าเหล่านั้นก็ไม่พูดกัน เพียงนั่งทำงานอยู่คนละห้อง มีเรื่องอะไรควรจะถามกันด้วยวาจา ก็ต้องเขียนจดหมายถามกัน ซึ่งทำให้งานล่าช้า—”

เป็นพระดำรัสของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากกองทัพบกในตำแหน่งเสนาธิการ มาที่กองทัพเรือในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งแม้จะไม่ตรงกับความรู้ที่ทรงสำเร็จการศึกษามา แต่สมเด็จพระบรมราชชนกก็ทรงเชื่อมั่นว่าพระราชโอรสพระองค์นี้ทรงสามารถที่จะปฏิบัติงานนี้ได้

และเมื่อทรงเข้าปฏิบัติงานก็ทรงพบกับปัญหาต่าง ๆ ให้ทรงต้องแก้ไขมากมาย ปัญหาหนึ่งคือการไม่เข้าใจกันระหว่างข้าราชการรุ่นเก่าและข้าราชการรุ่นใหม่ ซึ่งต่างถือดีว่าการปฏิบัติงานตามแบบของตนนั้นถูกต้องดีงามกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี เป็นพระราชโอรสที่มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษา เมื่อโปรดให้เข้าศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศเยอรมนี ก็ทรงได้รับคำสรรเสริญจากพระจักรพรรดิไกเซอร์แห่งประเทศเยอรมนี เป็นที่ภาคภูมิพระทัยในสมเด็จพระบรมราชชนก

ความชื่นชมพระราชโอรสพระองค์นี้เห็นได้ชัดเจนจากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี ที่ว่า “—เกือบรับประกันได้ว่าลูกเราคนนี้ไม่เสียคนเลยเป็นอันขาด หลักแหลมมั่นคงมาก ควรจะดีใจได้เป็นแท้—”

และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษากลับมาประเทศไทย ก็ทรงมีความหวังว่าสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้จะมาช่วยแบ่งเบาพระราชภาระ ดังปรากฏความหวังนี้ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งว่า

“—ความหวังใจอยู่ในลูก ว่าจะมาช่วยแบกหามความลำบากของพ่อเมื่อเวลาแก่แลโทรมลงพอให้เป็นที่เบาใจบ้าง—”

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ดำรงพระยศเป็นนายพลตรีราชองครักษ์ แต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็มีเหตุให้ทรงต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ เหตุดังกล่าวน่าจะสืบเนื่องมาจากขณะนั้นงานบริหารกองทัพเรือมีปัญหา ทำให้การดำเนินงานในกองทัพเป็นไปอย่างล่าช้า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตระหนักพระราชหฤทัยถึงปัญหานี้ มีพระราชดำริว่า ผู้ที่มีพระคุณสมบัติเหมาะสมจะเข้าไปแก้ปัญหานี้คือกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพราะพระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ซึ่งมีทั้งความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งผสานกับพระจริยวัตรที่สุขุมคัมภีรภาพละมุนละม่อม รู้หลักการประสานประโยชน์ มีพระวิริยะอุตสาหะและพระทัยเย็น ดังที่ตรัสกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ถึงการที่โปรดให้ทรงไปรับตำแหน่งใหม่ซึ่งไม่ตรงกับวิชาที่ทรงศึกษามาว่า “—พ่อเชื่อในอัชฌาไศรยของเจ้าว่า เมื่อได้เข้าไปในสมาคม คงจะเป็นที่พอใจคนมาก—”

และก็เป็นไปตามที่ทรงคาดหวัง เพราะกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงใช้พระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ดังกล่าวค่อย ๆ แก้ปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลาช้านานโดยที่ไม่มีผู้ใดสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานที่ปราศจากหลักเกณฑ์ แบบแผน ทำไปในลักษณะงานของครอบครัวมากกว่าที่จะเป็นงานราชการ ดังที่หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม พระชายา ทรงบันทึกเล่าเกี่ยวกับเรื่องการเข้าไปในกรมทหารเรือครั้งแรกไว้ว่า

“—เมื่อเสด็จไปถึงกรมทหารเรือแล้ว ก็ไม่ทรงทราบว่าจะจัดการอย่างไร เพราะหาหลักฐาน ข้อบังคับ คำสั่ง แบบแผนที่จะปฏิบัติราชการไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว บันทึกคำสั่งไม่มีเลย ปฏิบัติงานกันอย่างงานบ้าน ใครเคยทำอย่างไรก็ทำไปตามเคย—”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี

ทรงใช้เวลาระยะแรกศึกษาวิธีการบริหารงานภายในของกรมทหารเรือ ทรงพบปัญหาสำคัญคือการไม่มีหลักเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับปฏิบัติงานตายตัว และความหละหลวมในการปฏิบัติงาน ทำให้มีการรั่วไหลและการทุจริตจนเกิดหนี้สินที่พอกพูนขึ้น โดยที่ไม่มีผู้ใดคิดที่จะแก้ไข เช่น การเป็นหนี้บริษัทอีสต์เอเชียติก จำนวน 2 แสนบาท เกิดจากการที่บริษัทรับผูกขาดการส่งอาหารประเภทไข่ นม ผัก ผลไม้ และฟืน ให้แก่ทหารต่างชาติที่โปรดให้ว่าจ้างมาวางรากฐานการทหารเรือในสยาม

มีพระดำริว่า สินค้าเหล่านั้นน่าจะซื้อได้โดยตรงจากพ่อค้าขายส่งหรือขายปลีกในตลาดสด ซึ่งราคาถูกกว่ามาก จึงโปรดให้บริษัทอีสต์เอเชียติกเลิกการผูกขาด และในที่สุดก็ทรงใช้หนี้บริษัทจนหมด หรือการรั่วไหลของงบประมาณรายจ่ายบางอย่าง ซึ่งเคยถือปฏิบัติกันมาช้านาน อันน่าจะเกิดจากการปล่อยปละละเลย เช่น การเบิกอาหารของทหารเรือบางหน่วย ซึ่งแต่เดิมน่าจะเกิดจากความจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารภายในหน่วยงาน

ครั้นหมดความจำเป็นก็ยังคงถือปฏิบัติกันเรื่อยมา และมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น เช่น เบิกอาหารไปรับประทานที่บ้าน ต่อมากลายเป็นเบิกไปเลี้ยงทั้งครอบครัว หรือกรณีเบิกอาหารแห้งสำหรับเลี้ยงเลก 200 คน ที่เป็นทหารรักษาการณ์ขณะสร้างวังสวนดุสิต แต่แม้วังสวนดุสิตจะสร้างเสร็จไปนานแล้ว ก็ยังคงมีการเบิกข้าวสารอาหารแห้งเลี้ยงเลก 200 คน อยู่เช่นเดิม

โปรดให้แก้ปัญหาทุกอย่างด้วยการตรวจสอบถึงที่มาที่ไปของปัญหาดังกล่าวนั้นว่าจำเป็นและถูกต้องอย่างใดหรือไม่ เมื่อตรวจสอบได้ผลที่แท้จริงและถูกต้องแล้วจึงโปรดให้แก้ไขบ้าง ยกเลิกบ้าง หรือแม้แต่การซื้อครุภัณฑ์ซึ่งบางอย่างไม่มีความจำเป็น ทำให้มีครุภัณฑ์ตกค้างอยู่ในโกดังมาก

โปรดให้ตรวจสอบสิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ หรือเหลือใช้ โปรดให้ส่งคืนกลับไป ที่ชำรุดเสียหายก็ให้ซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ และโปรดให้จัดทำบัญชีเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระบบสากล มีหลักเกณฑ์ มีผู้รับผิดชอบที่แน่นอน เป็นการป้องกันการทุจริตและอุดรอยรั่วการใช้จ่ายในกรมทหารเรือ ทำให้รายจ่ายของกองทัพลดลง สามารถที่จะนำงบประมาณไปใช้ประโยชน์อื่นในกองทัพได้

ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่ทรงพบและใช้เวลานานเพื่อแก้ปัญหานี้ คือปัญหาการที่คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ไม่ยอมทำความเข้าใจกัน เพราะต่างก็เชื่อในความคิดเห็นและการปฏิบัติของตนว่าถูกต้อง คนรุ่นเก่าถือว่าตนเป็นผู้ทำงานนี้มาเนิ่นนานซึ่งก็ทำให้ไม่มีอะไรเสียหาย จึงปฏิบัติกันอย่างที่เคยปฏิบัติมาแต่ดั้งเดิม ไม่เชื่อถือวิธีการทำงานของคนรุ่นใหม่

ส่วนคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษารู้เห็นวิทยาการสมัยใหม่ รู้สึกว่าระบบงานแบบเก่าล้าสมัย สมควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสมัยและสถานการณ์บ้านเมือง เพื่องานจะได้เป็นระบบตามแบบอารยประเทศและดำเนินไปอย่างราบรื่นรวดเร็ว ได้ปฏิบัติตามความเห็นของตนทั้งที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากคนรุ่นเก่า ทำให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างลักลั่นล่าช้า โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมที่จะทำความเข้าใจกัน จึงเกิดภาพดังที่ทรงเล่าว่า

“—พวกหัวหน้าเหล่านั้นก็ไม่พูดกัน เพียงนั่งทำงานอยู่คนละห้อง มีเรื่องอะไรควรจะถามกันด้วยวาจา ก็ต้องเขียนจดหมายถามกัน ซึ่งทำให้งานล่าช้า—”

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงใช้พระคุณสมบัติพิเศษเฉพาะพระองค์ คือความพระทัยเย็น มีพระวิริยะอุตสาหะ การรู้จักประสานประโยชน์ ทรงเริ่มจากการศึกษาวิธีการบริหารงานภายในของกรมทหารเรือ และทรงศึกษาแบบแผนขนบธรรมเนียมทหารเรือของต่างประเทศ ทั้งจากหนังสือ เอกสาร และบุคคลต่าง ๆ ต่อจากนั้นจึงทรงฟังความคิดเห็นและปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ต่างฝ่ายต่างคิดว่าถูกต้องและเหมาะสมของข้าราชการทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

ทรงนำแนวคิดและปัญหาทั้งหมดมาผสมผสานปรับปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมและพื้นอุปนิสัยของคนไทย โดยโปรดให้ตั้งเป็นข้อบังคับสำหรับให้ทหารเรือทุกหมู่ทุกเหล่าทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ปฏิบัติตามอย่างเท่าเทียมกัน ได้แก่ ข้อบังคับทหารเรือ (...) ข้อบังคับหน้าที่ราชการเรือ (...) และข้อบังคับหน้าที่ราชการกลจักร (...) ข้อบังคับทั้งหมดใช้บังคับข้าราชการในกองทัพเรือทุกหมู่เหล่าเสมอหน้ากัน ทรงแสดงให้ประจักษ์ว่าข้อบังคับดังกล่าวล้วนนำมาซึ่งประโยชน์และความเจริญที่กองทัพเรือจะได้รับหากปฏิบัติตาม ทำให้การบริหารงานในกองทัพเรือกระชับราบรื่นและดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

พระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ชัด เพราะในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนั้น การจะทำให้ความแตกต่างกันของความคิดเก่าของคนรุ่นเก่าและความคิดใหม่ของคนรุ่นใหม่ ประสานกันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติประการเดียวนั้นยากยิ่ง

แต่ก็ทรงสามารถที่จะทำให้ภาวะ “—พวกหัวหน้าเหล่านั้นก็ไม่พูดกัน เพียงนั่งทำงานอยู่คนละห้อง—” ผ่านพ้นไปได้และนำความเจริญมั่นคงมาสู่กองทัพเรือทั้งในสมัยนั้นและสืบมาจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “กรมพระนครสวรรค์วรพินิตกับการปฏิรูปกองทัพเรือ” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2562