ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
บทนมัสการ “นโม 3 จบ” เป็น บทสวดมนต์ ที่ชาวไทยพุทธคุ้นเคยเป็นอย่างดี แน่นอนว่าบทสวดนี้เกี่ยวข้องกับ พระพุทธเจ้า เป็นปฐม แต่เชื่อว่าน้อยคนจะรู้ความหมายและที่มาแท้จริง เรื่องนี้มีตำนานอ้างอิงถึงอยู่บ้าง ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยว่าเกี่ยวข้องกับ “เทวะ” หรือเทพเจ้าในคติพุทธศาสตร์ถึง 5 เหล่าด้วยกัน
“นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส”
Advertisement
คือ บทสวดมนต์ ก่อนเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในพุทธศาสนา เพราะต้องกล่าวบทนี้ก่อนเสมอ เรียกว่า “ตั้งนโม 3 จบ” เป็นบทถวายความเคารพแด่ พระพุทธเจ้า มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เป็นพระผู้ทรงพระภาค เป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
หากถอดเป็นคำ ๆ จะแปลความได้ดังนี้
“นโม” แปลว่า นอบน้อม “ตสฺส” แปลว่า พระองค์นั้น (สรรพนามที่หมายถึงพระพุทธเจ้า) “ภควโต” แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาคุณ ที่ทรงเผยแผ่พระธรรมอันประเสริฐที่ได้ตรัสรู้
“อรหโต” แปลว่า อรหันต์ คือผู้ละกิเลสได้แล้ว เพื่อรำลึกถึงพระบริสุทธิคุณ หรือภาวะบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธเจ้า และสุดท้าย “สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” หรือสัมมาสัมพุทธเจ้า คือให้รำลึกถึงพระปัญญาคุณ ที่ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นการเข้าถึงความจริง หรือภาวะบรรลุ “โพธิญาณ” ของพระพุทธเจ้านั่นเอง
จะเห็นว่าบทการนมัสการเน้นไปที่ “พระคุณ” ไม่ใช่ “พระองค์” แน่ล่ะ เพราะพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว จึงต้องนมัสการพระคุณเพื่อให้พุทธศาสนิกชนไม่ต้องว้าเหว่วุ่นวายใจ ให้รู้สึกว่าแม้พระพุทธเจ้าจะล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว แต่พระคุณยังดำรงอยู่ หาได้ล่วงลับตามไปด้วย
ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้แต่งบทนมัสการนี้ แต่มี “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับบทสวดนี้อยู่เรื่องหนึ่ง ความว่า
“พราหมณ์สองผัวเมีย มีความเลื่อมใสต่างกัน ผัวเลื่อมใสในลัทธิพราหมณ์ เมียเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า คราวหนึ่ง ผัวเชิญพวกพราหมณ์มาเลี้ยงอาหารในการมงคล เมียก็ช่วยตามหน้าที่ของภรรยาที่ดี นางยกสำรับมาเพื่อให้ผัวเลี้ยงพราหมณ์ เหยียบพื้นพลาดเซไปก็พลั้งออกมาว่า ‘นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส’
พวกพราหมณ์ที่ได้รับชิญมา ฟังแล้วพากันพูดว่า ตัวกาลกรรณีเกิดขึ้นในบ้านนี้แล้ว พากันลุกไปหมด พราหมณ์ผู้ผัวโกรธเมียเป็นไฟ ด่าว่าเมียยกใหญ่ สุดท้ายบอกว่า ‘ดีละ จะไปเล่นงานสมณโคดมของแกให้จนทีเดียว’ รีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความโกรธ พอไปถึงก็ตั้งคำถามทันทีว่า ‘ฆ่าอะไร ถึงจะอยู่เป็นสุข’ พระพุทธเจ้าตรัสตอบทันทีว่า ‘ฆ่าความโกรธ ถึงจะอยู่เป็นสุข’ เพียงเท่านี้ พราหมณ์ผู้มีอุปนิสัยก็เห็นจริง เกิดความเลื่อมใส ว่าบทนมัสการได้ด้วยตนเอง และฟังบทนมัสการของผู้อื่นด้วยใจชื่นบาน”
นอกจากนี้ หากอ้างอิงตามตำนานพระพุทธศาสนา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสรมหาเถร ป.ธ. ๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เล่าไว้ในหนังสือ ตำนานพระปริตร โดยว่าตามโบราณาจารย์กล่าวไว้อีกที ระบุว่า ผู้เริ่มกล่าวบทนมัสการคือเหล่าเทวะ โดย 5 บท (วรรค) มีเทวะ 5 องค์ (หรือหมู่) เป็นผู้ตั้งแต่ง ประกอบด้วย
1. “นโม” มี สาตาคิรียักษ์ เป็นผู้ตั้ง โดยสาตาคิรียักษ์เป็น “เทวดาชาวเขา” อยู่ที่เขาสาตาคิรี จัดเป็นภุมมเทพเทวดาที่อยู่บนแผ่นดินในมหาสมัยสูตร ว่ากันว่ามีถึง 3,000 องค์ แต่ในที่นี้อ้างไว้เป็นเอกพจน์ แปลว่าผู้ตั้ง “นโม” คือหัวหน้าหรือผู้เป็นใหญ่ในหมู่สาตาคิรียักษ์
2. “ตสฺส” มี อสุรินทราหู เป็นผู้ตั้ง ราหู คือชื่อ ส่วน อสุรินทะ คือยศ หมายถึงจอมอสูร (อสูรก็เป็นเทวะพวกหนึ่ง) มีกายทิพย์ ราหูเป็นอริกับสุริยเทพหรือพระอาทิตย์ และจันทรเทพหรือพระจันทร์ แต่เป็นมิตรกับจอมพิภพอสูรชื่อท้าวเวปจิติ
3. “ภควโต” มี จาตุมหาราช เป็นผู้ตั้ง คือเทวะหมู่ เป็นท้าวมหาราชทั้ง 4 แห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก สวรรค์ชั้นแรกจาก 6 ชั้น ท้าวมหาราชมีหน้าที่ครองโลกทั้ง 4 ทิศ บ้างจึงเรียก ท้าวจตุโลกบาล ได้แก่ ท้าวธตรฐ อธิบดีแห่งเหล่าคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก อธิบดีแห่งเหล่ากุมภัณฑ์ ครองทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ อธิบดีแห่งเหล่านาค ครองทิศตะวันตก และ ท้าวกุเวร (เวสวัณ) อธิบดีแห่งเหล่ายักษ์ ครองทิศเหนือ
4. “อรหโต” มี ท้าวสักกเทวราช เป็นผู้ตั้ง เราจะคุ้นอีกนามของท่านคือ พระอินทร์ มากกว่า แต่ยังมีชื่ออีกมากมาย ทั้ง ท้าวสหัสนัยน์ สหัสเนตร มัฆวาน วาสพ บุรินทท แต่ชื่อที่เรียกทั่วไปในพระคัมภีร์คือ “สกฺโก เทวราช” ท้าวสักกเทวราชเป็นเจ้าพิภพดาวดึงส์ (ปกครองถึงเหล่าจาตุมหาราชด้วย) ในทางพุทธศาสนา พระอินทร์เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน
5. “สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” มี ท้าวมหาพรหม เป็นผู้ตั้ง จัดเป็นเทวะชั้นสูง สถิตแยกจากเทวะสามัญที่สถิตอยู่ใน “เทวโลก” โดยภพของพระพรหมเรียก “พรหมโลก” ผู้ให้ทานรักษาศีลจะได้เกิดในเทวโลก แต่ผู้ได้ฌาณสมาบัติจะได้เกิดในพรหมโลก ซึ่งแยกเป็นอีก 2 ภพ คือ รูปภพ (มีกาย) สำหรับผู้มีรูปฌาน กับอรูปภพ (ไร้รูปกาย) สำหรับผู้ได้อรูปฌาณ
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ อธิบายว่า “ผู้ตั้ง นโมฯ ตามที่นำมานี้ ไม่ทราบอธิบายของท่านว่าตั้งกันอย่างไร เพราะเทวะที่กล่าวถึงนั้น บางชื่อก็เป็นหมู่ บางชื่อก็มีเดี่ยว”
แปลว่าเทวะทั้ง 5 จำพวกนี้ ปรากฏเป็นเรื่องเล่าเพียงเป็นผู้แต่ง แต่เอ่ยคำสวดอย่างไร ลำดับอย่างไรนั้นไม่ทราบ อนุมานได้เพียงต่างคนต่างกล่าวนมัสการตามอัธยาศัย ตามศรัทธาของตน แล้วจึงมีผู้จดจำนำมาผสมเข้ากันเป็น “บทนมัสการ” หรือ นโม 3 จบ สืบต่อกันมา
ส่วนเหตุผลที่ต้องเอ่ยบทนมัสการ 3 จบนั้น สมเด็จพระมหาธีราจารย์อ้างอิงจากโบราณาจารย์ว่า เพื่อนมัสการ พระพุทธเจ้า ให้ครบประเภททั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระวิริยาธิกพุทธเจ้า (วิริยะ) พระสัทธาธิกพุทธเจ้า (ศรัทธา) และ พระปัญญาธิกพุทธเจ้า (ปัญญา) ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่เรานับถือ (พระโคตมพุทธเจ้า) คือพระปัญญาธิกพุทธเจ้านั่นเอง
แต่บางท่านก็อธิบายว่า การเปล่งบทนมัสการ 3 จบ เพื่อกำหนดจิตใจให้สงบ เกิดสมาธิ เหมือนเชือก 3 เกลียว ย่อมแน่นและเหนียวกว่าเชือก 1-2 เกลียว ฉันใดก็ฉันนั้น…
อ่านเพิ่มเติม :
- สวรรค์แบบพุทธที่เทวดาตกชั้นได้ จาก “ฉกามาพจร” ในไตรภูมิพระร่วง
- “สุขาวดี” คืออะไร? ทำอย่างไรจึงจะได้เข้าสู่แดนสวรรค์อันบริสุทธิ์ของชาวพุทธ
- นัยสำคัญของการท่องจำ-สวดมนต์ (ที่ถูกวิธี) จากคุณหญิงใหญ่ สตรีรุ่นแรกผลิตผลงานเชิงพุทธ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2567