นัยสำคัญของการท่องจำ-สวดมนต์ (ที่ถูกวิธี) จากคุณหญิงใหญ่ สตรีรุ่นแรกผลิตผลงานเชิงพุทธ

ผู้คน กำลัง สวดมนต์
ผู้คนกำลังสวดมนต์ ทำวัตรเย็น ณ.วัดป่าภาวนาราม อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

นัยสำคัญของการท่องจำ การสวดมนต์ (ที่ถูกวิธี) จาก คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร สตรีรุ่นแรกผลิตผลงานเชิงพุทธ

คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร นับว่าเป็นสตรีไทยรุ่นแรกผู้ประพันธ์ผลงานเชิงพุทธสำคัญอันลึกซึ้ง และที่ถือกันในวงกว้างว่ามี “คุณค่าสูง” บทความเหล่านี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็น 5 บทแยกเล่ม ระหว่าง พ.ศ. 2475-2477 และประกอบด้วยบทสนทนาธรรมในลักษณะปุจฉา-วิสัชนา และการอธิบายธรรมะโดยอ้างอิงพระคัมภีร์เถรวาทต่างๆ อย่างแม่นยำและรอบคอบมาก [1]

Advertisement
คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร
คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร ผู้บอกนัยยะสำคัญของ การสวดมนต์ (ที่ถูกต้อง)

ในบทสนทนาธรรมเหล่านั้นอุดมไปด้วยศัพท์แสง “โลกุตรธรรม” อาทิ สังโยชน์ 10 จรณะ 15 พละ 10 อินทรีย์ 5 วิญญาณ 6 ฯลฯ เหล่านี้ล้วนถูกหยิบยกอธิบายประกอบอย่างพิสดาร คุณหญิงใหญ่มิได้เผยชื่อตัวเองในฐานะผู้ประพันธ์ในต้นฉบับเหล่านั้น ยังผลให้คงความไร้ชื่อผู้แต่งตลอดเวลาที่ถูกผลิตซ้ำ

กระทั่งในระยะใกล้ 20-30 ปีที่ผ่านมา เริ่มปรากฏการตีพิมพ์หนังสือชุดนี้ในภาพปกของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เหตุจูงใจสำคัญน่าจะเพราะต้นฉบับพิมพ์ไม่ปรากฏผู้แต่ง ทั้งตัวบทมีความลึกซึ้งสะท้อนความเข้าใจธรรมะทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ [2] ยังให้มีความเชื่อว่าหลวงปู่มั่นเป็นผู้แต่ง 5 เล่มนั้น [3]

กรรมวิธีในการผลิตงานของคุณหญิงใหญ่มีความน่าสนใจในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสำคัญของการท่องจำและ “การสวดมนต์” (ที่ถูกวิธี) ดังจะแสดงให้เห็นต่อไปนี้ [4]

ทั้งๆ ที่ 5 บทนั้นอ้างถึงพระบาลีบ่อยมาก (และให้การแปลเป็นภาษาไทยด้วย) จากการสัมภาษณ์ คุณประสพ วิเศษศิริ [5] บุตรบุญธรรมของคุณหญิงใหญ่และผู้ใกล้ชิดท่าน กลับพบว่าคุณหญิงใหญ่ไม่ได้ศึกษาภาษาบาลีอย่างเป็นระบบ แต่สามารถจำและสาธยายได้แม่นยำและมากมาย ความจดจำชั้นเลิศนี้ก็ได้รับการยืนยันจากการบันทึกของพระเทพสุเมธี (หยวก จตฺตมโล, พ.ศ. 2457-2545) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร จังหวัดราชบุรี ผู้เคยพบท่านคุณหญิงใหญ่ที่วัดธรรมิการามวรวิหาร ว่า คุณหญิงใหญ่ ได้ทรงจำหลักธรรมได้มากแม้คาถาในพระธรรมบททั้งแปดภาคท่องจำได้ตั้งแต่อายุยังอยู่วัยรุ่น และอีกตอนหนึ่งว่า ท่านมีความจดจำอย่างเยี่ยมสามารถรื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ ที่สนทนาโต้ตอบกันได้อย่างละเอียด[6]

คุณหญิงใหญ่ได้รับการศึกษาแต่เด็กจากการจ้างครูมาสอนที่บ้าน ทว่าทั้งๆ ที่คุณหญิงใหญ่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ [7] ความรู้เกี่ยวกับพระธรรมส่วนใหญ่กลับดูเหมือนว่าเกิดจากการฟังและสนทนาธรรมะ คุณหญิงใหญ่ฟังและสนทนาธรรมะกับสมเด็จฯ ที่กุฏิของท่านหลังโบสถ์ที่วัดเทพศิรินทราวาสแทบทุกวันเป็นเวลาหลายปี หลังเพล “สมเด็จฯ โดยมากเรียกเณรมานั่งเป็นบุคคลที่สาม [เพื่อไม่ให้มีปัญหาทางพระวินัยของพระ] หากเณรยังมาไม่ถึง สมเด็จฯ ท่านจะยืนบังแอบที่เสา ไม่ให้เห็น ท่านเคร่งในพระวินัยมาก[8]

คุณหญิงใหญ่ท่านชมชอบที่จะให้เด็กรับใช้อ่านหนังสือธรรมะให้ท่านฟังขณะพักผ่อน จากความรำลึกของคุณประสพท่านไม่เคยเห็นคุณหญิงใหญ่อ่านหนังสือ แต่ภายหลังการอนิจกรรมของท่าน กลับพบหนังสือท่านอยู่หลายหีบ

ฉะนั้นมุขปาฐะและความทรงจำมีความสำคัญมากในการศึกษาธรรมะของท่าน มิเพียงวิธีการรับรู้ แต่ยังส่งต่อไปยังกระบวนการถ่ายทอดความเข้าใจผ่านบทประพันธ์ โดยให้ คุณผึ่ง ชื่นจิตต์ ซึ่งเป็นคนรับใช้ท่าน จดตามที่คุณหญิงใหญ่บอก ครั้งละราว 1 ชั่วโมง

เมื่อพิจารณาความลึกซึ้งและซับซ้อนของเนื้อหา ถือว่าวิธีการผลิตบทความลักษณะนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากทีเดียว อย่างไรก็ตาม คุณหญิงใหญ่เน้นว่า นักศึกษาธรรมะที่ต้องการปฏิบัติตามหลักพุทธ ลำพังการจดจำข้อมูลได้มากยังไม่เพียงพอ ตามที่ท่านอธิบายไว้ในหนังสือ “ปฏิปัตติวิภาค ว่าด้วย คำถามคำตอบธรรมปฏิบัติ” พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2475 ว่า

“ถ. ถามว่า ข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอยู่ คือเป็นผู้มีศีล มีธรรม และรู้เรื่องราวเข้าใจในคำสอนทั้งหลาย แต่ทำไม จึงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมไม่ได้

ต. ตอบว่า ท่านรู้แต่ชั้นสัญญา ไม่ได้รู้เห็นในชั้นปัญญา แต่สำคัญตนว่ารู้แล้ว เพราะนึกถึงธรรมเหล่าใดที่ได้จำทรงไว้ ก็ได้ความแจ่มแจ้งในชั้นสัญญา ไม่ใช่รู้เห็นตามความเป็นจริงซึ่งเป็นชั้นปัญญา เหมือนอย่างพระอริยสาวกที่ท่านได้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์หรืออริยสัจจ์ และได้ทำกิจตามหน้าที่ของอริยสัจจ์ ทั้ง 4 ด้วย จึงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง 8 ได้

ถ. ถามว่า ไตรลักษณ์และอริยสัจจ์นั้นข้าพเจ้าเข้าใจดี และอธิบายให้คนอื่นฟังอีกก็ได้ ทำไมจึงว่าข้าพเจ้าไม่รู้ หรือจะให้ข้าพเจ้าเทศน์ไตรลักษณ์และอริยสัจจ์ 4 ให้ท่านฟังสักกัณฑ์ใหญ่ก็ได้

ต. หัวเราะแล้วตอบว่า ข้าพเจ้าก็พูดถึงชั้นปัญญาของพระอริยสาวก ท่านก็พูดแต่ชั้นสัญญาอีกร่ำไป ท่านจงใคร่ครวญพิจารณาดูเองเถิด ถ้าความรู้ความเห็นของท่าน ไม่ใช่ชั้นสัญญา เป็นชั้นปัญญาแล้ว ก็คงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง 8 ได้ เหมือนพระอริยสาวก ที่ไหนจะเป็นปุถุชน

ถ. พูดว่า ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ความรู้ชะนิดไหนเป็นชั้นปัญญา เพราะข้าพเจ้านึกถึงธรรมทั้งหลายที่จำทรงไว้นั้น ก็ได้ความในคำสอนทั้งหลายชัดเจนแจ่มแจ้ง จึงสำคัญว่าเป็นชั้นปัญญา

ต. พูดว่า ความจำทรงธรรมทั้งหลายไว้ได้มาก นี่เรียกว่าชั้นปริยัติ และนำคำสอนมาประพฤติปฏิบัติเจริญจรณะ 15 จนแก่กล้าบริบูรณ์ขึ้นแล้ว นี่เรียกว่าชั้นปฏิบัติ เมื่อวิชชาและวิมุตติเกิดขึ้น นี่เรียกว่า ชั้นปฏิเวธ” [9]

ฉะนั้น การท่องจำจำเป็นต้องทำโดยถูกวิธี ก็คือ การท่องจำต้องกลายเป็นองค์ประกอบในการปฏิบัติธรรม ดังคุณหญิงใหญ่อธิบายไว้ว่า “เวลาไหว้พระกราบพระ นั่นเป็น สมฺมากมฺมนฺโต ที่พรรณนาพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นั่นเป็น สมฺมาวาจา ควรสงเคราะห์เข้าในกองศีล ส่วนใจที่ระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ควรสงเคราะห์เข้าในกองสมาธิ ส่วนทำวัตต์เช้าที่พรรณนาด้วยเรื่องขันธ์ห้า ว่าเป็น อนิจจํ หรือ อนตฺตา และสวดมนต์พระสูตรอื่นๆ ที่มีไตรลักษณ์อยู่ในสูตรนั้น เวลาที่สวดไปใจก็กำหนดตาม เกิดความเห็นชัดว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นอนัตตา ในเวลาที่สวดอยู่นั้น ควรสงเคราะห์เข้าในกองปัญญา ก็พอครบสิกขา 3 ตามแบบปฏิบัติบูชา” [10]…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ดู สัมภาษณ์ ท่านอาจารย์ แม่ชี วิมุตติยา วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ผู้วิจัยขอขอบพระคุณท่านอย่างสูงในการสนับสนุนงานนี้

[2] ดูรายละเอียดได้ที่ Dr. Martin Seeger, นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ตามรอยเรื่องราวของนักปฏิบัติธรรมหญิงโดดเด่นที่ถูกลืม คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร (2425-87) และปัญหาว่าด้วยความเป็นเจ้าของผลงานประพันธ์เชิงพุทธศาสนาอันสำคัญ,” น. 154-169.; Samanthi Dissanayake. “Buddhist text’s true author identified as Thai woman” BBC Asia, 28 March 2013 (http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-21936656), http://en.wikipedia.org/wiki/Thammanuthamma-patipatti, Martin Seeger [กำลังพิมพ์]. “ ‘The (Dis)appearance of an author’ : some observations and reflections on authorship in modern Thai Buddhism,” in : Journal of International Association of Buddhist Studies. Volume 36, 2013 (2014). Martin Seeger. 2014. “Orality, Memory, and Spiritual Practice : Outstanding Female Thai Buddhists in the Early 20th Century,” in Journal of the Oxford Centre for Buddhist Studies. pp. 153-190.

[3] ดู Dr. Martin Seeger, นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ ‘พุทธมามิกาเอก อุ’ แห่งยุค 2475 คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร,” น. 136-145.

[4] ข้อมูลต่อไปนี้ ส่วนใหญ่ได้มาจากการสัมภาษณ์ คุณประสพ วิเศษศิริ ทีมวิจัยสัมภาษณ์ท่านเชิงลึกหลายครั้ง นอกจากนั้น เราได้อาศัยข้อมูลที่ได้จากหนังสือประวัติวัดธรรมิการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เรียบเรียง โดย สมพงษ์ สุทินศักดิ์ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการสมโภชวัดธรรมิการามวรวิหารครบ 72 ปี แห่งการก่อตั้งวัด และครบ 34 ปี นับแต่สถาปนาเป็นพระอารามหลวง วันที่ 26 เมษายน-3 พฤษภาคม พ.ศ. 2537).

[5] ทีมวิจัยได้สัมภาษณ์คุณประสพหลายครั้งทางโทรศัพท์ (จากประเทศอังกฤษ) และพบปะโดยตรงในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557.

[6] คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์. 2542. พระราชเมธาภรณ์คุณานุสรณ์และประวัติวัดธรรมิการามวรวิหาร คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ พระราชเมธาภรณ์ (จรัส สุมงฺคลเถร). น. 153-154.

[7] คุณประสพเล่าให้เราฟังว่า “ถึงจะเขียนได้ แต่คุณหญิงใหญ่เขียนไม่ค่อยเก่ง”

[8] สัมภาษณ์วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557.

[9] ปฏิปัตติวิภาค คำถามคำตอบธรรมปฏิบัติ (พิมพ์ พ.ศ. 2475, พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์, ท่าพระจันทร์ พระนคร), น. 6-8.

[10] ปฏิปัตตินิเทศ ว่าด้วยความปฏิปัตติทางพระพุทธศาสนา (พิมพ์ พ.ศ. 2475, พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์, ท่าพระจันทร์ พระนคร), น. 15-16. เป็นการเน้นของทีมวิจัย


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘สัมมาจาริณี’ ของวัดเทพศิรินทราวาส
สมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) : ความสำคัญของมุขปาฐะและความทรงจำในการศึกษาธรรมะ” เขียนโดย Dr. Martin Seeger University of Leeds, UK และ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558

บทความนี้ต่อเนื่องจากบทความ 2 ชิ้น เรื่องชีวประวัติ ความเป็นผู้ประพันธ์ของผลงานประพันธ์เชิงพุทธศาสนาอันสำคัญ และความเป็นนักปฏิบัติธรรมของคุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร ที่ตีพิมพ์มาแล้วในศิลปวัฒนธรรม ก่อนหน้านี้

(Dr. Martin Seeger, นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ตามรอยเรื่องราวของนักปฏิบัติธรรมหญิงโดดเด่นที่ถูกลืม คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร (2425-87) และปัญหาว่าด้วยความเป็นเจ้าของผลงานประพันธ์เชิงพุทธศาสนาอันสำคัญ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2556), น. 154-169.

และ Dr. Martin Seeger, นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ ‘พุทธมามิกาเอก อุ’ แห่งยุค 2475 คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2556), น. 136-145.)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2564