ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
ในขณะที่ผมกำลังจะอัดเพลงอย่างจริงจังนั้น ผมมักนึกถึงใบหน้าของครูเอื้อ ครูวินัยซึ่งถือเป็นครูต้นแบบ แล้วก็นึกถึงคำคำหนึ่งที่พ่อเพลงแม่เพลงร้องคือ
“ลูกจะไหว้ครูผีเจียวหนอครูคน ลูกจะขอไหว้ปนกันไป ให้มานั่งในคอต่อปัญญา ให้จังหวะไวว่าว่องไว…..”
หมายความว่าขอให้ครูโปรดเข้ามาอยู่ในตัว ในลำคอเมื่อจะขับเพลงออกไป..ฯลฯ
จงเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นขวัญกำลังใจ และเป็นสติให้ศิษย์ร้องเพลงได้ตลอดปลอดโปร่งเถิด อย่าได้ติดขัดเลย แต่จะร้องดีหรือไม่เพียงใดที่สุดก็แล้วแต่ศักยภาพของเรา
คนไทยนับถือครูมากเพราะถือว่าครูช่วยสอนวิชาความรู้ให้เรา ช่วยย่นเวลาในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ให้ ไม่ต้องเสียเวลาคลำทาง
ว่าที่จริงอะไรๆ ก็เป็นครูเราได้ทั้งสิ้น ธรรมชาติหรือประสบการณ์ของคนนั้นคนนี้ก็เป็นครูของเราได้ แต่ไม่จำเป็นต้องขยายความ
ด้วยความระลึกถึงบุญคุณของครู และเพื่อแสดงความกตัญญู ไทยจึงมีประเพณีไหว้ครูมาแต่โบราณ
จะไปขอเรียนหนังสือก็มีพานไปไหว้ครู จะเรียนจะเล่นเพลงฉ่อย ดนตรีไทย หนังตะลุง หนังใหญ่ หุ่นกระบอก ต่อยมวย กระบี่กระบอง เรียนวิชาช่าง ก็ต้องมีไหว้ครู
ครูที่ไหว้นั้นมีทั้งครูเป็นๆ ที่นั่งอยู่ตรงหน้า และครูที่จากไปแล้ว เรียกว่าบุรพาจารย์
ตามโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ มีการจัดพิธีไหว้ครูโดยศิษย์เอาพานพุ่มที่ตั้งใจทำอย่างประณีตไปนบนอบครูเป็นสัญลักษณ์
เพิ่งมาราวปี 2561 นี้กระมังที่เด็กนักเรียนแห่งหนึ่งนึกสนุกจัดพานเป็นรูปอะไรบางอย่าง จำไม่ได้ แต่คนทั่วไปเห็นแล้วชมว่าตลก น่ารักดี
มาปีนี้ เด็กสนุกใหญ่ คือเอารูปนักการเมืองบ้าง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบ้างมาใส่พานอย่างแห่พาเหรด เรื่องก็เลยเริ่มยุ่ง เพราะสามารถเอาไปตีความหรือเป็นเชื้อขยายความคิดทางการเมืองของแต่ละฝ่ายได้
ทีนี้การเมืองก็เลยไปตั้งอยู่บนพาน คนก็เริ่มทะเลาะกันอีกประเด็น บ้านเมืองเสียเวลาพัฒนาไปอีกจังหวะ
ราว 20 กว่าปีก่อนคือยุค 2530…. สมัย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กำลังดัง มีงานเขียนลงในมติชนเป็นประจำ อ.นิธิเคยเขียนเรื่องไหว้ครูไว้ทีหนึ่ง
ปกติผมไม่ค่อยได้อ่านงานของ อ.นิธิ เพราะเป็นคนสมาธิสั้น ไม่มีเวลาอ่านบทความยาวๆ อ่านอะไรที่เขียนซับๆ ซ้อนๆ แล้วจับใจความไม่ได้
ท่านที่อ่านงานของ อ.นิธิได้ผมถือว่าเก่งมาก ไม่ได้แกล้งชม
วันหนึ่ง อ.นิธิ เขียนเรื่องไหว้ครู ผมลองอ่านแล้วรู้สึกว่าเข้าท่า หากผมจำไม่ผิด และตีความไม่ผิด อ.นิธิน่าจะบอกในทำนองว่า
เด็กเอาพานมาส่งให้ครูซึ่งเป็นตัวแทนบุรพาจารย์แล้ว ทั้งครูอ่อนครูแก่และเด็กควรหันหน้าไปทางเดียวกัน คือมุ่งไหว้บุรพาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้วโน้น
อ่านบทความแล้วผมก็พยักหน้าในใจว่า ใช่ ไม่ประดักประเดิดดี เดี๋ยวนี้เราเน้นไหว้แต่ครูเป็น ไม่ได้ไหว้ครูตาย
ความจริงพิธีไหว้ครูดนตรีไทยดูเหมือนจะทำเช่นนั้นกันอยู่ ดังเขาเอาหัวพ่อแก่ หัวโขน เครื่องดนตรี รูปถ่ายครูเก่าๆ มาจัดตั้งบนแท่นบูชา แล้วทุกคนไหว้ร่วมกัน แต่เราไม่สังเกต
พิธีไหว้ครูต้องทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนควรทำสมาธิ ตั้งสติให้ดี แก่นสำคัญของพิธีนี้คือการร่วมกันน้อมรำลึกถึงบุรพาจารย์ การพูดถึงครูเก่าที่มีจิตวิญญาณครู จะได้เป็นขวัญกำลังใจแก่ครูทุกคน
การเล่นสนุกบนพานไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่น่าจะถูกกาละเทศะ นักข่าวไปให้ความสำคัญมากๆ จะเขว-เก-เข-เป๋-เห-เถ-เฉ-เร-เอาได้ง่ายๆ